ข่าวจากเว็ปไซต์ รักเด็ก.คอม http://www.rakdek.com/
คณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ สำหรับแก้ปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส
นายกฯ ฟันธงครูไม่ต้องจ่ายใบประกอบวิชาชีพ


27 กุมภาพันธ์ 2548 ผลวิจัยการศึกษาไทยเหมือนโรงงานปั๊มคน ตกต่ำทุกด้านต้องยกเครื่องใหม่หมด เสนอ 4 ร.ให้รัฐแก้ไข

รศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการเปลี่ยนผ่านการศึกษาเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ เปิดเผยว่า จากผลการวิจัยเรื่องดังกล่าวในรอบระยะเวลา 6 เดือนแรก พบว่า การศึกษาไทยยังไม่พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ เนื่องจากขาดการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการสร้างความรู้อย่างจริงจัง การสร้างสรรค์มีน้อย คุณภาพไม่โดดเด่น การเห็นแก่ส่วนรวมและรักษ์ความเป็นไทยก็มีน้อยมาก นอกจากนี้ ยังพบว่าการสารสนเทศก็ยังอยู่ในระดับต่ำและการใช้เทคโนโลยีก็ยังมีอยู่น้อย ทั้งๆ ที่การรู้สารสนเทศเป็นเงื่อนไขหลักของเศรษฐกิจฐานความรู้ โดยมีอุปสรรคมาจากระบบการศึกษาไทยยังมีลักษณะเป็นการศึกษาในรูปแบบเดียว เหมือนโรงงานอุตสาหกรรมรุ่นเก่าที่ปั๊มคนออกมาให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้ส่งเสริมอิสระ ความคิดริเริ่ม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และใช้ความสามารถของตนเองให้เต็มที่ ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ รศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าวต่อไปว่า การวิจัยได้มีข้อเสนอให้ผู้เรียนต้องมีคุณลักษณะ 4 ร. คือ 1.รู้ทัน รู้นำโลก 2.เรียนรู้ชำนาญ เชี่ยวชาญปฏิบัติ 3.รวมพลังสร้างสรรค์สังคม และ 4.รักษ์ความเป็นไทย ใฝ่สันติ โดยเฉพาะผู้เรียนต้องมีความคิดใหม่ คิดสร้างสรรค์ คิดแจ้งแทงตลอด, การจัดการศึกษาต้องจัดในลักษณะให้ผู้เรียนเลือกเรียนได้ตามความถนัด ความสนใจ, การสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องยกเครื่องใหม่ให้สามารถรับคนที่มีความสามารถพิเศษได้ ระบบแอดมิสชั่นยังไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมพอ เพราะยังยึดติดคะแนนสอบเป็นหลักอยู่, นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาลในการยกเครื่องการศึกษาใหม่โดยตั้งโรงเรียนรูปแบบใหม่ หรือยกเครื่องโรงเรียนเดิมให้เด็กพัฒนาความสามารถและศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ เปิดทางเลือกให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้โดยไม่ยึดติดกับคะแนนรวม, ส่งเสริมครูที่สอนให้เด็กได้ใช้ศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ และสนับสนุนคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่พัฒนาแนวคิดมหาวิทยาลัยในโรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาทางเลือกที่ไม่ใช่ระบบโรงเรียนให้มากขึ้น

17 กุมภาพันธ์ 2548 ๔ อันตรายการศึกษาไทย

สมพงษ์ จิตระดับ สุอังคะวาทิน 1 ใน 4 ตัวเลขของ "ข่าวสด" ที่นำเสนอการเปรียบเทียบงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาในปี พ.ศ.2546 รัฐบาลทั่วโลกลงทุนโดยเฉลี่ย 4.5 ของจีดีพี อัตราการเรียนทั่วโลกระดับประถมอยู่ที่ร้อยละ 103 ระดับมัธยมอยู่ที่ร้อยละ 70 และอุดมศึกษาอยู่ที่ร้อยละ 24 ภาพรวมการศึกษาโลก เป็นเช่นนี้ ตัวเลขการลงทุนของประเทศไทยสูงมาก แต่ลำดับที่เชิงคุณภาพอยู่เกือบท้ายในทุกด้าน ผู้อ่านลองพิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้วจะทราบว่าทำไมปฏิรูปการศึกษากี่ปีกี่ชาติถึงไม่สำเร็จเสียที
1. ประเทศไทยใช้จ่ายงบประมาณด้านการศึกษาร้อยละ 5 ของจีดีพี เป็นที่ 2 รองแค่มาเลเซียประเทศเดียวร้อยละ 7.9 สูงกว่าจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อังกฤษ เยอรมนี และอื่นๆ แต่ระบบการลงทุนและการนำไปใช้ให้เกิดคุณภาพการศึกษาเป็นระบบที่แย่ที่สุดในโลก งบส่วนใหญ่ลงไปที่เงินเดือนครูสูงถึงร้อยละ 80-85 งบบริหารจัดการ 12-15% แต่ที่ต่ำสุด ลงไปสู่นักเรียนเพียง 3-5% เท่านั้น
ในปัจจุบันด้วยการหาเสียงทางการเมืองกับครูเงินเดือนครูยิ่งมากขึ้นตามลำดับจนเบียดบังเงินจำนวนมากที่เด็กพึงได้รับ ครูมีเงินเดือนสูงเป็นเรื่องดีแต่ต้องสะท้อนคุณภาพเด็กดีขึ้นด้วยจึงจะถูก อะไรคือกระบวนการแก้ไขจุดนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน รัฐมนตรี นักการเมืองไม่มีใครกล้าแตะปล่อยคาราคาซังมาจนปัจจุบันนี้
2. อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนอยู่ที่ครู 1 คน : นักเรียน 20 คน น่าจะสอนได้ดี มีกิจกรรม ดูแลนักเรียนได้ทั่วถึง แต่ปัญหาการเมือง วิ่งเต้น โยกย้าย เสียเงินเสียทอง ครู 70-80% กระจุกตัวในเมืองใหญ่ เขตที่มีความเจริญ ส่วนกลาง อำเภอเมืองอย่างล้นเหลือ แต่ในเขตทุรกันดาร ห่างไกล เสี่ยงอันตราย ขาดแคลนครูอย่างหนัก แต่การผลิตครูยังเน้นเชิงปริมาณตลาดสายสังคมศาสตร์มาตลอด
3. ระดับไอคิวโดยเฉลี่ยของเด็กไทยอยู่ที่ระดับ 89-91 ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ 90-110 เด็กไทยเกือบ 50% กลายเป็นเด็กเรียนช้า สติปัญญาต่ำ เอ๋อ และเรียนรู้ได้ช้ายิ่งมิต้องไปพูดถึงเรื่องการแข่งขัน การเฉลียวฉลาด การสร้างคนสร้างประเทศให้เสียเวลา เพราะคุณภาพไอคิวพื้นฐานประเทศไทยมีแนวโน้มด้อยและลดลงต่อเนื่อง
4.ระดับคุณภาพการศึกษาด้านวิทย์ คณิต อังกฤษ เทคโนโลยี ต่ำมากอยู่ที่ 25% ซ้ำซากเช่นนี้เป็นเวลานานไม่มีอะไรดีขึ้น เห็นมีแต่ผักชีโรยหน้า เด็ก 3-4 คนได้รับรางวัลเหรียญโอลิมปิกกลับมาซึ่งแทบไม่สะท้อนโครงสร้างและปัญหารุนแรงที่มีอยู่เลย
นี่คือ 4 ตัวเลขอันตรายสุดยอด ซ้ำซาก ไม่แก้ไข คุณภาพต่ำ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ยื้อฉุดกระชากการศึกษาไทยอยู่ตำแหน่งเกือบสุดท้ายมาโดยตลอดและจะรั้งท้ายไปอีกนานทีเดียว

(ที่มา หนังสือพิมพ์ข่าวสด: 3 มกราคม 2548)

27 กุมภาพันธ์ 2548 ทักษิณ ประชุมครูขยายคอมพ์-เน็ตเข้า ร.ร.๐ เบรกโอน ร.ร.ระบุไม่พร้อม ๐
ฟันธงครูไม่ต้องจ่ายใบประกอบวิชาชีพ

เมื่อวันที่ 26 ก.พ.48 ที่โรงแรมโซฟิเทล จ.ขอนแก่น ได้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องแนวทางการพัฒนาการศึกษาของชาติ โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทั้งนี้ นางพรนิภา ลิมปพยอม เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวรายงานสรุปผลการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ปัญหาการขาดแคลนครูจะมีการแบ่งนักเรียนตามขนาดของโรงเรียน คือ นักเรียน 120 คนลงมา จะมีครู 7 คน นักเรียน 120-200 คน จะมีครู 10 คน นักเรียน 200-300 จะมีครู 15 คน นักเรียน 300-400 คนขึ้นไปจะมี 20 คน นักเรียน 400-500 จะมีครู 25 คน นักเรียนมากกว่า 500 คนก็จะใช้สัดส่วน 1 ต่อ 20 คน ทั้งนี้ สรุปแล้วมีอัตราครูที่ขาดแคลน จำนวน 69,000 คน สำหรับเรื่องหนี้สินครูนั้นรัฐบาลได้เตรียมการแก้ไขปัญหาความยากจนทั่วประเทศ แต่นายกฯ ได้มีวิธีแก้ปัญหารูปแบบพิเศษสำหรับครูโดยเฉพาะ ส่วนการจัดสรรคอมพิวเตอร์ให้แก่นักเรียนอย่างทั่วถึงนั้นคาดว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ในอัตราส่วนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน 1 ต่อ 15 ซึ่งจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหมดจำนวน 590,000 เครื่อง ขณะที่คอมพิวเตอร์เพื่อการบริหารจัดการต้องใช้ประมาณ 1 เครื่อง ต่อ 5 โรงเรียน นอกจากนี้ในเรื่องปัญหาการถ่ายโอนโรงเรียนไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ขณะนี้ทั้งฝ่ายรับและฝ่ายโอนยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น จึงควรมีการช่วยเหลือในการจัดการศึกษาไปก่อน และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมค่อยดำเนินการ
พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การกำหนดระยะเวลา 2 ปีเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทั่วถึงในทุกโรงเรียนนั้น ตนเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่รวดเร็วเกินไป ก่อนอื่นควรให้มีความทั่วถึงแก่นักเรียนก่อนที่จะจัดสรรให้เพียงพอกับจำนวนนักเรียน โดยทุกโรงเรียนอย่างน้อยต้องมีห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 ห้อง และใน 1 ห้องเรียนต้องมีคอมพิวเตอร์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้ 1 เครื่อง และโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก็ควรเพิ่มปริมาณประมาณ 2 เครื่องต่อห้อง ขณะเดียวกันก็ขอสนับสนุนใช้เครื่องร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียงแทนไปก่อนได้ โดยสัดส่วน 1 ต่อ 15 นั้นจะพยายามเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ส่วนค่าใช้จ่ายในเรื่องของอินเตอร์เน็ตนั้นก็จะต้องให้มีการประชุมกันอย่างเร่งด่วน เพราะหากจำเป็นตนจะยอมให้มีการลงทุนไฟเบอร์ออพติกของโรงเรียนเลย ไม่ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายมีเพียงค่าซ่อมบำรุงเท่านั้น สำหรับงบประมาณในการสร้างและซ่อมแซมอาคารเรียนนั้นต้องใช้งบฯ 11,000 ล้านบาทต่อปี ในระยะเวลา 4 ปี ก็รวมทั้งสิ้น 4,000 ล้านบาท ซึ่งได้เตรียมงบฯ ไว้ 25,000 ล้านบาท เป็นงบฯ นอกเหนือจากงบฯ ปกติ โดยเป็นงบฯ เพื่อใช้เร่งรัดในการปรับปรุงระบบการศึกษา

นายกฯ ยังกล่าวถึงการถ่ายโอนโรงเรียนไปให้ อปท. ขณะนี้อาจจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.กำหนดขั้นตอนและการกระจายอำนาจ ที่มีการกำหนดระยะเวลาการถ่ายโอนโรงเรียนให้กับ อปท.ซึ่งเป็นเหมือนการบังคับว่าต้องรีบทำอย่างไรก็ได้ เพื่อจะจัดโรงเรียนยัดใส่มือ อปท.ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็ไม่มีความพร้อม ดังนั้นตนซึ่งเป็นนักบริหารไม่ใช่นักกฎหมาย ก็จะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ใช่นักกฎหมายอย่าไปตีความกฎหมาย อย่าเอากฎหมายเป็นเครื่องกีดขวาง ซึ่งหากเอากฎหมายเป็นเครื่องบังคับ ตนไม่เอาด้วย ดังนั้นจากนี้ไปจะให้มีการทำรูปแบบของการร่วมกันดูแลระหว่าง อปท.กับโรงเรียน โดยไม่ต้องมีการถ่ายโอนจะเป็นไปอย่างไร เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจนกว่าเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายจะมีความพร้อมค่อยมาพูดเรื่องการถ่ายโอน

นายกฯ ได้ย้ำว่า การเรียนการสอนของไทยต่อไปจะต้องรื้อเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมขึ้นมา และครูจะต้องเปิดใจกว้างและครูจะต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กซึ่งต่อไปไม่จำเป็นต้องเก่งเลอเลิศหรือต้องได้เกรด 4 เท่านั้น ขอให้ใจกว้าง เมื่อครูใจกว้างแล้วโจทย์แม้จะยากแค่ไหน 1 สมองของครูกับ 50 สมองเด็กก็จะสามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้ในสมัยที่ตนยังเป็นเด็กนักเรียน ตนเคยเจอมาแล้วที่ครูให้โจทย์มา แล้วตนแย้งว่าครูผิด ครูก็ว่าตน และยังจำครูคนนั้นได้ทุกวันนี้ และจนถึงวันนี้ครูคนนั้นก็ยังไม่ได้ดี อย่างไรก็ตามมีแนวคิดว่าต่อไปในวันครู ครูควรมีเวลาสักครึ่งวันอยู่กับเด็ก เพื่อให้เด็กแสดงความกตัญญูต่อการมาไหว้ครู ไม่ใช่ต่างคนต่างหยุด หรือแค่มาท่องแล้วปากเจรจพอาเย็นครูก็กลับไปเมา ตื่นเช้าก็มารับรางวัล อย่างนี้ไม่เอา ดังนั้นต่อไปครูจะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครูไม่ต้องเรียนเก่งมาก ดังนั้นก่อนที่จะให้ตนช่วยการแก้ปัญหาหนี้สินครู ครูต้องมาทำข้อตกลงกับตนก่อนว่าครูจะเรียกจิตวิญญาณของครูกลับมา และเมื่อนั้นการปฏิรูปการเรียนรู้การศึกษาจะเกิดทันที รักนักเรียนเหมือนลูกหลาน สอนให้ถูกทาง รับรองปัญหาสังคมหายหมด นอกจากนี้เรื่องข้อเสนอที่ให้มีการจัดตั้งศูนย์ที่รับดูแลเด็กออทิสติกโดยเฉพาะขึ้นมานั้น ตนมีความเข้าใจครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กออทิสติก และขณะนี้กำลังคิดหาทางแก้ปัญหาเด็กเหล่านี้อยู่
ด้านตัวแทนนักเรียนคนหนึ่ง กล่าวว่า การประเมินผลของครูโดยการออกเกรดเฉลี่ยให้กับเด็กนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบท หากเด็กติด ร. หรือ มส. ครูจะต้องให้เด็กสอบซ่อม เพื่อให้ได้เกรดผ่าน และบางคนซ่อมอย่างไรเกรดก็ไม่ผ่าน ครูก็เลยบอกว่าให้ซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนกับโรงเรียนจึงจะให้ผ่าน และครูบางคนก็บอกให้เด็กเอาเงินมาให้กับครู เหมือนว่าเป็นการซื้อเกรด โดยนายกฯ กล่าวว่า นี่คือปัญหาที่ตนจะต้องมาแก้ไข เพราะครูยังไม่มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้กล่าวถึงเด็กที่จบ ม.3 จากต่างจังหวัดจำนวนมากว่า ไม่รู้จะไปเรียนต่ออะไร และไม่รู้จะไปทำอะไร อาจจะมาจากการเปิดโรงเรียนที่สร้างวิชาชีพไม่เพียงพอ บางคนจบปริญญาเอกทำมาหากินไม่เป็น แต่คนที่ไม่จบปริญญาเลยกลับทำมาหากินเก่ง ซึ่งหากให้เลือกคนที่จบปริญญาเอกก็คงอยากย้อนกลับมาเรียนรู้เรื่องการทำมาหากิน ซึ่งเป็นชีวิตจริงและสามารถเลี้ยงชีพได้ ดังนั้นถ้าเด็กจบ ม.3 และมีการฝึกวิชาชีพมากๆ ก็น่าจะดี แต่วันนี้ได้ยินว่าอาชีวศึกษาจะไปเอาปริญญา ตนก็รู้สึกเป็นห่วงว่าจะไม่มีใครสอนเด็กในเรื่องวิชาชีพ เว้นแต่เด็กมีวิชาชีพแล้วจะเลือกเรียนต่อปริญญาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ขอเพียงให้มีช่องทางที่จะนำไปสู่วิชาชีพให้เพียงพอ ขณะนี้บางจังหวัดมีวิทยาลัยการอาชีพ แต่บางจังหวัดยังไม่มี ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไร วางแผนอย่างไร โดยดูความต้องการของตลาดแรงงานเป็นกรอบ ซึ่งเรื่องนี้ตนขอให้เป็นกรอบความคิดที่ ศธ.จะไปทำการบ้านต่อ
สำหรับเรื่องของการเก็บค่าธรรมเนียมใบประกอบวิชาชีพนั้นก็ชัดเจนแล้วว่า หากคุรุสภาต้องการเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในกิจการต่างๆ ไม่เพียงเฉพาะใบอนุญาตก็สามารถขอจากนายกฯ ได้ และครูไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ส่วนเรื่องการแก้ไขประกาศต่างๆ นั้นก็แล้วแต่กรรมวิธี ส่วนที่ว่ามีเรื่องการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้นไม่มี ซึ่งในส่วนนี้แต่ละคนคิดต่างกัน แต่คิดว่าเรื่องนี้จบแล้วและไม่มีปัญหาใดๆ อีก