๖๐ ปี โรงเรียนสัมมาชีวศิลป


สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระสังฆราช เป็นองค์การการกุศล จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๒
ตามตราสารมูลนิธิ ข้อ ๗ ให้คณะกรรมการมูลนิธิทูลอาราธนาสมเด็จพระสังราช องค์ปัจจุบัน และทุก ๆ องค์ในอนาคต ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ของมูลนิธินี้ ........
ต่อมาคณะกรรมการก็ได้มีหนังสือของมูลนิธิกราบทูลอาราธนาสัมเด็จพระสังราชเจ้า ทุกพระองค์ ซึ่งก็ได้รับเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิ มาจนถึงปัจจุบัน
จึงนับได้ว่าสัมเด็จพระสังราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์พระองค์แรก ของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ตามหนังสื่อวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ ๕
/๒๔๙๒

ที่ ๕/๒๔๙๒                                                                                                          วัดบวรนิเวศวิหาร
                                                                                                      ๒๕ สิงหาคม  ๒๔๙๒
ถึง  คณะกรรมการดำเนินงาน “ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ”
หนังสือของท่านลงวันที่ ๒๐ กรกฏาคม ๒๔๙๒ แสดงความประสงค์ขอให้เป็นผู้อุปถัมภ์ “ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ” นั้น ได้รับแลทราบความตลอดแล้ว
                สัมมาชีวศิลปมูลนิธินี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อบำรุงการศึกษาอบรมศีลธรรมให้บุคคลได้ประกอบสัมมาอาชีวะ ถูกต้องตามหลักแห่งพระพุทธศาสนา เป็นอนวัชชกิจการงานที่ไม่มีโทษ เป็นการสงเคราะห์กันในทางที่ชอบ เป็นบุญกุศลตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนา จึงขออนุโมทนา และอุปถัมภ์ตามสมควร

                                                                                                     ขออำนวยพร
                                                                                                  พระวชิรญาณวงศ์ 
                                                                                               ( สมเด็จพระสังฆราช )  

ในปี 2532 สัมมาชีวศิลปมลนิธิได้อาธนาสัมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราชต่อมาก็ได้รับเป็นองค์อุปถัมภ์

จากแนวคิดของคุณหลวงปริญญาฯ ช่วงปี พ.ศ.๒๔๗๐ มองเห็นหลักสูตรการศึกษาของประเทศสยาม  วางแนวเพื่อจะสร้างคนเป็นข้าราชการเท่านั้น  ไม่ได้ต้องการสร้างคนให้ประกอบอาชีพด้วยตนเอง  ประชาชนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการศึกษา ให้รู้จักสร้างเนื้อสร้างตัวด้วยตนเอง 
คุณหลวงปริญญาฯ ได้พยายามเขียนบทความในเรื่องการจัดการศึกษาให้กับประชาชน จะให้ไปลงหนังสือบ้าง หรือเสนอรัฐบาลบ้าง  แต่ก็ไม่ได้รับ ความสนใจจากผู้มีอำนาจมาตลอด จึงทำให้ท่านได้ไปเสนอความคิดต่อกลุ่มผู้ก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ต่างให้การสนับสนุนแนวทางจัดการศึกษาให้กับเยาวชนเสียใหม่  โดยเฉพาะพระสงครามภักดี ท่านเสนอว่า “ เราไม่ควรคิดพึ่งทางราชการอีกเลย” และสนับสนุนความคิดของคุณหลวงปริญญาฯ ที่จะตั้งโรงเรียนขึ้นมาเอง แต่เป็นองค์การกุศล มีจุดประสงค์ การศึกษาต้องมีพระพุทธศาสนาเป็นแกน และองค์การกุศลที่ตั้งขึ้นก็ต้องเป็นรูปมูลนิธิเท่านั้น ส่วนมูลนิธินั้นให้ชื่อว่า “ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ” โดยนำเอาคำว่า “ สัมมา ” มาสนธิกับคำว่า “ อาชีวะ ” และตามด้วยคำว่า “ ศิลป ”  ส่วนการจัดการศึกษา ตั้งปรัชญาโรงเรียนว่า “ ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ ”  สามประการนี้จะขาดอย่างไรอย่างหนึ่งเสียมิได้ ผู้ที่ได้รับการศึกษาต้องเป็นผู้มีศีลธรรม มีแต่ปัญญาความรู้ถ้าเป็นผู้ขาดศีลธรรมก็ไม่ดี เพราะคนฉลาดมักเอาคนที่โง่กว่าเป็นเหยื่อเพื่อประโยชน์ตน เมื่อมีศีลธรรมและมีปัญญา แล้วละเลยเกียจคร้านไม่นำไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ หรือไม่สามราถนำไปประกอบอาชีพอย่างหนึ่งอย่างใดได้ก็ไม่ดี    
การจัดตั้งโรงเรียนสัมมาชีวศิลป บนที่ดินในปัจจุบัน ก่อนนี้เป็นท้องร่องสวนมีเรือนเขียวอยู่หลังเดียว ทางที่จะเข้าไปนั้นเป็นถนนโรยกรวดกับอิฐหักยังไม่มีถนนซิเมนต์  ต้องเช่าเดือนละ ๑,๓๐๐ บาท เริ่มเปิดชั้นอนุบาลโดยมีนักเรียนหกคน มีครูเพียงสองคน คือ ครูสีสลับเป็นครูใหญ่ กับครูพูนสุขเป็นผู้ช่วย ด้วยความอุสาห์และเสียสละของคุณหลวงปริญญาฯ ดังคำที่ท่านได้กล่าวไว้ว่า” ทำด้วยศรัทธา มิได้มีสินจ้างรางวัลอะไร สำหรับผู้ที่ทำด้วยศัทธานั้นต้องทำด้วยอุดมคติของตนเอง ” จากบทความของคุณ สด กูรมะโรหิต เขียนไว้ในคำนำของหนังสือ ประวัติการก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ ว่า" โรงเรียนสัมมาชีวศิลป ของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อกุศลผลบุญดังกล่าวเท่าที่ทราบ ผู้ริเริ่มก่อตั้งได้ฟันฝ่าอุปสรรคเรื่อยมาเป็นเวลาหลายสิบปี นับตั้งแต่เริ่มมีความคิดเพื่ออุดมการณ์อันนี้ และในบัดนี้ก็ได้เริ่มพบความสำเร็จอย่างเป็นปึกแผ่นนับเป็นระยะแรกแล้วกล่าวคือได้ทำการสร้างอาคารเรียนถาวร ในที่ดินของมูลนิธิเป็นหลังแรกได้สำเร็จอย่างเรียบร้อย ( จากผลงานการบริหารของ คุณหลวงปริญญาและคณะกรรมการสัมมาชีวศิลป ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใจบุญช่วยกันบริจาคทรัพย์จนสามารถซื้อที่ดินที่เคยเช่ามาเป็นเจ้าของที่ดิน ๓๒๔ ตารางวา ก็ตกเป็นกรรมสิทธิของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯโดยสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ )

ช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๐ จากคำปราศรัยของคุณหลวงปริญญาฯ กล่าวแสดงความปลื้มอกปลื้มใจที่ได้มีผู้ช่วยร่วมการกุศลจนมูลนิธิฯ สามารถ ซื้อที่ดินได้และปลูกเรือนไม้ได้อีกหนึ่งหลัง และกล่าวต่อไปว่าความใฝ่ฝันของมูลนิธิ ในขั้นต่อไปควรรื้อเรือนเขียวซึ่งทรุดโทรมมากแล้วปลูกเป็นตึกให้ยาวไปตลอดเนื้อที่ ต่อมาในเดือนกันยายน คุณพระบำราศนราดูรท่านบอกว่าได้เอาคำปรารภของ คุณหลวงปริญญาฯ ไปพูดกับ ม.ล.ปิ่น มาลากุล รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ท่านก็รับจะช่วยเหลือ ขอให้มูลนิธิ ส่งเรื่องไปให้ด่วน ตอนนั้นเราไม่สามารถทำแผนผังอะไรได้ แต่ด้วยการสนับสนุนจากสถาปนิกและข้าราชการกองโรงเรียนราษฎร์ เขาได้ทำเรื่องของบประมาณไปให้แล้ว ผลที่สุดได้รับงบประมาณช่วยการก่อสร้างจากกระทรวงศึกษาธิการ อนุมัติห้าแสนบาท สำหรับก่อสร้างอาคารเรียนตึก ๔ ชั้น และให้บริษัทสง่า คำนวน ราคาค่าก่อสร้างไว้เป็นเงินหนึ่งล้านสามแสนบาท ซึ่งยังไม่รวมการเดินสายไฟฟ้า และเมื่อกรมวิสามัญเรียกประมูล ได้บริษัท เอ.อี.ซี.ซี. โดยคุณวรชาติ สุวรรณโชติ เป็นผู้รับเหมาที่มีจิตเป็นกุศล จึงได้ราคาประมูลที่ถูกมากที่เดียว คือราคาเพียงไม่ถึงหนึ่งล้านบาท โดยไม่ติดตั้งไฟฟ้า กรมวิสามัญแจ้งว่าระเบียบของกระทรวงฯ เมื่อกระทรวงได้ช่วยเงินแล้วสิ่งปลูกสร้างก็เรียกว่า วิทยาคารสงเคราะห์ และต้องตกเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือนั้น ต้องเช่าอาคารที่กระทรวงฯ ช่วย แต่เนื่องจากเป็นมูลนิธิฯซึ่งออกเงินก่อสร้างเกินกว่างบประมาณ เป็นอันว่าไม่เ็ก็บค่าเช่าและเริ่มเปิดทำการสอนในวิทยาคาร ๔ ชั้น หลังใหม่ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๒


นับจากวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๔  สมเด็จพระสังราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ได้เสด็จทรงเป็นประธานพิธีเปิดป้ายโรงเรียนสัมมาชีวศิลป กรุงเทพฯ  ยังความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม เพื่อเป็นสรรพสิริสวัสดิ์พัฒนมงคลแด่คณะผู้บริหาร,ครูและนักเรียนสัมมาชีวศิลป มากาลนาน  และ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ นี้ จะ ครบรอบ ๖๐ ปี ของโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ฯ   

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงขอนำพระประวัติ กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังราชเจ้า องค์ที่๑๓ มาลงเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์

สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๓  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ ๑๔  พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๑๑  พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๕๐๑  พระชนมายุ ๘๖  พรรษา
พระประวัติ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระนามเดิมว่า หม่อมราชวงศ์ชื่น นพวงศ์ เป็นโอรสในหม่อมเจ้าถนอม นพวงศ์ และหม่อมเอม (สกุลเดิม คชเสนี) ประสูติเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๒  พฤศจิกายน พ.ศ.  ๒๔๑๕  ภายในวังของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านพวงศ์ กรมหมื่นมเหศวรศิววิลาส (ต้นราชสกุลนพวงศ์) ส่วนหม่อมเอมพระชนนีนั้น เป็นธิดาพระยาดำรงค์ราชพลขันธ์ (จุ้ย) ซึ่งเป็นบุตรเจ้าพระยามหาโยธา (ทอเรียะ) บุตร เจ้าพระยามหาโยธานราธิบดีศรีพิชัยณรงค์(พญาเจ่ง) ต้นสกุลคชเสนี พระองค์ประสูตรในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมา ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร โดยทำหน้าที่เป็น คะเดท ทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภ มีหน้าที่ตามเสด็จรักษาพระองค์
พระองค์บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมกับ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงเข้าสอบไล่ครั้งแรกเมื่อ ปี พ.ศ. 2433 ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สอบไล่ได้เปรียญ ๕  ประโยค ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ทรงอุปสมบทที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕  สอบได้เปรียญ  ๗  ประโยค. เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗  ได้รับโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระสุคุณคณาภรณ์
พระองค์ได้มีส่วนร่วมกับสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส มาตั้งแต่ต้น คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์บำรุงการศึกษามณฑลหัวเมือง ทรงอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ให้ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา มีการจัดพิมพ์แบบเรียนต่าง ๆ พระราชทานแก่พระภิกษุสงฆ์ ไปไว้ใช้ฝึกสอน ให้ยกโรงเรียนพุทธศาสนิกชนในหัวเมืองทั้งปวง มารวมขึ้นอยู่ในสมเด็จพระมหาสมณเจ้า เพื่อจะได้เป็นหมวดเดียวกัน พระองค์ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์พระสุคุณคุณาภรณ์ ได้เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลจันทบุรี ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๕  ได้มีการออกพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑  อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดการพระศาสนา และการศึกษาในหัวเมือง พระองค์ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะมณฑลจันทบุรี

  • พ.ศ. ๒๔๔๖  ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระญาณวราภรณ์
  • พ.ศ.  ๒๔๕๕  ได้เลื่อนสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมในพระราชทินนามเดิม
  • พ.ศ. ๒๔๖๔  ได้รับสถาปนาสมณศักดิ์เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมพิเศษในพระราชทินนามเดิม
  • พ.ศ.  ๒๔๖๗  ได้เป็นเจ้าคณะมณฑลอยุธยา
  • พ.ศ.  ๒๔๗๑  โปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะในพระราชทินนามพิเศษว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์
  • พ.ศ.  ๒๔๗๖  ทรงเป็นประธานมหาเถรสมาคม บัญชาการคณะสงฆ์แทนองค์สมเด็จพระสังฆราชเจ้า
  • พ.ศ. ๒๔๘๕  ทรงเป็นประธานคณะวินัยธร ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔  

พระองค์ทรงเป็นแม่กองสอบไล่พระปริยัติธรรมหลายครั้ง ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองต่างจังหวัด เมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ชราและอาพาธ ก็ได้ทรงมอบหน้าที่เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติ ให้ทรงบัญชาการแทน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗  และเมื่อสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.  ๒๔๘๐  พระองค์ก็ได้ทรงเป็น เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติสืบต่อมา และให้ทรงจัดการปกครองคณะธรรมยุติ ที่สำคัญหลายประการ
ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสฺสเทโว) พระองค์ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เมื่อวันที่ ๓๑  มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๘   ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ต่อมา เมื่อวันที่  ๒๐   ธันวาคม พ.ศ.  ๒๔๙๙  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม พร้อมเฉลิมพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
"สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วิสุทธิสงฆคุณาลังการอริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปรินายก ตรีปิฎกกลากุสโลภาส ภูมิพลมหาราชหิโตปัธยาจารย์ สุจิตตาภิธานสังฆวิสุต มหามกุฎมหาราชประนัปดา นพวงศราชกุลาภิวรรธน์ สุขุมอรรถธรรมวิจารปรีชา กาพรจนาฉันทพากยปฏิภาน ปาวจนุตตมญาณวราภรณ์ สุนทรวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลธันธสมาจารวัตร พุทธศาสนิกบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภานพัฒนคุณ อดุลยคัมภีรญาณบัณฑิต สรรพคณิสสรมหาปธานาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร"
เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้าแล้ว ได้ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยจัดการปกครองคณะสงฆ์ทั้งสองนิกายคือ มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๔  ดังนี้
๑.  การปกครองส่วนกลาง คณะสังฆมนตรีคงบริหารรวมกัน แต่การปกครองบังคับบัญชาให้เป็นไปตามนิกาย

  • การปกครองส่วนภูมิภาคให้แยกตามนิกาย

พระองค์ทรงเป็นพระราชอุปัชฌาจารย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จออกทรงผนวช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ และในงานฉลองพุทธศตวรรษในประเทศไทย รัฐบาลสหภาพพม่าได้ถวายสมณศักดิ์สูงสุดของพม่า คือ อภิธชมหารัฏฐคุรุ แด่พระองค์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐
พระนิพนธ์
ผลงานพระนิพนธ์มีอยู่เป็นจำนวนมาก พอประมวลได้ดังนี้
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้ชำระพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พระองค์ได้ทรงชำระ ๒  เล่ม คือ เล่ม  ๒๕  และเล่ม  ๒๖
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗  ทรงชำระอรรถกถาชาดก ภาคที่ ๓  จากจำนวน ๑๐  ภาค ที่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้ชำระพิมพ์
หนังสือที่ทรงรจนา ได้แก่ ศาสนาโดยประสงค์ พระโอวาทธรรมบรรยาย ตายเกิด ตายสูญ ทศพิธราชธรรม พร้อมทั้งเทวตาทิสนอนุโมทนากถา สังคหวัตถุ จักรวรรดิวัตร และขัตติยพละ พุทธศาสนคติ บทความต่าง ๆ รวมเล่ม ชื่อว่า ความรู้เรื่องพระพุทธศาสนาตั้งแต่เบื้องต้น ทีฆาวุคำฉันท์ และพระธรรมเทศนาที่สำคัญได้แก่ ธรรมเทศนาทศพิธราชธรรม ในการพระราชพิธีธรรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช พระธรรมเทศนาวชิรญาณวงศ์เทศนา ๕๕  กัณฑ์


อ้างอิง
หนังสือประวัติการก่อตั้งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ สด กูรมะโรหิต ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๑๒
เว็บไซต์  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี  
http://th.wikipedia.org/wiki