การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง

 
 
พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งเป็นที่คุ้นหูคุ้นใจคนจำนวนมาก คือบทที่ว่า...
"สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ แปลความว่า การให้ธรรมย่อมชนะ การให้ทั้งปวง
 
เพราะพุทธศาสนิกชนจำนวนไม่น้อยมี ศรัทธาเชื่อในคุณแห่งการให้ธรรมเป็นทาน จึงแม้สามารถก็จะพากันพิมพ์หนังสือธรรมะแจกเป็นธรรมทาน ซึ่งเชื่อว่าเหนือการให้ทั้งปวง ซึ่งจักเป็นบุญเป็นกุศลยิ่งกว่าบุญกุศลที่เกิดจากการให้ทานอื่นทั้งปวง
 
นี้เป็นการถูก เป็นการดี เพราะการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธเจ้าเป็นความดีอย่างยิ่ง ยิ่งผู้ได้รับนำไปปฏิบัติก็จะยิ่งเป็นการดีที่สุดเพราะการปฏิบัติธรรมทาง ธรรม ตั้งอยู่ในธรรมเป็นการนำให้ถึงความสวัสดีอย่างแท้จริง และไม่เพียงเป็นความสวัสดีเฉพาะตนเองเท่านั้น ยังสามารถแผ่ความสวัสดีให้กว้างไกลไปถึงผู้เกี่ยวข้องได้มากมาย
 
กล่าวได้ว่า ผู้มีธรรมเพียงคนเดียว ย่อมยังความเย็นความสุขให้เกิดได้เป็นอันมาก ตรงกันข้ามกับผู้ไม่มีธรรม แม้เพียงคนเดียวก็ย่อมยังความร้อนความทุกข์ให้เกิดได้เป็นอันมาก
 
การให้ธรรมที่แท้จริง หมายถึงการทำตนเองของคนให้มีธรรม พิจารณาจากความจริงที่ว่า ผู้มีธรรมเป็นผู้ให้ความเย็น ความสุขแก่ผู้อื่นได้ เช่น เดียวกับกับที่ให้ความเย็นความสุขแก่ตนเอง อาจเห็นได้ว่า การให้ธรรมไม่หมายถึงเพียงการพิมพ์หนังสือธรรมแจก หรือการอบรมสั่งสอนด้วยวาจา ให้รู้ให้เห็นธรรมเท่านั้น แต่การให้ธรรมที่แท้จริง ย่อมหมายถึงการทำตนเองของทุกคนให้มีธรรม ให้ธรรมในตนปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการแสดงออกเป็นการสั่งสอนด้วยวาจา หรือเช่นด้วยการแสดงธรรมแบบพระธรรมเทศนาของพระ
 
การสั่งสอนธรรมหรือให้ธรรม ด้วยความประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองนั้น มีความสำคัญเหนือกว่าการแจกหนังสือธรรมเป็นอันมากด้วยซ้ำ เพราะการประพฤติปฏิบัติธรรมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอจนธรรมนั้นเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกับกายกับใจ นั่นแหละเป็นการแสดงธรรมให้ปรากฏแก่ผู้รู้ผู้เห็นทั้งหลายทั้งปวง และจะต้องได้ผลมากกว่าการให้ธรรมที่เป็นข้อเขียนในหน้าหนังสือ
 
ความสูงต่ำ ห่างไกลของธรรมที่ดีและชั่วนั้นมีมากมายยิ่งนัก
 
อันคำว่าธรรมนั้น ที่แท้จริงมีความหมายเป็นสองอย่าง คือทั้งที่ดีและที่ชั่ว หนังสือธรรมมิได้แสดงแต่ธรรมที่ดี แต่แสดงธรรมที่ชั่วด้วย เพียงแต่แสดงธรรมที่ดีว่าให้ประพฤติปฏิบัติ แสดงธรรมที่ชั่วว่าไม่ควรประพฤติ และผู้ประพฤติธรรมหรือผู้มีธรรมนั้นก็คือ ผู้ประพฤติธรรมที่ดี ไม่ประพฤติธรรมที่ชั่ว
 
ผู้ประพฤติธรรมที่ดีเรียกได้ว่าเป็น สัตบุรุษ ผู้ประพฤติธรรมที่ชั่วเรียกได้ว่าเป็นอสัตบุรุษ ความสูงต่ำห่างไกลของธรรมที่ดีและที่ชั่วนั้นมากมายนัก มีพุทธศาสนสุภาษิตกล่าวไว้ว่า "ฟ้ากับดินไกลกัน และฝั่งทะเลก็ไกลกัน แต่นักปราชญ์กล่าวว่า ธรรมของสัตบุรุษกับของอสัตบุรุษไกลกันยิ่งกว่านั้น"
 
การทำตนที่ชั่ว ให้เป็นตนที่ดีได้ เป็นกุศลที่สูงที่สุด
 
ผู้ให้ธรรมทั้งด้วยการให้หนังสือธรรม และทั้งการปฏิบัติด้วยตนเองให้ปรากฏเป็นแบบอย่างที่ดีงาม เป็นแบบอย่างของสัตบุรุษ กล่าวว่าเป็นผู้ให้เหนือการให้ทั้งปวง เพราะการพยายามช่วยให้คนเป็นผู้มีธรรมของสัตบุรุษ ละธรรมของอสัตบุรุษนั้น ก็เท่ากับพยามยามช่วยให้คนบนดินคือต่ำเตี้ยได้เข้าใกล้ฟ้าคือสูงส่ง หรือช่วยให้คนชั่วเป็นคนดีนั่นเอง
 
การช่วยให้คนชั่วเป็นคนดีนั้น ผู้ใดทำได้จักได้กุศลสูงยิ่ง การช่วยตนเองที่ประพฤติไม่ดีให้เป็นคนประพฤตินั้น ก็เป็นการช่วยคนชั่วให้เป็นคนดีเช่นกัน และจะเป็นกุศลที่สูงที่สุดเสียด้วยซ้ำเพราะนอกจากตนเองจะช่วยตนเองแล้ว คนอื่นยากจักช่วยได้
 
นี้หมายความว่า... อย่างน้อยตนเองต้องยอมรับฟังการแนะนำช่วยเหลือของผู้อื่น ยอมปฏิบัติตามผู้อื่นที่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีให้ปรากฏอยู่ คือทำตนเองให้เป็นผู้ประพฤติธรรมของสัตบุรุษละการประพฤติปฏิบัติธรรมของอ สัตบุรุษให้หมดสิ้น
 
พึงอบรมปัญญา เพื่อเป็นแสงสว่างขับไล่โมหะ
 
ผู้มาบริหารจิตทั้งนั้น พึงดูจิตตนเองให้เห็นชัดเจนว่า มีความปรารถนาต้องการจะก่อทุกข์โทษภัยให้แก่ตนเองหรือไม่ ถ้าไม่มีความปรารถนานั้น ก็พึงรู้ว่าจำเป็นต้องอบรมปัญญา เพื่อให้ปัญญาเป็นแสงสว่างขับไล่ความมืดมิดของโมหะ ให้บรรเทาเบาบางถึงหมดสิ้นไป
 
ปัญญาจะช่วยให้เห็นถูกเห็นผิดความเป็น จริง และเมื่อเห็นตรงตามความจริงแล้ว การปฏิบัติย่อมไม่เป็นเหตุแห่งทุกข์โทษภัยของตนเองและของผู้ใดทั้งสิ้น ทุกข์โทษภัยย่อมไม่มีแก่ตนอาจมีปัญหาว่าแม้ตนเองไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ตนเอง ด้วยกระทำที่ไม่ถูกไม่ชอบทั้งหลาย แต่เมื่อยังมีผู้อื่นอีกเป็นอันมากที่ก่อทุกข์โทษภัยอยู่ แล้วเราจะพ้นจากทุกข์โทษภัยนั้นได้อย่างไร
 
ปัญหานี้แม้พิจารณาเพียงผิวเผิน ก็น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องยอมจำนน คือต้องรับว่าถูกต้อง แต่ถ้าพิจารณาให้ลึกซึ้ง อย่างประกอบด้วยปัญญาแท้จริง ย่อมจะได้รับคำตอบแก้ปัญหาให้ตกไปได้อย่างสิ้นเชิง เพราะผู้มีความเห็นชอบ ปราศจากโมหะ ย่อมเห็นได้ว่าไม่มีทุกข์โทษภัยใดจะเกิดแก่ตน ถ้าตนสามารถวางความคิดไว้ได้ชอบ เพราะความทุกข์ทั้งปวงเกิดจากความคิด
 
ผู้มุ่งปฏิบัติธรรม ต้องรู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นธรรม
 
ผู้มุ่งมาบริหารจิต มุ่งปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นจากกิเลส ต้องพิจารณาใจตนในขณะอ่านหนังสือหรือฟัง เรียกว่าเป็นการเลือกเฟ้นธรรม ธรรมใดกระทบใจว่าตรงกับที่ตนเป็นอยู่ พึงปฏิบัติน้อมนำธรรมนั้นเข้าสู่ใจตน เพื่อแก้ไขให้เรียบร้อย
 
ที่ท่านกล่าวว่า "เห็นบัณฑิตใด ผู้มีปกติชี้ความผิดให้ ดุจผู้บอกขุมทรัพย์ให้ ซึ่งมีปกติกล่าวกำราบ มีปัญญา พึงคบบัณฑิตเช่นนั้นเมื่อคบท่านเช่นนั้น ย่อมประเสริฐ ไม่เลวเลย "บัณฑิต" นั้นคือ "คนดีผู้มีธรรม หรือ ผู้รู้ธรรมปฏิบัติธรรมที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนนั่นเอง" การกล่าวธรรมของบัณฑิตคือ การกล่าวตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ และบัณฑิตนั้นมีพุทธภาษิตกล่าวไว้ด้วยว่า..."บุรุษจะเป็นบัณฑิตในที่ทั้งปวง ก็หาไม่แม้สตรีมีปัญญาเฉียบแหลมในที่นั้นๆ ก็เป็นบัณฑิตได้เหมือนกัน"
 
สามารถหนีไกลจากกิเลสได้มากเพียงไร ก็สามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าได้ใกล้ชิดเพียงนั้น
 
คนดีมีปัญญาคือคนมีกิเลสบางเบา โลภน้อย โกรธน้อย หลงน้อย กิเลสนั้นมีมากเพียงไร ก็ทำให้เหลือน้อยได้ ทำให้หมดจดอย่างสิ้นเชิงก็ได้ สำคัญที่ผู้มีกิเลสต้องมีปัญญา แม้พอสมควรที่จะทำให้เชื่อว่า กิเลสเป็นโทษอย่างยิ่ง ควรหนีให้ไกล สามารถหนีไกลกิเลสได้มากเพียงไร ก็สามารถเป็นคนดี เป็นบัณฑิตได้เพียงนั้น ทั้งยังจะสามารถแลเห็นพระพุทธเจ้าได้ใกล้ชิดเพียงนั้นด้วย
 
พระนิพนธ์ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก