เรื่อง “ทำไมจึงต้องสมาธิ”

ลงในนิตยสาร  “ธรรมจักษุ” ฉบับเดือน  สิงหาคม  2544

พิพัฒน์  บุญยง   เรียบเรียงจากข้อเขียนของ ท่าน  Bhikkhu  Piyananda   เรื่อง  Why Meditation

             ประชาชนทั่วไปยังคงแสวงหาความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน นอกเหนือไปจากความสะดวกสบาย  สนุกสนาน  เพลิดเพลิน  ที่เป็นผลได้จากความเจริญทางวัตถุในชีวิตยุคใหม่ที่เขาต้องกระเสือกกระสนแสวงหา   ด้วยเข้าใจว่าความสุข  เกิดจากการมีทรัพย์  มีอำนาจ หรือจากการเป็นผู้มีฐานะทางสังคม  ยิ่งกว่านั้น  บางคนเห็นว่า  ความสุขเกิดจากการมีของใช้ที่ถูกใจ  เช่นเครื่องแต่งกายราคาแพง   ครีมทาหน้ายี่ห้อดัง   หรือขับรถยนต์คันหรู  ดีมีระดับ   หรืออย่างน้อยก็เป็นของที่มีการโฆษณาขึ้นป้ายว่าเป็นของดี  

                      คนเหล่านี้แสวงหาการแก้ปัญหาที่เขาประสบ โดยผ่านทางฐานะของครอบครัว   โดยผ่านทางอาชีพการงาน   โดยผ่านทางอิทธิพลของเพื่อนฝูง หรือญาติสนิทมิตรสหาย   นอกจากนั้นพวกเขายังพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงเหตุการณ์และสิ่งนอกกาย เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ทางด้านสังคม   ทางด้านการเมือง  ให้เป็นอย่างที่เขาอยากจะให้มันเป็น  โดยเชื่อว่าในที่สุดโลกของเราจะเป็นโลกที่อุดมสมบูรณ์  และเมื่อนั้นเขาก็จะมีความสุขและสันติ  แต่เขาหารู้ไม่ว่าสิ่งต่างๆ  และเหตุการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงตัวของมันเองอยู่ตลอดเวลา  อย่างไม่เคยหยุดนิ่งตามกฎธรรมชาติ  หรือกฎแห่งกรรม  โดยที่ความฝันของพวกเขายังไม่ทันจะบรรลุผล  สิ่งที่เขาหวังไว้ ก็ผันแปรไปเป็นอย่างอื่นแล้วตามกฎธรรมดา  หรือกฎแห่งเหตุผลโดยไม่รับรู้ว่า  ความมุ่งหวังที่ใครต่อใครตั้งใจจะได้พบความสุขที่เขาปรารถนา  ก็จางหายไปเหมือนหมอกยามเช้าที่ระเหยหายไปเมื่อต้องแสงอรุโณทัย   ยิ่งเขาพยายามไขว่คว้าหาความสุขให้หนักขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งดูเหมือนว่าความสุขที่พยายามไขว่คว้านั้นเป็นเพียงภาพมายา   ดุจดังผีเสื้อแสนสวยที่กำลังกระพือปีกบินวกวนไปมา  ลวงตาให้เห็นเหมือนว่าจะจับมาเชยชมได้  แต่เมื่อเอื้อมมือไปจับ  ก็กลับบินหนีหลุดมือไป   และดูเหมือนว่าไม่เคยมีใครจับมันได้ด้วยมือเปล่า

                         พระพุทธองค์ทรงสอนว่า   ในการไขว่คว้าหาความสุขนั้น  คนส่วนใหญ่แสวงหาผิดที่  โดยเข้าใจว่าความสุขอยู่ที่สิ่งอื่นนอกตัว จึงมุ่งแสวงหาที่วัตถุนอกกายแทนที่จะหาความสุขภายในตัว 

                         ชาวพุทธผู้มีปัญญา  เริ่มที่จะค้นพบว่า  แหล่งความสุขหรือความทุกข์ของเขาที่แท้นั้นอยู่ภายในตัวของเขาเอง  เขาพบว่าแดนเกิดของความทุกข์หรือความสุขนั้น  อยู่ที่ใจของเราเอง และที่จะหันความสนใจของเขาเข้ามาสู่แดนภายใน คือ  “จิตใจ”  นั้น  “สมาธิ” เป็นสิ่งจำเป็นหรือเป็นทางอันประเสริฐที่จะนำไปสู่   “แดนกำเนิดแห่งความสุข”   นั้น

                         ปัจจุบันนี้   การทำสมาธิ  กำลังเป็นเป้าประสงค์ของคนเป็นอันมาก จากทุกสาขาอาชีพ  ไม่ว่าจะเป็นคนเชื้อชาติใด  หรือนับถือศาสนาอะไร  ทำไมเพราะ “จิต” หรือ “ใจ” 

                         ธาตุรู้ที่สถิตย์อยู่ในร่างของมนุษย์  เป็น  “เจตน์จำนง”  อิสระ  ที่ทำงานโดยไม่ถือ  เชื้อชาติ  หรือศาสนาที่  “เจ้าของ”  สังกัดอยู่   งานของสมาธิ  เป็นงานที่ทำให้  “ใจ”  สามารถรู้แจ้ง หรือเข้าใจทะลุปรุโปร่งซึ่งสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง  และ“ใจที่มีสมาธิ”สามารถที่จะนำไปใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ   “ใจ”  ที่เป็นสมาธิ จึงเป็นกุญแจนำไปสู่ความสุข  และเป็นเครื่องมือกำจัดความทุกข์ได้   การที่จะเข้าใจธรรมชาติของจิตใจ  และสามารถนำไปใช้เพื่อกำจัดความทุกข์   และประสบความสุขได้  นับเป็นงานที่สำคัญอยู่เหนืออุปสรรคทางเชื้อชาติ  ทางวัฒนธรรม และทางศาสนา   ควรทำสมาธิหรือสามารถปฏิบัติได้ทุกคน  โดยไม่คำนึงถึงว่า   บุคคลนั้นนับถือศาสนาอะไร

             คนเราปัจจุบันต่างก็กระเสือกกระสนหาหนทางให้ได้มาซึ่งความสุข ท่ามกลางความโกลาหลของโลกยุค  IT   อย่างไรก็ตาม  สมาธิ เป็นทางเดียวที่จะช่วยท่านได้   เพราะว่า

 1.   ถ้าท่านเป็นคนที่มีธุรกิจท่วมหัว  สมาธิจะช่วยให้ท่านกำจัดความเครียดและสามารถ ผ่อนคลายได้มาก

 2.   ถ้าท่านเป็นคนวิตกจริต   สมาธิ  สามารถช่วยท่านระงับความวิตกกังวลและสามารถทำให้ท่านพบกับความสงบสุขอย่างถาวร   หรือไม่อย่างน้อยก็เป็นคราว ๆ ไป

 3.   ถ้าท่านเป็นคนที่มีปัญหาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด   สมาธิจะช่วยให้ท่านเกิดกำลังใจ และความเข้มแข็งที่จะเผชิญ  หรือเอาชนะปัญหาต่าง ๆ ได้

4.   ถ้าท่านขาดความมั่นใจในตัวเอง   สมาธิสามารถช่วยท่านให้เกิดความมั่นใจในตัวเองขึ้นมาได้อย่างมหัศจรรย์ และความเชื่อมั่นในตัวเองนี้เป็นความลับนำไปสู่ความสำเร็จ

5.   ถ้าท่านรู้สึกไม่พอใจในทุกๆ สิ่ง บรรดามี และรู้สึกว่าไม่มีอะไรเลยในชีวิตที่ดูเหมือนว่าท่านจะพอใจ   สมาธิจะให้โอกาสแก่ท่านในการที่จะพัฒนาและรักษาความพอใจไว้ภายในใจได้

 6.   ถ้าท่านเป็นคนขี้สงสัย และไม่สนใจในศาสนา    สมาธิสามารถช่วยท่านให้ข้ามพ้นจากความเป็นคนขี้สงสัยและมองเห็นคุณค่าแห่งการปฏิบัติตามคำแนะนำของศาสนา ได้อย่างดี

          7.   ถ้าท่านเกิดความรู้สึกคับข้องใจและผิดหวังอันเนื่องมาจากขาดความเข้าใจในธรรมชาติของชีวิต สมาธิจะนำท่านและช่วยท่านให้เข้าใจว่าท่านได้ถูกสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต   คือ ความคับข้องในนั้น  รบกวน  และทำลายเวลาอันมีค่าในชีวิตของท่าน

 8.   ถ้าท่านเป็นคนรวย    สมาธิจะช่วยให้ท่านตระหนักถึงธรรมชาติของทรัพย์สมบัติ และวิธีที่ใช้ทรัพย์ให้เกิดประโยชน์สำหรับความสุขของท่าน ของบุคคลรอบข้างรวมถึงเพื่อน มนุษย์บุคคลร่วมโลก

9.   ถ้าท่านเป็นคนยากจน   สมาธิจะช่วยให้ท่านมีความพอใจในระดับหนึ่งและไม่ก่อให้เกิดความอิจฉาบุคคลที่มั่งมีมากกว่าท่าน

10. ถ้าท่านยังหนุ่มแน่นที่เดินมาถึงทางแยกของชีวิต และท่านไม่รู้ว่าท่านควรจะเลี้ยวไปทางไหน    สมาธิจะช่วยให้ท่านเข้าใจว่าถนนสายไหนที่ท่านควรเลือกเดิน    เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่เหมาะสมสำหรับท่าน

          11. ถ้าท่านเป็นคนสูงอายุซึ่งรู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต  สมาธิจะทำให้ท่านเข้าใจชีวิตได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความเข้าใจชีวิตที่ลึกซึ้งนี้เอง ช่วยให้ท่านบรรเทาความทุกข์ในชีวิตและเพิ่มความสุข ของชีวิตให้มากขึ้น

          12. ถ้าท่านเป็นคนอารมณ์ร้อน    สมาธิจะทำให้ท่านสามารถพัฒนาพลังที่จะเอาชนะข้อเสีย คือ  ความโกรธ   ความเกลียดและความขุ่นเคืองได้

          13. ถ้าท่านเป็นคนขี้อิจฉาริษยา    สมาธิจะช่วยให้ท่านตระหนักถึงอันตรายของความอิจฉา ริษยา    และสามารถลดละความอิจฉาริษยาได้

          14. ถ้าท่านตกเป็นทาสของอารมณ์ความรู้สึก    สมาธิจะช่วยให้ท่านรู้วิธีที่จะเป็นนายของ    ตัณหา   ความอยากเหล่านั้นได้

          15. ถ้าท่านติดเครื่องดื่มหรือยาเสพติด    สมาธิสามารถทำให้ท่านระหนักถึงวิธีที่จะเอาชนะ   นิสัยที่เป็นอันตราย  ซึ่งทำให้ท่านตกเป็นทาสได้

          16. ถ้าท่านเป็นคนปัญญาทึบ   สมาธิจะเปิดโอกาสให้ท่านขัดเกลาความรู้จนสามารถนำไป ใช้ได้   และเป็นประโยชน์ทั้งแก่ท่าน  เพื่อนของท่านและครอบครัวของท่าน

          17. ถ้าท่านได้ปฏิบัติสมาธิอย่างจริงจัง   อารมณ์ของท่านจะไม่มีโอกาสทำให้ท่านเป็นคน  ขุ่นมัว   ปัญญาทึบอีกต่อไป

          18. ถ้าท่านเป็นคนฉลาดมีปัญญาบริบูรณ์อยู่แล้ว   สมาธิจะส่งเสริมให้ท่านได้บรรลุธรรมชั้น  สูง    และท่านก็จะสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามที่เป็นจริง   ไม่ใช่ตามที่มันปรากฏ

          19. ถ้าท่านเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนแอ  สมาธิสามารถทำให้จิตใจของท่านเข้มแข็งขึ้นเพื่อพัฒนา พลังแห่งเจตนา   จนสามารถเอาชนะความอ่อนแอของจิตได้

             นี้เป็นเพียงคุณประโยชน์บางประการที่เกิดจากการปฏิบัติสมาธิ  คุณประโยชน์เหล่านี้ไม่มีขายตามร้านตลาด  เงินก็ไม่สามารถจะซื้อได้แต่จะตกเป็นสมบัติประจำตัวของท่านหากท่านปฏิบัติสมาธิเป็นประจำ

             ในขณะที่เริ่มต้น   สมาธิทำให้สติเกิด   ทำให้จิตของผู้ทำสมาธิมีสติกำกับอย่างมั่นคง  และจิตที่มีสติกำกับนี้ก็สมารถจับจ้องสอดส่องจิตดวงอื่น ๆ  (ซึ่งหมายถึงจิตทุกดวงที่อยู่ในกระแสจิตของผู้ปฏิบัติสมาธิ)   เมื่อจิตดวงหนึ่งมีสติกำกับอยู่ก็สามารถพัฒนาความสามารถที่จะคอยตรวจดูจิตดวงนั้นเองว่า  ได้วอกแวกซัดส่ายไปไหน   และสามารถดึงกลับคืนได้รวดเร็ว

            เมื่อท่านเริ่มทำสมาธิครั้งแรก  สมควรจะเลือกหาสถานที่ที่สงบเงียบ   ควรเป็นสถานที่ห่างจากความพลุกพล่านจอแจ  และวุ่นวายสับสนด้วยวิถีชีวิต   สถานที่อาจเป็นห้องส่วนตัวของท่าน   อาจเป็นสวนที่มีต้นไม้ร่มรื่น และเงียบสงบ   หรืออาจเป็นห้องนอนของท่านเอง   หรืออะไรก็ได้ที่ท่านสามารถหาได้  และเมื่อเลือกได้แล้ว  ก็ให้ยึดที่นั้นทำสมาธิเป็นประจำ  ไม่ควรเปลี่ยนที่บ่อย ๆ

            ในขณะที่การปฏิบัติสมาธิดำเนินก้าวหน้าไปตามลำดับ ท่านสามารถปฏิบัติได้แม้ในขณะทำงานในห้องทำงานประจำวันของท่าน   ไม่จำเป็นต้องไปหาสถานที่สงบเงียบที่อื่น   เพราะเมื่อท่านทำสมาธิอยู่ตัวแล้ว  ที่ไหน ๆ ก็สามารถทำสมาธิได้

            สำหรับเวลาที่จะใช้ในการทำสมาธิ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของท่าน  แต่ขอให้ตั้งใจว่า  เมื่อเลือกเวลาใดเป็นเวลาทำสมาธิแล้ว  ก็ให้เวลานั้นเป็นเวลาสำหรับสมาธิจริงๆ  และควรลืมเรื่องอื่นทั้งหมดในช่วงเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่เคยทำประจำวัน กำหนดใจไม่ให้มีห่วงกังวล ตั้งสติกำหนดจิตไม่ให้สิ่งใดเข้ามาแทรกในขณะทำสมาธิ      อาจใช้อาณาปาณัสติวิธี    คือ  กำหนดลมหายใจ เข้า – ออก  จนกระทั่งจิตแน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียว   เป็นเวลานาน  ไม่วอกแวก  และสามารถทำอย่างนี้ได้ทุกครั้งที่ท่านกำหนดใจว่าจะเข้าสมาธิ  ระดับนี้ถือว่า  สมาธิคือส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน  ซึ่งจะทำให้ท่านมีใจสงบ  ไม่หงุดหงิดฟุ้งซ่าน   และยิ่งท่านทำได้นานเท่าไรก็มีแต่ทำให้จิตใจบริสุทธิ์สดใสไร้กังวล

             บางทีท่านอาจรู้สึกต้องการให้มีคนช่วย  เพื่อแนะนำและสอนท่าน  การจะมีผู้ช่วยบางทีก็ไม่ใช่ของง่ายที่จะหาครูสอนที่เหมาะสม  และมีคุณสมบัติที่จะสอนสมาธิ  ถ้าท่านมีเพื่อนที่ทำสมาธิอยู่ ก็ลองสนทนาปรึกษากับเขาดู เผื่อเขาจะสามารถแนะนำอะไรท่านได้ บางทีท่านอาจไปพบหนังสือ  หรือบทความเรื่องสมาธิ  ก็พยายามอ่านเก็บความรู้ไปใช้แทนครูได้   แต่ต้องตระหนักว่า  ทั้งครู  หนังสือ  หรือบทความ   ให้ความรู้แก่ท่านได้  แต่ไม่อาจทำสมาธิแทนท่านได้  ไม่สามารถตระหนักแทนท่านได้  ถ้าท่านสามารถพัฒนารวมพลังจิต และสติให้เข้มข้นสะอาด  และมั่นคงแน่วแน่  ก็เท่ากับความรู้ตัวที่เข้มข้นจะเป็นครูของท่านและมีประจำอยู่ในตัวของท่านอยู่แล้ว

             สำหรับท่านั่งในการนั่งสมาธิ   ท่านอาจเลือกนั่งแบบขัดสมาธิเต็ม  หรือแบบขัดสมาธิครึ่งก็ได้  แต่ถ้าแบบนี้ทำยาก  ก็สามารถนั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักหลังแบบตั้งตรง   ปล่อยเท้าวางบนพื้น  นั่งตามสบายตั้งตัวตรงไม่เอน  หลังไม่พิง  หรืออาจนอนหงายลำตัวเหยียดตรงได้ระดับ หรืออาจนั่งตัวตรงได้ดุลย์ไม่โย้หน้า  เอนหลัง   หรือเอียงซ้าย  เอียงขวา   ซึ่งสามารถทำให้ลำตัวตั้งตรงคงที่นั่งสบายไม่เกร็ง   ไม่แข็งทื่อ  แต่ถ้าลำคอ  และเอ็นยึดกระดูกสันหลังตั้งไม่ตรง   ท่านก็อาจรู้สึกเจ็บปวดหลังจากนั่งทำสมาธิได้เพียง  3  นาที

            ที่พูดมาทั้งหมดนี้   คิดว่าทำให้ท่านมองเห็นภาพรวมของสมาธิ  และคุณประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการทำสมาธิในชีวิตประจำวัน   เพื่อจะให้เข้าใจเรื่องสมาธิให้ละเอียด   กว้างขวาง   และลึกซึ้งกว่านี้  จึงขออธิบายคำ  “สมาธิ”  ว่าจริง ๆ แล้วหมายความว่าอย่างไร  ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่าย  สมาธิ  คือความตั้งมั่นแห่งจิต  หรือการรวมตัวเป็นหนึ่งหรือเป็นเอกัคคตา   แน่วแน่มั่นคงอยู่ในอารมณ์เดียว  เรียกว่า  สมถสมาธิ   เมื่อจิตตั้งมั่นในอารมณ์เดียว  สงบนิ่ง  เพ่งพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จนสามารถเกิดปัญญาเห็นแจ้งเห็นจริงในสิ่งที่พิจารณานั้น  เช่นเห็นแจ้งในสังขารทั้งหลายว่าไม่เที่ยงเป็นทุกข์และเป็นอนัตตา   เรียกว่า  วิปัสสนาสมาธิ   ถ้าท่านปฏิบัติวิปัสสนาสมาธิเป็นประจำ   ท่านก็จะสามารถรู้วิธีแก้ปัญหา  และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของท่านให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี

            สรุปว่า   สมถสมาธิ   เป็นวิธีการฝึกจิตให้สงบและพัฒนาจิตที่สงบแล้วให้มีกำลังแรง   คือทำให้อินทรีย์  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กายและใจมารวมอยู่ ณ จุดเดียวโดยมีพลังจิตกำกับ  ให้ส่งกระแส ไป ณ จุดเดียว   หรืออารมณ์เดียวนั้น  จิตที่มารวม  ณ จุดเดียว หรือเป็นดวงเดียวนี้จะมีกำลังแรง   เหมือนเลนซ์รวมแสงที่สามารถจุดเชื้อให้ไฟลุกไหม้ได้ฉันใด  จิตที่รวมพลังตั้งมั่น ณ จุดเดียว  ย่อมสามารถเพ่งพิจารณา  แก้ปัญหาชีวิตได้อย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดฉันนั้น

             เพราะฉะนั้น  จุดประสงค์ของสมาธิ  ก็เพื่อควบคุมจิตจากการท่องเที่ยวไปตามอำเภอใจ  คิดเรื่องนั้น  เรื่องนี้ กระสับกระส่าย ฟุ้งซ่านไปตามอารมณ์ ทำให้พลังงานของจิตกระจายตัวไปทุกทิศทาง   สมาธิจึงเป็นสิ่งจำเป็น  และมีคุณค่าในการตะล่อมจิตให้รวมจุด ณ จุดเดียว  มีพลังตั้งมั่น  พร้อมปัญญาที่เฉียบคม  เหมาะสมสำหรับใช้พินิจพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ให้รู้แจ้งแทงตลอด  และสามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้สำเร็จ

             หากท่านประสงค์จะพัฒนาจิตของท่านโดยพุทธสมาธิวิธี  ควรเริ่มด้วยบุพพกิจ  คือกิจที่ควรทำเบื้องต้น  เพื่อเป็นการปูพื้นหรือเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม  ก่อนอื่น (หากเป็นไปได้ควรบูชาพระรัตนตรัย  คือ พระพุทธ  พระธรรม  และพระสงฆ์  ด้วยเครื่องบูชา  คือจุดธูป (3 ดอกจุดเทียน (2 เล่มและมีดอกไม้ (ดอกบัว) ปักแจกัน  แล้วก้มลงกราบงามสามครั้ง  ตั้งนะโม 3 จบ  หากสวดบูชาพระรัตนตรัยได้ก็ยิ่งดี  ต่อจากนั้นตั้งจิตอธิษฐาน  ตั้งใจรักษาศีลห้า (อย่างน้อยเป็นการทำใจให้บริสุทธิ์    แล้วค่อยเริ่มนั่งสมาธิตามที่ได้อธิบายในภาพรวม ๆ มาข้างต้น  ที่สำคัญคือเมื่อทุกอย่างพร้อมแล้วให้หลับตาเบา ๆ แล้วตั้งใจกำหนดจิต ให้อยู่ในอารมณ์ที่เหมาะสมที่จิตของท่านจะยึดเป็นจุดเกาะติด    เพื่อให้ง่ายต่อการรวมจิตให้ยึดติดอยู่ ณ จุดเดียว  จิตของท่านจะมีสมาธิได้เร็ว  และมั่นคง ในการบำเพ็ญสมาธิตามหลักพระพุทธศาสนา  ท่านว่ามีอารมณ์กรรมฐานให้เลือกถึง  40  อย่าง  ให้ผู้บำเพ็ญสมาธิเลือกตามความเหมาะสมแก่จริต   หรือจิตอารมณ์ของแต่ละบุคคล

             จุดประสงค์  3  ประการของการดำเนินตามพุทธวิธี  ก็คือ  ต้องรักษาศีลห้า  เพื่อความบริสุทธิ์สะอาดทางกาย  และทางวาจา  ต้องมีใจตั้งมั่นในสมาธิ  เพื่อความสงบของจิต  และประการสุดท้าย  เมื่อจิตเป็นสมาธิ  ย่อมเกิดปัญญา  จิตที่มีปัญญา  ย่อมสว่าง  ใจของท่านจะสะอาด  เพราะมีศีล  ย่อมสงบ  เพราะมีสมาธิ  และย่อมสว่างเพราะมีปัญญา  ท่านก็จะเป็นคนสะอาด  สงบ  และสว่าง