ในความทรงจำของคุณนิจ หิญชีระนันท์

29 มีนาคม 2554 วันก่อตั้งมูลนิธิ.......................

เรียนท่านประธานฯ สารวิบุล รามโกมุท ที่เคารพ

ผมมีจิตศรัทธา ขอโอนเงินผ่านธนาคาร มาเพิ่มทุนประเภท “ กองกลางของบุคคลทั่วไป ” รายของบิดา ลำดับที่ 152 คือพระสอนถูกระบอบและนางพยุง หิญชีระนันทน์ อีก 14,000 บาท อันเป็นเลขมงคล เพราะเป็นจำนวนทรัพย์สินเริ่มแรกจดทะเบียนก่อตั้งมูลนิธิ สัมมาชีวศิลปมูลนิธิ เมื่อ 62 ปีก่อน คือ วันที่ 29 มีนาคม 2492

ท่านอาจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์ เป็นผู้เล็งเห็น ผลร้ายหลายประการที่เกิดจากการพัฒนาแบบไร้ความสมดุลย์ เพราะฉะนั้น เมื่อกลุ่มอนุรักษ์ของเรา ไปขอเชิญท่านมาเป็นประธานองค์สนทนา ท่านจึงยอมรับคำเชิญด้วยความเต็มใจ ดังสำเนารายการที่ผมขออนุญาตแนบมาพร้อมนี้

รายการสนทนา

เรื่อง “ การอนุรักษ์วัดในพระนคร ”
ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลสงฆ์
วันพุธที่ ๓ กันยายน ๒๕๑๒ เวลา ๑๗.๐๐ น.

หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ประธานองค์สนทนา
นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องค์สนทนา
ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ องค์สนทนา
นายวทัญญู ณ ถลาง องค์สนทนา
นายอุรา สุนทรสารทูล องค์สนทนา

--------------------------------------------------

และประชาชนผู้มีเกียรร่วมฟังการสนทนา ประกอบด้วย ม.จ. หญิงพูนพิสมัย ดิสกุล องค์ประธานพุทธสาสนิกชนโลก และจะทรงประทานเงินที่พุทธสานิกชนร่วมบริจาคในการอนุรักษ์ เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา

ในรายนามของผู้มีจิตกุศลบริจาคปัจจัยเข้าสมทบกองทุนกองกลางฯ กองทุนปุญญนิธิฯ กองทุนสวัสดิการฯ กองทุนอุปการะ ฯ กองทุนส่งเสริมกิจการ ฯ ฯลฯ ที่ผมพอรู้จักคุ้นเคยอยู่บ้างนั้น มี อยู่หลายท่าน ( บางท่านก็เป็นศิษย์ของท่านอาจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ด้วยกัน ) เช่น อ.เทียน อัชกุล ซึ่งเคยสอนผมที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ( จุฬา ฯ ) ระหว่าง พ.ศ.2482-2484 ก่อนที่ท่านไปดำรงต่ำแหน่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ สี่พี่น้องสกุลสีบุญเรือง, คุณหญิงประกอบ นิติสาร พ.ญ.จินตาภา สายัณนวิกสิต อ.ลดา รัตกสิกร และหม่อมมาลินี สุขสวัสดิ์ฯ เชาว์ ทองมา ซึ่งสอบชิงทุนรัฐบาลรุ่นเดียวกับผม ท่านไปศึกษาที่ฝรังเศษ กลับมาทำงานที่กรมไปรษณีย์โทรเลขจนเป็นอธิบดี ขณะนี้บวชเป็นภิกษุอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ สกลนครในบั้นปลาย อ.ฐะปะนีย์ นาครทรรพ. อ.วิโรจน์ ศิริอัฐ. อ.แสง จันทร์งาม. ม.ร.ว. สุพิชา โสณกุล. พลเรือเอกสมบูรณ์ เชื้อพิบูลย์ นาวาโท เกษม สุขะปิณฑะ อ.สมนึกและสืบศรี คำอุไร อ.ชุมพล และอ. ฆรณี สุรินทราบูรณ์. ดร.สุชาติ รัตนกุล. อ.สมัยศารท สนิทวงศ์ ฯ อ.เฉลิมวรรณ ชูทรัพย์ น.พ.อาจินต์ บุณยเกตุ น.พ.สุพจน์ อ่างแก้ว ฯลฯ

สำหรับท่านอาจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์นั้น เป็นผู้ที่มีความกตัญญูอย่างแรงกล้า ได้ถามถึงบิดาของผม ซึ่งเป็นครูของท่าน เมื่อทราบว่ายังมีชีวิตอยู่ ก็นัดให้ผมมาขับรถนำรถของท่านจากบ้านเชิงสะพานหัวช้าง ถนนพญาไทไปกราบบิดาของผมพร้อมด้วยน้ำสลัด( เข้าใจว่าเป็นฝีมือคุณน้าสังวาลย์ ) ที่บ้านฝั่งธน. เป็นภาพที่ตรึงใจและติดตาผมมาจนบัดนี้ .

วันนั้น พี่เรืองอุไร กุศลาสัย มิได้รับรองอยู่ด้วย มิฉะนั้นคงจะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก เหมือนเมื่อครั้งที่ท่านอาจารย์ หลวงอิงคศรีกสิการ (อินทรีย์ จันทรสถิต ) ไปกราบบิดาของผมเช่นเดียวกัน.

ในช่วงเวลาที่ท่านอาจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์ ยอมรับเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะคือรุ่นผมระหว่าง พ.ศ.2484 – 2488 นอกเหนือจากวิชาการ ท่านยังเล็งเห็นนิสิตบางคน มีแววที่จะรับความรู้ทางศาสนาได้ ท่านจึงชวนกลุ่มของเราซึ่งมี วทัญญู ณ ถลาง ( น้อง อ.ฐะปะนีย์ ) เจนจิตต์ กุณฑลบุตร. ตระหนัก เทพวัลย์ เปล่ง โกมลจันทร์ ( บวช ตลอดชีวิต ) และตัวผมเองไปฝึกสมาธิในวันว่างกับท่าน ที่บ้านในซอยเชิงสะพานหัวช้างอยู่หลายเดือน

ระหว่างนั้น ท่านได้รับกรรมจากภัยพิบัติการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินในสงครามโลกครั้งที่ 2 พวกเราได้ไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลกลางหลายครั้ง เมื่อท่านหายดีแล้วไม่กี่ปีถัดมา ท่านก็ได้โอกาสก่อตั้ง สัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ หยั่งรากลึกยั่งยืนมาจนบัดนี้.

ในที่สุดนี้ ผมขอให้ท่านประธานสารวิบุลที่เคารพ ได้โปรดรับกุศลเจตนาของผมที่มีต่อมูลนิธิ เป็นการสานเพิ่มการก่อของท่านอาจารย์หลวงปริญญาโยควิบูลย์และพระสอนถูกระบอบกับภรรยาที่กระทำไว้ดีแล้ว และผมขอตั้งจิตอธิฐานให้มูลนิธิภายใต้การดำเนินงานของท่านและคณะ ประสบแต่ความสำเร็จและมีความสำเร็จเจริญยั่งยืนยิ่งๆ ขึ้นไปชั่วกาลนาน.