สมานฉันท์ที่สังคมต้องการ

            ในการเรียกร้องหาความสมานฉันท์ให้เกิดมีในสังคมต้องยึดมั่นและปฏิบัติตามหลักคำสอนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า

1.   ให้ทำดีต่อกัน ( เมตตากายกรรม )

2.   ให้พูดดีต่อกัน ( เมตตาวจีกรรม )

3.   ให้คิดดีต่อกัน ( เมตตามโนกรรม )

4.   แบ่งปันผลประโยชน์ทั่วถึงกัน ( สาธารณโภคี )

5.   บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ( สีลสามัญญตา )

6.   ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน( ทิฎฐสามัญญตา )

ณ ปัจจุบันสังคมไทยกำลังแตกแยกอย่างรุนแรงมาก จนยากที่จะทำดี พูดดี และคิดดีต่อกัน

เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เกิดความแตกแยกคือ ( บทความเรื่อง"ความสมานฉันท์ " ที่เรียกร้องกันมานานกว่า 4 ปี )

1. การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเป็นกระบวนการยังความยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่ทุกคนอย่าง ไม่เท่าเทียมกัน

            2. การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ถูกอำนาจนอกระบบใช้เป็นเครื่องมือแอบอ้าง และแทรกแซง ทางนิติบัญญัติ,บริหารและตุลาการไม่รู้จักจบสิ้นตลอดมา

            3. ความพยายามที่จะใช้กระบวนการบัญญัติกฎหมาย เพื่อเอารัดเอาเปรียบระหว่างกลุ่มพวก โดยไม่คำนึงถึงกลุ่มประชาชน และสถานที่ได้รับ การดำรงอยู่ในสังคมไทย เป็นสำคัญ

        ในส่วนของหลักทิฏฐสามัญตา ที่เป็นตัวหนุนให้เกิดปัญหาของคนในสังคมถูกแทรกแซงและทำลายหลักการหลักวิชาและหลักธรรมเกือบหมดสิ้น

            ความไม่เป็นกลางและการไร้จรรยาบรรณของสื่อกระแสหลักทั้งวิทยุ โทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ที่มี ผู้มีอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ข้อมูลข่าวสารความรู้ที่นำเสนอบิดเบี้ยว

            ยามใดก็ตามที่สื่อหลายๆแหล่งถูกครอบงำทำลายและแทรกแซงหนักหน่วงรุนแรง เมื่อนั้นคนในสังคมจะกลายเป็นมิจฉาทิฏฐิทันที  เมื่อสังคมเต็มไปด้วยคนที่มีมิจฉาทิฏฐิ ความหายนะย่อมเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมวิบัติทันที 

            หลักสีลสามัญญตา คือหลักแห่งกฎหมายที่จะทำให้สังคมเกิดความสงบสุข แต่ปัจจุบันเกิดความบิดเบี้ยวอย่างหนัก เพราะมีการบังคับใช้แบบเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นทั่วไป

            เมื่อหลักสีลสามัญญตาบิดเบี้ยว หมายถึงความบิดเบี้ยวของหลักนิติธรรมของประเทศทั้งมวล

            พระพุทธองค์ตรัสว่าหลักนิติธรรมเป็นหลักธรรมในการปกครองและคุมครองชีวิตของคนในสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุข

            หลักนิติธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้มีวัตถุประสงค์ 5 ประการ คือ

            1. ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อความเรียบร้อยดีงามและเพื่อความผาสุกของสังคมทั่วไป

            2. ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อข่มหรือปราบบุคคลที่ควรข่มหรือควรปราบ

            3. ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อความอยู่ผาสุกของคนดีมีศีลธรรม 

            4. ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อระวังความเสื่อมเสีย ความทุกข์ ความเดือดร้อนของสังคมในปัจจุบันและในอนาคต

            5. ต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนที่ยังไม่มีความเชื่อมั่น ทั้งในสังคมและระหว่างสังคม

            เป็นที่ประจักษ์แจ้งชัดทั่วไปในสังคมไทยว่า หลังการปฏิวัติรัฐประหารแต่ละครั้งโดยเฉพาะวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ที่ผ่านมาได้เกิดขบวนการ ตุลาการภิวัฒน์ขึ้น อันเนื่องมาจากคณะผู้พิพากษาบางคณะ มีความจงใจในการจะใช้กระบวนการยุติธรรม ทางการเมืองที่ถูกเบี่ยงเบน ไว้สำหรับขจัด ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งลักษณะของการบังคับใช้กฎหมายอย่างนี้ถือว่าเป็นการอภิวัฒน์ไปในทางลบนั้นไม่สามารถนำมาแก้ไข หรือแม้แต่คลี่คลายความขัดแย้งในสังคมไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่จนถึงปัจจุบันได้ มีแต่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวลุกลามมากยิ่งๆขึ้นไปอีก ดั่งที่ปรากฏในพระพุทธพจน์ที่ว่า นะ สิยา โลกะ วัฑฒโน ( อย่าเป็นคนรกโลก )        

เมื่อคณะบุคคลที่ต้องใช้อำนาจตุลาการมีอคติย่อมทำให้กระบวนการยุติธรรมเกิดการยุติลงไปด้วยโดยสิ้นเชิงและเมื่อใดที่สังคมไม่มีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ก็จะกระทบต่อความมั่นคงทั้งด้านสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

           พระพุทธองค์ตรัสว่า เมื่อจิตถูกครอบงำ โดยอคติย่อมเป็นเหตุทำให้เกิดการกระทำที่ไร้สติสัมปชัญญะ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามมากมายเกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดีความ โดย เฉพาะคดีความที่เกี่ยวกับการเมืองหลังการปฏิวัติรัฐประหารเป็นต้น

            ดังนั้นถ้าสังคมไทยไม่สามารถนำสังคมกลับคืนสู่หลักการแห่งความอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกที่เรียกว่า “ สาราณียธรรม ” ได้ก็ยากที่จะนำความสมัครสมานสามัคคีสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้

 

            หลักแห่งความสมานฉันท์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ทั้ง 6 ข้อ เป็นหลักการที่ครอบคลุมหลักการใหญ่ 3 หลักการ คือ

            1. ศีล คือ หลักกฎหมายและการบังคับใช้     

            2. สมาธิ คือ หลักแห่งความสงบสุขและสันติในการแสดงออกทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ

            3. ปัญญา คือ หลักการแห่งการพัฒนาคนให้สามารถดำรงตนอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุข

            แม้ว่าจะได้มีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้นทำหน้าที่ แต่ถ้าไม่นำหลักการที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ไปใช้จริง ก็คงหวังที่จะให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในสังคมได้ยาก

            การสมานฉันท์จะต้องเริ่มสมานฉันท์กับตัวเองแต่ละคนเสียก่อน ไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของอำนาจนอกระบบ ที่ชี้นำ และต้องพยายามทำลายอคติออกจากจิตใจของตนเองให้ได้เสียก่อน มิฉะนั้นต่อให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่กี่คณะ ก็จะเป็นเพียงภาระของประชาชน ที่จะต้องจ่ายเงินงบประมาณให้เป็นผลตอบแทนโดยเปล่าประโยชน์ แต่ความวิกฤตของความแตกแยกของคนในชาติกลับจะรุนแรงมากขึ้นไม่รู้จบสิ้น

            จงสมานฉันท์กันด้วยการคิดดี พูดดี และทำดีต่อกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หาทางบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และยอมรับให้ความเคารพ ในการแสดงความคิดเห็นของกันและกันอย่างเป็นประชาธิปไตย แล้วความสมัครสมานสามัคคีจึงจะเกิดมีขึ้นในแผ่นดินอีกครั้ง ......!!!

*************

อ่านข้อมูลคำทำนายอนาคตประเทศ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ

แหล่งที่มา
                 ---  คอลัมน์ มองโลกมองธรรม นิตยสารเพาเวอร์มายด์ ฉบับวันที่ 1-30 กันยายน 2553 ผู้เขียน สอง อุบาสก

              -- 
" การกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย" ("To Return to a Democratic Thailand")    
                        หนังสือพิมพ์
The Asian Wall Street Journal ฉบับวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2550

                   --  เหตุผล 7 ประการ ‘ชาญวิทย์ เกษตรศิริ’ ทำไม ‘ไม่ ’ ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550

              --  Commentary: Thailand's real enemy is insincerity
                        ศัตรูตัวจริงของประเทศไทยคือความไม่จริงใจ Awzar ผู้เขียน : ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนในไทยและพม่า
                       http://www.upiasiaonline.com/human_rights/2007/06/07/commentary_thailands_real_enemy_is_insincerity

-- ตุลาการวิบัติ หายนะประเทศไทย เขียนโดย วิรัตน์ สุคนกานต์
-- จุดหักเหของกระบวนการยุติธรรมทางการเมืองในประเทศไทย เขียนโดย คณิน บุญสุวรรณ
-- นิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 7 มิถุนายน 2553 รายงานข่าวเรื่อง ชูธงแดงในประเทศไทย เขียนโดยฮันนาห์ บีซ