เสวนา "จังหวะก้าวโรงเรียนวิถีพุทธ"
เพื่อพลิกฟื้นสังคมไทยให้เจริญอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ทางโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประสานงานร่วมกับ โรงเรียนทอสี ได้จัดให้มีการพูดคุยเสวนาถึงจังหวะก้าวโรงเรียนวิถีพุทธ ในวงสนทนาเล็ก ๆ โดยได้รับความเมตตาอย่างสูงยิ่งจาก พระอาจารย์ชยสาโร ภิกฺขุ เป็นองค์ประธานนำการเสวนา และมีตัวแทนโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบและผู้ใหญ่หลายท่านให้ความสนใจมาร่วมวงเสวนาในครั้งนี้ด้วย อาทิ รศ.บุญนำ ทานสัมฤทธิ์ อดีตที่ปรึกษา รมช. กระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงก่อตั้งโครงการฯ ดร.วันทยา วงศ์ศิลปภิรมย์ นางลัดดาวัลย์ แก้วสว่าง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองบัว ทีมผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลหนูน้อย และโรงเรียนทอสี
ในวงการเสวนา ดร.บรรเจอดพร รัตนพันธุ์ ผู้ประสานงานโครงการฯ ได้สรุปแสดงความคืบหน้าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธว่ามียอดโรงเรียนที่สมัครในปัจจุบันที่ประมาณ ๑๔,๐๐๐ โรงเรียน คิดเป็นประมาณ ๕๐ % ของจำนวนโรงเรียนทั้งหมด และที่ผ่านมาทางกระทรวงได้จัดให้มี การประชุมและนิทรรศการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนแกนนำ-นำร่องโรงเรียนวิถีพุทธระหว่างเขตพื้นที่การศึกษาในภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๖ พื้นที่ ซึ่งก็ได้ดำเนินการครบทั้ง ๖ ภูมิภาค ๑๗๕ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศแล้ว โดยได้ร้องขอให้พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส วิทยากรและที่ปรึกษาโครงการฯ ที่ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประชุมดังกล่าวเกือบทุกครั้ง แสดงความคิดเห็นที่สะท้อนถึงพัฒนาการโรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการ ซึ่งท่านได้แสดงความพึงพอใจว่าโรงเรียนแกนนำ-นำร่องต่าง ๆ ที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นตัวแทนของเขต ที่มานำเสนอ สามารถดำเนินการได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง มีพัฒนาการในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เดิมที่แก้ไขได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพฤติกรรมของเด็กนักเรียน และครู แต่เมื่อโรงเรียนสมัครเข้าโครงการฯ และได้ดำเนินการไปตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ ก็สามารถทำให้โรงเรียนเกิดการเรียนรู้ปรับประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพการณ์ของตน ๆ แล้วทำให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้ลุล่วงไปได้ พฤติกรรมทั้งของครูและนักเรียนมีการปรับปรุงพัฒนาดีขึ้น รวมทั้งเรื่องการเรียนก็ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ท่านยังได้ยกตัวอย่างโรงเรียนที่ดำเนินการได้ผลดีจนโดดเด่นมีเอกลักษณ์เป็นที่น่าสนใจ ซึ่งมักจะมีพัฒนาการกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีพุทธออกสู่ครอบครัวและชุมชนได้อย่างดี ซึ่งท่านได้ร้องขอให้ทางกระทรวงให้ความสำคัญกับโรงเรียนที่มีพัฒนาการไปถึงครอบครัวและชุมชนเป็นพิเศษ
ท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า มากกว่าตัวรายละเอียดของกิจกรรมที่ปฏิบัติกันของที่แต่ละโรงเรียนนำเสนอนั้น ท่านได้สัมผัสถึง การแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ในการที่พวกเขาแก้ปัญหาได้โดยใช้หลักพุทธธรรม พวกเขาจึงรู้สึกภูมิใจในงานที่ทำ ท่านแสดงความเห็นว่าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธประสบความสำเร็จในแง่ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของงาน รักและพร้อมที่จะคิดสร้างสรรค์พัฒนางานของตนเองต่อไปได้อย่างภาคภูมิใจ และมีความสุข แต่อย่างไรก็ตามท่านได้ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแทนโรงเรียนที่มานำเสนอนั้นเป็นเพียง ๑ เปอร์เซนต์ของโรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการทั้งหมด ซึ่งก็คงต้องมาช่วยกันคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไรที่จะส่งต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างมีพัฒนาการในโรงเรียนแกนนำเหล่านี้ออกไปสู่อีก ๙๙ เปอร์เซนต์ที่เหลืออยู่
ภายหลังการนำเสนอความคืบหน้าโครงการฯ ท่านอาจารย์ชยสาโร ได้ให้ข้อคิดต่อการดำเนินการโครงการในระยะต่อไป ว่าควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของครูเป็นหลักใหญ่ ที่ควรจะพัฒนาให้เกิดมีฉันทะ มีสัมมาทิฏฐิ ผู้บริหารและครูควรจะต้องมีการสมาทานศีล ๕ ให้เป็นที่ปรากฏเป็นแบบอย่างอย่างเนืองนิตย์ ในขณะเดียวกัน ทางกระทรวงก็จะต้องดำเนินกิจกรรมที่จะช่วยทำให้ครูรู้สึกว่าตนเองมีเกียรติอันน่าภาคภูมิใจที่อยู่ในโรงเรียนวิถีพุทธ นอกจากนี้ ท่านอาจารย์ยังได้แนะนำให้ทางกระทรวงฯ พัฒนาระบบงานที่ดีขึ้นมาด้วย และควรจะต้องตั้งมาตรฐานโรงเรียนวิถีพุทธ และระยะเวลาที่ให้โรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการพัฒนาให้ได้มาตรฐาน ว่าควรเป็นไปในระยะกี่ปีด้วย นอกจากนี้ท่านอาจารย์ยังได้แนะนำต่อไปว่า ทางกระทรวงฯ ควรจะจัดงานใหญ่สักครั้งหนึ่งที่จะเชิญให้ผู้บริหารและตัวแทนครูโรงเรียนวิถีพุทธมาประชุมพร้อมกันเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา แล้วให้มีการสมาทานศีล ๕ จากสมเด็จพระสังฆราช เป็นต้น โดยใช้พลังจากพิธีกรรมมาสร้างความรู้สึกประทับใจ และอาจจะให้มีการบรรพชาอุปสมบทครูในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ซึ่งอาจจะพัฒนาต่อเป็นวิถีชีวิตร่วมกันของผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธในแต่ละปีต่อไป
นอกจากนั้น ท่านอาจารย์ยังได้แนะนำให้ทางกระทรวงควรให้ความสำคัญกับโครงการโรงเรียนวิถีพุทธมากขึ้น ควรจะมีงบประมาณให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้ทาง ดร.บรรเจอดพร ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ปีนี้โครงการโรงเรียนวิถีพุทธได้รับ งบประมาณเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว รวมเป็นวงเงินประมาณ ๑๔ ล้านบาท ซึ่งท่านอาจารย์ได้ชวนให้ที่ประชุมได้ลองคิดคำนวณเปรียบเทียบกับงบประมาณที่ใช้ตัดถนนในวงเงินดังกล่าว จะได้ระยะทางสักเท่าไร ท่านยังอุปมาให้วงเสวนาคิดตามว่า ถ้าเราจะเชิญผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธทั้ง ๑๔,๐๐๐ โรงเรียนมาเข้าแถวต่อกันไปบนถนน ว่าสิ้นสุดระยะทางเท่าไร ทางรัฐบาลก็น่าจะให้งบประมาณเท่ากับที่ใช้ก่อสร้างถนนในระยะทางที่เท่ากันนั้น ซึ่งถ้าเกิดทำขึ้นมาจริง ๆ ก็น่าจะทำให้คนในสังคมเกิดความสนใจและคิดขึ้นได้ถึงความสำคัญของการพัฒนาคน ที่รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญมากกว่าเมื่อเทียบกับการพัฒนาทางวัตถุ
จากนั้นที่ประชุมได้มีการพูดคุยซักถามกันไปมาในประเด็นสั้น ๆ และได้มีการนำเสนอถึงยุทธศาสตร์การสร้างเครือข่ายโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบวิถีพุทธจากรากหญ้า และดำเนินการต่อเนื่องไปได้อย่างยั่งยืน โดยมีการนำเสนอแนวคิดการสร้างให้เกิดเครือข่ายในสองลักษณะด้วยกัน คือ เครือข่ายในลักษณะตามภูมิภาคที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวิถีพุทธ กับ เครือข่าย ๖ ระนาบ ซ้อนเข้าไป คือ () เครือข่ายศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธ () เครือข่ายครูวิถีพุทธ () เครือข่ายเยาวชนวิถีพุทธ () เครือข่ายครอบครัววิถีพุทธ () เครือข่ายงานวิจัยการศึกษาแนวพุทธ () เครือข่ายพระสงฆ์กับการศึกษา และควรมีช่องทางการสื่อสารในการบริหารจัดการเครือข่ายเหล่านี้อย่างเป็นกิจจลักษณะด้วย นอกจากนี้ ดร.บรรเจอดพร ได้มีการพูดถึงการเตรียมการที่จะจัดให้มีการประชุมสัมมนาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธจาก ๑๗๕ เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ศกนี้ ที่ สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา วัดไร่ขิง ซึ่งก็ต้องขอความเมตตาจากพระอาจารย์ และผู้ที่มาร่วมเสวนาในวันนี้ ให้การสนับสนุนด้วย.

 

ฐิตวํโส ภิกฺขุ [05/03/01 02:22] (210.246.70.132)

 


ความคิดเห็นที่ 1

พระสงฆ์นักพัฒนาภาคอีสาน รวมตัวครั้งประวัติศาสตร์สร้างเครือข่าย ระบุ โรงเรียนวิถีพุทธ เป็นหนึ่งในโครงการที่ต้องสนับสนุนและร่วมดำเนินการ
ในระหว่างวันที่ ๒ - ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดให้มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การปรับเปลี่ยนบทบาทพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคอีสาน ณ วัดป่าธรรมดา จังหวัดนครราชสีมา โดยได้กราบนิมนต์พระสงฆ์ที่ทำงานพัฒนาสังคมมาโดยตลอดตั้งแต่รุ่นที่ทำงานมาตั้งแต่ก่อนช่วงปี พ.. ๒๕๒๖ มาจนถึงพระสงฆ์นักพัฒนารุ่นใหม่ ซึ่งทาง ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ นักวิจัยของสถาบันฯ ได้ติดตามทำวิจัยเชิงลึกมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อสืบค้นหาพระสงฆ์นักพัฒนา จากเริ่มต้น ๑๔๓ รายชื่อ จนขั้นสุดท้ายได้คัดเลือกพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคอีสานที่ตรงกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ได้ประมาณ ๕๖ รายชื่อ จึงได้กราบนิมนต์พระสงฆ์เหล่านี้มาร่วมสัมมนาดังกล่าว
การสัมมนาได้เริ่มขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ โดยมี พระธรรมวรนายก เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีเปิด และบรรยายพิเศษเรื่อง "บทบาทพระสงฆ์กับการพัฒนาสังคม ในยุคปัจจุบัน" และมี พระครูพิพิธธรรมรส กล่าวให้การต้อนรับ ในวันรุ่งขึ้น ได้มีการนำเสนอผลงานการวิจัย ของ ดร.พินิจ ลาภธนานนท์ ในหัวข้อ "การปรับเปลี่ยนบทบาทของพระสงฆ์นักพัฒนา : ภาพสะท้อนจากผลการวิจัย" ในช่วงบ่าย รศ.ดร.สุวัฒนา ธาดานิติ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้บรรยายในหัวข้อ "แนวทางการร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคอีสาน" และได้มีการนิมนต์ พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส วิทยากรและที่ปรึกษาโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ มาอธิบายขยายต่อในส่วนของการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับรากหญ้าในพื้นที่ในลักษณะของการประสานร่วมมือกับระหว่าง บ--ร ตามแนวทางโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ จากนั้นจึงจัดแบ่งให้มีการประชุมกลุ่มย่อย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในงานสังฆพัฒนา ในช่วงเย็น แต่ละกลุ่มได้นำเสนอผลการประชุมกลุ่มย่อย ในช่วงค่ำ มีรายการเวทีเสวนาธรรม ห้วข้อ "แนวทางการประสานการทำงานสังฆพัฒนาแบบบูรณาการ โดย พระครูมหาวาปีคณารักษ์ วัดป่าศรีสุทิพย์ จ.อุดรธานี พระครูสุภาจารวัฒน์ วัดท่าลาด จ.ยโสธร พระอาจารย์ถวิล สุญญธาตุ วัดลาดคำวนาราม จ.อำนาจเจริญ ดำเนินรายการโดย พระครูโพธิวีรคุณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด
ในวันสุดท้าย วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในกิจกรรมสังฆพัฒนา และได้มีการนำเสนอการประชุมกลุ่มย่อย ในช่วงบ่าย ได้กราบนิมนต์พระเถระ ๔ รูป ที่มีผลงานการพัฒนาเป็นที่ปรากฏ ๔ กลุ่มด้วยกัน มาบอกเล่าประวัติศาสตร์การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนา ได้แก่
พระครูศีลวราภรณ์ วัดโนนเมือง บอกเล่าความเป็นมาของกลุ่มกระบองก้อมและกลุ่มพระสังฆพัฒนาโคราช
พระอธิการทับทิม อนาวิโล วัดใหม่ศรีมากทอง บอกเล่าความเป็นมาของกลุ่มสหธรรมิกเพื่อการพัฒนาและเสขิยธรรม
พระสิริพัฒนาภรณ์ วัดเขื่องกลาง บอกเล่าความเป็นมาขององค์กรพระผู้นำแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง
พระครูพิศาลธรรมภาณี วัดป่าดงไร่ บอกเล่าความเป็นมาของกลุ่มเผยแพร่ชีวิตประเสริฐ
จากนั้นในช่วงเย็น พระครูใบฎีกาชฎิล อมรปัญโญ วัดอาศรมธรรมทายาท และพระครูมงคลวรรัตน์ วัดเทพมงคล ได้ประมวลสรุปแนวทางหนุนเสริมเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาในภาคอีสาน ก่อนที่จะปิดท้ายการสัมมนาและมอบวุฒิบัตร โดยพระราชสีมาภรณ์ รองเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา
ในที่ประชุมได้มีการเสนอในหลายประเด็นที่จะก่อให้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาภาคอีสานขึ้นต่อไป สำหรับในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนวิถีพุทธนั้น ที่ประชุมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และระบุให้เป็นหนึ่งโครงการและกิจกรรมที่ต้องให้การสนับสนุนและดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ยังมีความเข้าใจเกี่ยวกับโรงเรียนวิถีพุทธยังไม่เพียงพอ และได้เรียกร้องให้มีการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม หรือให้มีการจัดอบรมและบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องโรงเรียนวิถีพุทธเพิ่มมากขึ้นต่อไป ก่อนที่จะกำหนดลงไปในรายละเอียดว่าจะสนับสนุนและดำเนินงานเรื่องโรงเรียนวิถีพุทธอย่างไรบ้าง

 

 

ฐิตวํโส ภิกฺขุ [05/03/01 02:26] (210.246.70.132) 2416

 

ความคิดเห็นที่ 2

วิถีพุทธ สัมมนาใหญ่ ๑๗๕ ตัวแทนเขตพื้นที่การศึกษา ผนึกกำลังสร้างเครือข่าย ผสาน บ--ร ขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธให้เบ่งบานทั่วประเทศ
สร้างประวัติศาสตร์หน้าการศึกษาอีกครั้ง แบ่งกลุ่มสร้างเครือข่ายตามเขตการปกครองคณะสงฆ์ ๑๘ ภาค
ในระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๘ กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดให้มีการ ประชุมสัมมนาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ณ สถาบันพัฒนาผู้บริหารการศึกษา วัดไร่ขิง จ.นครปฐม เพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจ และหาแนวทางและแผนงานพัฒนา การดำเนินงานโครงการโรงเรียนวิถีพุทธร่วมกัน พิธีเปิดเริ่มต้น เมื่อนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ได้เดินทางมากล่าวเปิดงาน ลำดับต่อจากนั้น พระเดชพระคุณรองสมเด็จฯ พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญา) ได้ให้ความเมตตาอย่างสูงยิ่ง ได้เดินทางมาร่วมพิธีเปิดการสัมมนาและกล่าวแสดงธรรมกถากว่า ๒ ชั่วโมง ยังความปลาบปลื้มปีติให้แก่ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเป็นอย่างมาก และทำให้การเริ่มต้นเปิดงานสัมมนาดังกล่าวสมบูรณ์ และเต็มไปด้วยบรรยากาศอันเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง
การจัดประชุมสัมมนาดังกล่าวได้ออกแบบให้มีการสัมมนากันอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ๕ วัน ๔ คืน โดยมีการผสมผสานทั้งการบริหารจิต เจริญปัญญา ในทุกวันทั้งภาคเช้า และภาคค่ำ สลับด้วยการบรรยายธรรมกถาและองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียนวิถีพุทธจากพระสงฆ์เถระผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิ และพระสงฆ์ระดับปฏิบัติการ จากวิทยากรนักวิชาการและผู้บริหารโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบ-แกนนำ-นำร่อง ที่มีประสบการณ์ตรงในการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ และยังจัดให้มีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่สร้างความสนุกสนานผ่อนคลายแต่ได้สารธรรม มีการศึกษาดูงานนอกสถานที่ มีกิจกรรมกลุ่มย่อย-กลุ่มใหญ่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีการประชุมวางแผนงานในอนาคต และได้เปิดเวทีให้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่รับทราบร่วมกัน ซึ่งก่อให้เกิดการตื่นตัว และผสานกำลังกันเป็นเครือข่ายได้ในระดับหนึ่ง โดย การบริหารจัดการเครือข่ายได้มีการทดลองจัดแบ่งกลุ่มเครือข่ายย่อยในแต่ละภูมิภาค ตามเขตการปกครองคณะสงฆ์ ๑๘ ภาค เพื่อสร้างเงื่อนไขเร่งให้มีการประสานงานและเรียนรู้ร่วมกันระหว่าง บ้าน-วัด-โรงเรียน/ราชการ ได้ก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของวงการศึกษาไทยที่มีการแบ่งกลุ่มสร้างเครือข่ายของหน่วยงานภาคราชการ ตามภาคการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะได้ผลมากน้อยอย่างไร ซึ่งคาดว่า ในระยะ ๑ ปีจากนี้ น่าจะเกิดเครือข่ายในระดับภาคได้สักประมาณ ๕ - ๑๐ ภาค ที่มีความพร้อมก่อน

หลวงพ่อปัญญา ระบุชัด 'รัฐบาลควรทำโรงเรียนวิถีพุทธนานแล้ว' ขอให้ทำให้ดีที่สุด จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง
พระพรหมมังคลาจารย์ หรือที่พวกเรารู้จักคุ้นเคยว่า "หลวงพ่อปัญญา" ได้ให้ความเมตตาแสดงธรรมกถากว่า ๒ ชั่วโมง ในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๕ เขตทั่วประเทศ ตามที่ทราบแล้วนั้น หลวงพ่อได้บอกเล่าให้ผู้ร่วมสัมมนาฟังว่า ตัวหลวงพ่อเองอายุ ๙๔ ปีแล้ว ตั้งแต่บวชมา หลวงพ่อก็ตั้งใจบวชไม่สึก บวชตลอดชีวิต ซึ่งก็มีญาติโยมได้นิมนต์ให้หลวงพ่อมีชีวิตอยู่ต่อไปให้ถึง ๑๐๐ ปี หลวงพ่อได้ทำหน้าที่เป็นนักเผยแผ่ธรรมะ เพื่อให้คนเป็น "ไท" มาตลอดตั้งแต่ อายุ ๒๒ จนปัจจุบันอายุ ๙๔ แล้ว หลวงพ่อได้ทวงถามว่า หลวงพ่อได้เทศน์ผ่านทางวิทยุแห่งประเทศไทยมาตลอดระยะเวลา ๔๓ ปีแล้ว แต่ต้องมาหยุดไป ๔ เดือน มาห้ามไม่ให้หลวงพ่อเทศน์เพราะอะไร? จากนั้น หลวงพ่อได้กล่าวอนุโมทนาต่อรัฐบาลที่ได้ก่อตั้งให้มีโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ โดยย้ำว่า ความจริงรัฐบาลควรทำโรงเรียนวิถีพุทธมาตั้งนานแล้ว เพราะโรงเรียนวิถีพุทธจะช่วยทำให้เด็ก ๆ เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิตั้งแต่ตัวน้อย ๆ
หลวงพ่อได้ย้ำสอนให้เข้าใจถึงพุทธศาสนาที่ถูกต้องว่า เป็นศาสนาที่ไม่มีการบวงสรวงอ้อนวอน ไม่มีคอรัปชั่น เหมือนอย่างในปัจจุบันที่ชาวพุทธไทยเราชอบไปวัดเพื่ออ้อนวอนร้องขอ เรียกว่าเป็นการไหว้พระแบบคอรัปชั่น มีการไปขอและติดสินบน ซึ่งการไปวัดแบบนี้ ไม่ได้ทำให้คนฉลาดขึ้น เราควรต้องทำให้คนฉลาดขึ้น พึ่งตนเองได้ ช่วยตนเองได้ การห้อยพระ ก็ควรห้อยเพื่อเตือนใจตนเอง เราต้องช่วยพระ ไม่ใช่ให้พระช่วย เราช่วยพระคือการรักษาพระไว้ในใจ คือทำดี พูดดี คิดดี คบเพื่อนดี และไปสู่สถานที่ดี ๆ เมื่อเราช่วยพระได้อย่างนี้แล้วพระก็จะช่วยเรา
โรงเรียนวิถีพุทธต้องช่วยกัน ร่วมมือกันทั้ง พ่อแม่และครู ให้ช่วยกันฝึกหรือปลุกให้เด็กของเรา ให้เกิดความ "ตื่นตัว ว่องไว ก้าวหน้า" และท่านยังได้แนะนำให้โรงเรียนวิถีพุทธควรจัดให้มีการ อบรมปฏิบัติธรรมให้แก่ผู้ปกครองด้วย โดยให้มาอยู่ค่ายสัก ๓ วัน เป็นต้น พ่อแม่และครูต้องช่วยกันให้เด็กของเราเป็นไท มิใช่เป็นทาส ทุกวันนี้ เราเปิดเสรี มีเสรีภาพมากจนทำให้คนไทยเป็น "ทาส" เป็น "ทาสทางวัฒนธรรม" วันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ เป็นวันอุบาทว์ ที่เด็กผู้หญิงไปเสียพรหมจรรย์ให้เด็กผู้ชาย จึงไม่ควรจะเสรีจนมากเกินไป หลวงพ่อได้ฝากประโยคที่น่าขบคิดต่อรัฐบาลและพวกเราชาวไทยว่า "การเป็นประชาธิปไตยแบบขี้ขลาดตาขาว จะเอาตัวไม่รอด"
ช่วงท้าย หลวงพ่อได้กล่าวอนุโมทนาต่อการดำเนินงานโครงการโรงเรียนวิถีพุทธของรัฐบาล และต่อทุกท่านที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ ทั่วประเทศ โดยหลวงพ่อหวังว่าโครงการโรงเรียนวิถีพุทธจะเกิดมีประโยชน์ เอาไปใช้สร้างคนที่ดี ขอให้ทุกท่านทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็จะเป็นมหากุศลอย่างยิ่ง ก่อนจบหลวงพ่อยังได้สอนให้ที่ประชุมเรียนรู้วัฒนธรรมชาวพุทธ ว่า เมื่อฟังพระสงฆ์แสดงธรรมจบแล้วให้ร่วมกันเปล่งเสียงสาธุ ดัง ๆ ๓ ครั้ง ให้เหมือนกับชาวพุทธในประเทศพม่า ศรีลังกา ซึ่งทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมปลาบปลื้มเป็นอย่างยิ่ง และได้ผลมากกล่าวคือผู้ร่วมสัมมนาได้กล่าวสาธุอย่างพร้อมเพรียงกัน ด้วยเสียงอันดังออกมาจากใจ และเกิดเป็นพฤติกรรมเช่นนี้ต่อไปทุกครั้งที่มีพระสงฆ์มาพูดแสดงธรรม โดยอัตโนมัติอย่างพร้อมเพรียงกัน เมื่อจบการบรรยาย ผู้เข้าร่วมสัมมนาต่างกรูกันเข้าไปขอถ่ายรูปหลวงพ่อกันอย่างมากมายเป็นเวลานาน ซึ่งหลวงพ่อก็เมตตาหยุดนั่งและยืนให้ถ่ายภาพกันอย่างเต็มที่ อันยังบรรยากาศแห่งความเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งให้แก่งานสัมมนาดังกล่าว.

 

 

ฐิตวํโส ภิกฺขุ [05/03/01 02:32] (210.246.70.132) 2417

 

ความคิดเห็นที่ 3

พระเทพโสภณ ชู โรงเรียนวิถีพุทธ เป็น One Stop Service ให้เด็กทั้ง เก่ง ดี และมีความสุข
พระเทพโสภณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้บรรยายในหัวข้อ "แนวทางการดำเนินงานโรงเรียนวิถีพุทธ" ซึ่งท่านได้เมตตาบอกเล่าถึงความเป็นมาของโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ ตั้งแต่ท่านได้เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอหลักสูตรพระพุทธศาสนาใหม่ ต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่สถาบันราชภัฎสวนดุสิต เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๕ โดยในที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการโรงเรียนวิถีพุทธนำร่องจังหวัดละ ๒ โรงเรียนก่อน จวบจนถึงปัจจุบัน ท่านได้เมตตาชี้ให้เห็นว่าหลักการของการปฏิรูปการศึกษาก็เป็นหลักการอันเดียวกับโรงเรียนวิถีพุทธ โดยมีแนวคิดมาจากหลัก อริยสัจจ์ ๔ ที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ อันอาจแบ่งอย่างง่ายเป็น ๒ ส่วนคือ ทฤษฏี (ทุกข์, สมุทัย, นิโรธ) และ ปฏิบัติ (มรรค) ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิต ตามหลักไตรสิกขาทั้งศีลสมาธิปัญญา และจากแนวคิดนี้ก็พัฒนาไปสู่ตัวชี้วัด และยุทธศาสตร์ ที่จะพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธต่อไป
โรงเรียนวิถีพุทธต้องพัฒนาให้เด็กนักเรียนมีคุณลักษณะ ทั้ง เก่ง ดี และมีความสุข โดยโรงเรียนวิถีพุทธต้องผสานร่วมกับ วัด และบ้าน ดำเนินการในลักษณะ "One Stop Service" ให้เด็กทั้ง เก่ง ดี และมีความสุข โรงเรียนต้องมีตัวแบบที่ทั้ง "สอนให้รู้ ทำให้ดู และอยู่ให้เห็น" ในโรงเรียน โดยการนิมนต์พระภิกษุสงฆ์เข้าไปสอนในโรงเรียน บ--ร ต้องร่วมมือกัน โดยโรงเรียนเป็นเจ้าภาพหลัก ขณะที่บ้านและวัด เป็นเจ้าภาพร่วม หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างวัดไว้ในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ตามอย่างแนวพระราชดำริในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ เหมือนในอดีต
ท่านได้ตั้งประเด็นคำถามที่น่าสนใจยิ่งว่า ทางพุทธศาสนาสอนเรื่อง ขันธ์ ๕ อันประกอบด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถามว่า อันไหนเป็น IQ อันไหนเป็น EQ ท่านได้ยกตัวอย่างประกอบให้เห็นว่า การพัฒนาอารมณ์ มีผลต่อการเรียนรู้ เมื่อมนุษย์มีความสุข จะทำให้เรียนรู้ได้ดี และจะทำให้มีความหวัง มีความทะเยอทะยาน กล้าทำในสิ่งยากมากขึ้น โดยการพัฒนาอารมณ์ทำได้ด้วยการบริหารจิตเจริญปัญญา ท่านชี้ให้เราเห็นถึงความสำคัญของอารมณ์ความรู้สึกว่า "โลกเป็นอย่างไรไม่สำคัญ อยู่ที่รู้สึกต่อเรื่องนั้นอย่างไร" เมื่อประสบความทุกข์ ก็จัดการความทุกข์ได้ ไม่ฆ่าตัวตาย สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น ด้วยการบริหารจิตเจริญปัญญา ซึ่งมีกระบวนการที่เริ่มมาจากปัจจัย ๒ อย่าง
ปัจจัย ๒ อย่าง ของกระบวนการบริหารจิตเจริญปัญญา คือ ปรโตโฆสะ และ โยนิโสมนสิการ ท่านได้อธิบายศัพท์ว่า มนสิการ แปลว่า กระทำไว้ในใจ หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็น "อาหารใจ" ร่างกายเราต้องการอาหารฉันใด จิตใจของคนเราก็ต้องมีอาหารใจ ฉันนั้น เช่นกัน การรู้จักเลือกเรื่องสำหรับคิดอย่างฉลาด และคิดถึงเรื่องนั้นด้วยมุมมองที่ถูกต้องแยบคาย เรียกว่า "โยนิโสมนสิการ" ทุกเรื่องทุกวิชาจึงคิดให้เป็นโยนิโสมนสิการได้หมด ท่านได้ยกพระบาลีขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า โยนิโสมนสิการนี้ เป็นอาหารเพื่อการเกิดขึ้นของสติ ดังนั้น โยนิโสมนสิการ จึงเรียกว่าเป็น "อาหารใจ" ที่ทำให้สติสัมปชัญญะสมบูรณ์บริบูรณ์ ท่านยังได้เมตตาจำแนก โยนิโสมนสิการ ออกเป็น ๔ แบบตามนัยอรรถกถาจารย์ คือ ๑)อุปายมนสิการ (คิดถูกวิธี) )ปถมนสิการ (คิดมีเส้นทาง) )การณมนสิการ (คิดมีเหตุผล) )อุปปาทมนสิการ (คิดเร้ากุศล) โดยท่านได้อธิบายขยายความและยกตัวอย่างประกอบ แต่เนื่องด้วยมีเวลาจำกัดอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุไฟฟ้าขัดข้อง จึงทำให้การบรรยายยังไม่จบบริบูรณ์ ซึ่งผู้สนใจควรจะได้ติดตามการบรรยายของท่านในโอกาสต่อไป
หลวงพ่อพยอม ห่วงสังคม ประกาศนโยบายกู้ชาติ พร้อมชู โรงเรียนวิถีพุทธ ให้ช่วยพลิกฟื้นสังคม
ในช่วงเช้าของวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ พระราชธรรมนิเทศ หรือที่คนทั่วไปรู้จักท่านในนามว่า "พระพยอม กัลยาโณ" วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี ได้เมตตาเดินทางมาบรรยายธรรมกถาพิเศษในหัวข้อ "โรงเรียนวิถีพุทธ ควรทำอะไร" ในการประชุมสัมมนาผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนวิถีพุทธของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ๑๗๕ เขตทั่วประเทศ ตามที่ทราบแล้วนั้น หลวงพ่อได้เมตตาชี้แนะแนวทางให้โรงเรียนวิถีพุทธสามารถดำเนินการให้เกิดความสุข ๔ อย่าง เหมือนอย่างที่วัดสวนแก้วได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการกิจกรรมในวัด กล่าวคือ
) จัดการศึกษาให้เด็กหารรายได้อย่างถูกทาง เกิดมีความสุขจากการหาทรัพย์ได้อย่างสุจริต ถูกทำนองคลองธรรม ไม่ให้เหมือนกับนายทุนสารเลวในปัจจุบันที่โลภมาก หาทรัพย์แบบผิดวิถีพุทธ เป็น "วิถีเปรต" โดยหลวงพ่อท่านได้เมตตายกตัวอย่าง ประสบการณ์ของท่านเองตั้งแต่วัยเด็ก ที่โยมแม่ของท่านก็เลี้ยงท่านมาแบบวิถีพุทธ ท่านได้ช่วยพ่อแม่หารายได้จากการรับจ้างต่าง ๆ จนเป็นแรงบันดาลใจให้เกิด โครงการ "โรงเรียนทักษะชีวิต" และโครงการ "เศรษฐีน้อย" ของวัดสวนแก้ว ซึ่งฝึกให้เด็กหารายได้ด้วยตนเองอย่างถูกวิธี ถูกทำนองคลองธรรม ตั้งแต่ชั้น ป.-๔ เด็ก ๆ จะถูกฝึกให้มีความเก่งในการทำงานและยังเป็นการฝึกทักษะทางคณิตศาสตร์ในชีวิตจริงจากการรับ-ทอนเงินด้วย วัดยังได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ อีกหลายโครงการ เช่น การรับขยะมาแยกเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ซึ่งโครงการต่าง ๆ เหล่านี้มุ่งให้เกิด "สัมมาอาชีวะ" ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการทำงานโดยสุจริตของตนเอง ด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง อันเป็นความสุขประการที่หนึ่ง
) สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์ ซึ่งท่านเน้นว่าอย่าใช้จ่ายทรัพย์ไปเพื่อให้เกิดความทุกข์ อย่างตัวท่านเองนั้น ไม่เคยใช้จ่ายทรัพย์เพื่อซื้อเหล้า บุหรี่ หรือความสุขจากเนื้อหนังมังสา อย่างการสร้างวัดของท่านนั้น ก็สร้างเฉพาะในสิ่งที่จำเป็น มีคุณประโยชน์แท้ต่อการใช้สอย ท่านเน้นให้ใช้จ่ายอย่างประหยัด มีคุณค่า ไม่ฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น อันจะทำให้เกิดความสุขประการที่สอง

) สุขจากการไม่เป็นหนี้เป็นสินใคร ท่านได้กระตุกเตือนให้ครูได้ฉุกคิดว่า ปัจจุบันครูเป็นหนี้มากตั้ง ๖ - ๗ หมื่นล้านบาท ก็เพราะไม่เป็นวิถีพุทธ เป็นวิถีเปรต ใช้จ่ายเกินรายได้ อยากได้นู่นอยากได้นี่ ในที่สุด ก็ทำให้เป็นหนี้แบบโง่ ๆ แล้วก็เป็นทุกข์ ท่านกล่าวว่า "ถ้าเป็นหนี้เป็น ก็ไม่เป็นทุกข์" กล่าวคือ ถ้าเป็นหนี้ในระดับที่มีกำลังรองรับไหว เป็นหนี้ในเรื่องที่จะทำให้มีรายได้ย้อนกลับมาอย่างเพียงพอ ก็ถือว่าเป็นหนี้เป็น คือเป็นหนี้อย่างฉลาด ท่านได้ยกตัวอย่างที่วัดสวนแก้วได้เป็นหนี้เพื่อซื้อที่ดินมาทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งก็มีรายได้ย้อนกลับเข้ามาที่แน่นอนและรองรับหนี้ได้ จึงสามารถปลดหนี้ได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าเป็นหนี้เพื่อเอามา กิน ๆ เล่น ๆ ก็เรียกว่าเป็น "หนี้จัญไร" ก็จะทำให้เกิดทุกข์ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการเป็นหนี้เช่นนี้ ก็จะเป็นความสุขประการที่สาม
) สุขอันเกิดจากความประพฤติอันไม่มีโทษ ซึ่งท่านได้ย้ำและยกให้เป็นความสุขที่สำคัญและดีที่สุด ซึ่งจะนำมาซึ่งเครดิต ความน่าเชื่อถือ เหมือนอย่างที่ท่านที่ถูกใคร ๆ เฝ้าระวังว่าอาจจะเหมือนกับพระที่มีชื่อเสียงหลายรูปที่เกิดเรื่องเสียหายมาแล้ว แต่ท่านก็ได้พิสูจน์ให้เห็น จากการประพฤติไม่มีโทษ ตามพระธรรมวินัย จนเป็นที่เคารพเชื่อถือของญาติโยม อันเป็นความสุขประการที่สี่
ท่านยังได้ประกาศว่า พระและวัดควรจะได้มีการประกาศนโยบายของวัดบ้างว่า มีแนวคิด มีนโยบายอย่างไร จะทำประโยชน์อะไรอย่างไรบ้าง โดยท่านได้ประกาศตนเองเป็นตัวอย่างนำร่องด้วยการพิมพ์หนังสือ "นโยบายพระกู้ชาติ" ขึ้น ซึ่งจากธรรมกถาของท่านนี้ ทางโรงเรียนวิถีพุทธอาจนำมาใช้เป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการศึกษาให้เด็ก ครู และผู้บริหาร เกิดความสุขทั้ง ๔ อย่างนี้ตามแนววิถีพุทธขึ้นบ้าง มิใช่ทุกข์ร้อนอย่าง "วิถีเปรต" ! และในวันถัดมา ทางคณะผู้เข้าร่วมสัมมนาได้มีโอกาสพิเศษ ได้เดินทางไปดูงานที่วัดสวนแก้ว โดยหลวงพ่อเจ้าคุณพระพยอมได้เมตตาให้การต้อนรับ บรรยายและนำชมกิจการของวัดด้วยตัวท่านเอง จึงทำให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาเกิดความปลื้มปีติประทับใจและรู้สึกเป็นบุญกุศลต่อตนเองเป็นอย่างยิ่ง