ผู้ปลุกสำนึกครู
หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา

ภาระหนักหน่วงสำหรับบางคน อาจปลงวางลงได้ ในเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่สำหรับอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร
ของเด็กๆ แล้ว มันคือหน้าที่ของครูคนหนึ่ง ที่ทำงานมาตลอด ๘๐ กว่าปี  จวบจนวันนี้
ประวัติ    เกิด ๑๔ ธันวาคม ๒๔๖๗ ที่จังหวัดภูเก็ต บิดา
/มารดา หลวงอิสเรศรักษา (ปลื้ม ณ ถลาง) นางดรุณ อิศเรศรักษา    ๒๑ ก.. ๒๔๙๔ เป็นหม่อมในพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ มีบุตรชาย ๒ คนคือ ม... สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพันเอก ม...วโรรส บริพัตร

อาชีพ ครู นักเขียน นักการศึกษา

การศึกษา
๒๔๗๗ สำเร็จชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนปลูกปัญญา จังหวัดภูเก็ต
๒๔๘๓ สำเร็จชั้นมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนมาแตร์เดอี พระนคร
๒๔๘๕ สำเร็จชั้นเตรียมอุดมศึกษา พระนคร
๒๔๙๐ ได้รับปริญญาตรีทางอักษรศาสตร์ อ.. (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒๔๙๑ ได้อนุปริญญาทางคุรุศาสตร์ ป.. (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒๔๙๒ ได้รับทุนการศึกษาคุรุสภาไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
๒๔๙๔ ได้รับปริญญาโททางพัฒนาการเด็ก จากมหาวิทยาลัยมิลล์(M.A.-Child Development, Mills C0llege, Califonia)
๒๔๙๔ ได้รับอนุปริญญาทางการเลี้ยงเด็ก (Nursery) จากมหาวิทยาลัยมิลล์(Certificate in Nusery School Teaching , Mills College Califonia)

การทำงาน
๒๔๙๘ -เปิดศูนย์เลี้ยงเด็ก (Nursery)เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ที่โรงเรียนสมประสงค์
-
เปิดโรงเรียนอนุบาล-ประถม ชื่อว่าโรงเรียนสมประสงค์ ตั้งอยู่ ซอยเพชรบุรี ๑๓ (ซอยสมประสงค์ ๒) ถนนเพชรบุรี กทม.๑๐๔๐๐ โทรศัพท์/โทรสาร ๐๒-๒๕๒๘๙๗๒ ปิดดำเนินการเมื่อปี พ..๒๕๓๘ รวมระยะเวลา ๔๐ ปี
-
พิมพ์หนังสือผ้าสำหรับเด็กอ่อน ๒ เล่ม เป็นครั้งแรก โดยร้านโขมพัสตร์ นับเป็นหนังสือภาพ เล่มแรก สำหรับเด็กปฐมวัย  ฯลฯ

แรงจูงใจที่มาทำงานเกี่ยวกับเด็ก
ดิฉันมีแม่เป็นครู ตอนแรกตั้งใจเป็นหมอ แต่พอไปเรียนเข้าจริงๆ รู้ว่าการเรียนบางวิชาจะต้องฆ่ากบ เลยไม่เอา อยากหันมาเรียน ทางศิลปะแทน แม่บอกขอเถอะ จะไม่เป็นครูก็ได้ แต่อยากให้ลูกเรียนครู  เมื่อเรียนจบแล้วดิฉันคิดว่าตัวเองคงจะทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเป็นครู และได้ทุนไปเรียนเมืองนอก ให้เลือกระหว่างอเมริกากับอังกฤษ ก็เห็นว่าการศึกษาทางอังกฤษของเรามีมากแล้ว จะลองไปอเมริกาดู เผอิญว่าโรงเรียนนี้ขึ้นชื่อในเรื่อง Child Development ซึ่งเป็นของใหม่ ดิฉันเรียนเป็นคนแรกของเมืองไทย ถึงได้รู้ว่าสิ่งที่เราคิดว่าชีวิตเหมือนตั้งต้นเมื่ออายุ ๖ ขวบ นี่ไม่ใช่แล้วนะ มันเริ่มต้นที่ ๒ ขวบ พอกลับมาเมืองไทย ก็เปิดสถานรับเลี้ยงเด็กเป็นแห่งแรกในปี พ.. 2499 รับเด็ก ๒ ขวบ ทีนี้คนก็เอาอย่าง เปิดตาม เมื่อเห็นว่าเด็กไปโรงเรียนได้ ก็เลยเอาเด็กเข้า ๓ ขวบไปเรียนกลุ่มเดียวกับเด็ก ๕ ขวบ โดยไม่เข้าใจว่า วิธีการดูแล การเรียนรู้ไม่เหมือนกัน มันก็สับสนตั้งแต่นั้นมา 
           เมื่อจับเด็ก ๓ ขวบสอนอย่างเดียวกับเด็ก ๕ ขวบ เด็ก ๕ ขวบก็สอนอย่างเด็ก ป
.๑ ถึงได้เกิดความวุ่นวาย เพราะเขาไม่เข้าใจว่า เด็กเล็กกับเด็กโตมีพัฒนาการที่ไม่เหมือนกัน ยิ่งตอนปลายศตวรรษที่ ๒๐ เขาเน้น และให้ความสำคัญ เรื่องสมอง แม้แต่อเมริกา ก็ตั้งชื่อให้เป็นทศวรรษแห่งสมอง ถึงได้เห็นว่า กระบวนการเรียนรู้ มันเริ่มต้นตั้งแต่เด็กอยู่ในครรภ์ ดิฉันชอบวิธีการของโรงเรียนนี้มาก คือ ครูอายุ ๙๐ ซึ่งเป็นผู้บุกเบิก คนแรก เป็นครูที่เก่งมาก สิ่งที่เขาสอนตอนนั้นยังไม่เคยได้ยินมาก่อน แม้ถึงเดี๋ยวนี้ ก็ยังไม่ล้าสมัย
ความเข้าใจเรื่องเด็ก
ก็ยังเป็นจุดบอด และกว่าที่รัฐบาลจะเห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย กว่าจะอยู่ในแผนการศึกษาของชาติ ก็ไม่กี่ปีมานี่เอง เมื่อสมัยที่ดิฉันกลับมาตั้งโรงเรียน ตอนนั้นรัฐบาลยังไม่เห็นความสำคัญของเด็กปฐมวัย มีกฎกระทรวงเขียนเป็นตัวอักษรว่าครูที่จะสอนเด็กปฐมวัย หรือเด็กอนุบาล ไม่จำเป็นต้องมีวุฒิครู เราเห็น ก็ช็อกเลย จริงๆ แล้วความรู้สึกที่รู้คุณค่าของเด็ก Appreciate เด็ก ความเป็นสิทธิของการเป็นเด็ก ทั้งหมดนี้ เป็นความคิดของคนตะวันตก ดิฉันพูดเสมอว่า เรานี่ต้องขอบใจพวกท่านที่สอนให้รู้เห็นค่าของเด็กๆ ว่า พวกเขาไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก ความแตกต่างอยู่ตรงนี้ เราอาจรักเด็กจริง แต่เราไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับเด็ก จนกระทั่งบัดนี้ เราไม่รู้ว่าเด็กควรจะได้รับอะไร ทั้งในเรื่องการกินอยู่ หลับนอน ตามด้วยความรู้เรื่อง พัฒนาการทางสมองที่ต่อมาก็เห็นความสำคัญกันมาก แต่ก็ยังเห็นเฉพาะในผู้ที่เรียนทางด้านนี้มา แม้คำว่าปฐมวัย จริงๆ แล้วก็หมายถึงเด็กตั้งแต่จุดปฏิสนธิจนถึง ๗ ขวบ
การปลูกฝังควรเริ่มเมื่อไร
เริ่มที่ครอบครัว มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นชัดเจนมากว่าเด็กต้องได้รับการปลูกฝังทุกอย่างตั้งแต่ในท้อง ถ้าทำก่อน ๔ ขวบจะได้ผล ๑๐๐% หลัง ๔ ขวบจะได้ผลลดลงครึ่งหนึ่ง ถ้าถึง ๖ ขวบก็สายไปแล้ว แต่มีข้อแม้ว่าถึงจะหลัง ๖ ขวบ ถ้าเด็กมีกัลยาณมิตรดี เจอครูดี เจอสิ่งแวดล้อมดีก็ยังมีโอกาสที่ดีในการพัฒนาได้ แต่ตอนนั้นมันเป็น Second Chance  
                     รัฐบาลเองสมัยนี้ปากก็บอกว่าเห็นความสำคัญของการศึกษาในเด็กเล็ก แต่ดิฉันบอกว่า รู้ไหมเวลานี้ เราปล่อยให้วัยทองของเด็ก อยู่ในมือคนที่เรียกว่า ด้อยการศึกษาที่สุด คือพี่เลี้ยง เขากลับไม่เห็น ความเกี่ยวเนื่องกัน ดิฉันพูดเรื่องนี้หลายปีมาแล้ว เราให้พ่อแม่เด็ก ร่วมมือกัน โดยดิฉันเชิญศูนย์รับเลี้ยง เด็กต่างๆ ที่มีพี่เลี้ยงมาอบรม ซึ่งเขาบอกว่าเขาอบรมมาแล้ว แต่ความจริงไม่ใช่ มันเป็นการค้าไปหมด ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก กลายเป็นแค่ที่รับจ้างเลี้ยงเด็ก ถ้าจะให้ได้เงินดีก็ติดป้ายบอกว่าเป็น
Inter ด้วย และการเลี้ยงดูก็ใช้วิธีแบบ Inter ที่จริงไม่มีอะไร เด็กที่ออกมาก็ไม่ได้อะไร เข้าไปชุบมือเหมือนชุบแป้งนี่ โดยพี่เลี้ยงได้ค่าทิปเดือนหนึ่ง เป็นเงินมากกว่า คนจบปริญญาตรี ที่เริ่มต้น ๘,๐๐๐ บาทเสียอีก ไม่ได้พูดว่า โง่นะ แต่เพราะไม่รู้จักวิธีสอน พอเราเขี่ยเข้า เขาก็บอกว่าเขาทำแล้ว รัฐบาลเอง ก็ไม่มีการควบคุมเลย ดิฉันก็เลยรณรงค์ด้วยการบอกโรงเรียนต่างๆ ที่ชอบพอกัน และอยู่ในเครือเดียวกันว่า ใครที่รับเด็ก ๕ ขวบ ให้รับเด็ก อายุต่ำลงมาถึง ๒ ขวบ ส่วนใครรับเด็ก ๒ ขวบอยู่แล้ว ก็ให้รับตั้งแต่ก่อน ๑ ขวบเลยด้วยซ้ำ คือหมายความว่าจะให้การศึกษาแก่แม่นั่นเอง เดี๋ยวนี้ศตวรรษใหม่ เขาถือว่าพ่อแม่เป็น Partner จริงๆ คือ ต้องร่วมกันดูแลเด็ก ถึงจะสำเร็จเพราะว่าทำคนเดียวไม่ได้ แต่ที่จะมาอวดฉลาด ว่าโรงเรียนทำได้เก่งอยู่แล้ว ผู้ปกครองไม่เกี่ยวข้องก็ได้ อันนี้ผิดพลาด
หลักสูตรการพัฒนาเด็ก
เขาก็พูดได้ ทำให้เด็กดีด้วย เก่งด้วย แต่ในเรื่องวิธีทำของเรามันตายมานานแล้ว แม้แต่ในด้านการสอน เมื่อเร็วๆ นี้ดิฉันไปปีนัง ไปสัมผัสวิธีการสอนธรรมะเพื่อให้เรารู้จักตัวเอง ต้องยอมรับว่าฝรั่งนี่เขาฉลาด ที่จะเอา ความคิด ของทางคริสต์ พุทธ และปรัชญาต่างๆ ไปแตกออก ทำให้มันปฏิบัติได้ง่ายขึ้น ให้เป็นรูปธรรม เป็นระบบ เขามีความเพียรที่จะให้ทั้งความเข้าใจ และสอนปฏิบัติแก่ลูกศิษย์ ต้องปล้ำ เอาจนได้ คิดกิจกรรมมากมาย แม้แต่วิธีนั่งสมาธิเขาก็ไม่ได้ให้นั่งเพียงอย่างเดียว เขาใช้หลายๆ วิธี อันนี้ ต้องบอกว่า เขามีการทำงานเป็นระบบจริงๆ การปฏิบัติไม่ใช่แค่เพียงทฤษฎี แก่นของพระพุทธศาสนา คือการรู้จักตนเอง เขาก็มีกิจกรรม ในการสอนให้รู้จักตัวเอง โดยเอาของดีของเราไปปรับใช้อย่างเหมาะสม เราต้องเอากลับมาใช้บ้าง  เขาฉลาด และเขาก็ไม่ละความเพียร เขาคิดค่าเฉลี่ยของคนทั่วไปส่วนใหญ่เหมือนบัวใต้น้ำ โดยแต่ละคน มีวิธีเข้าใจ มีความฉลาดผิดกัน มีสไตล์ในการเรียนรู้ หรือรับรู้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น การให้นั่งฟังอย่างเดียว ไม่มีทางสำเร็จได้ 
            เมื่อปี ๒๕๑๘ เราทำหลักสูตรพัฒนาเด็ก ดิฉันเป็นอาจารย์เอกชนเพียงคนเดียวที่เข้าไปนั่งในนั้น เป็นที่ปรึกษา คนเดียว ที่ไปทุกวันเลย ทำเรื่องหน่วย หมวด ๓ มีวิชาพลศึกษา ศิลปะนาฏศิลป์ และเรื่องศีลธรรม ดิฉันพูดคำแรกว่า เราสอนศาสนาแต่เรื่องเปลือกนอกกัน พอขึ้นต้นหลักสูตร วางแผนการสอน ก่อนเลยว่า วันวิสาขบูชาสำคัญอย่างไร พระพุทธเจ้าคือใคร อะไรต่างๆ มันก็โอเค ทุกคนรู้ว่า ชาวพุทธควรรู้เรื่องเหล่านี้ แต่เราไม่ได้มาดูว่าถ้าคุณธรรมมันยังไม่มี จะปลูกฝังให้เกิดได้อย่างไร เช่นความซื่อสัตย์ แบบจีน ความซื่อสัตย์ แบบฝรั่ง ของเขาซื่อสัตย์ก็คือซื่อสัตย์ เรามาช่วยกันคิดได้ไหมว่า คุณธรรมที่เป็นสากลจริงๆ คืออะไร ทำไมเราไม่คิดถึงการปฏิบัติ มัวแต่สอนด้วยปากเฉยๆ นี่มันยังทำให้เกิด คุณธรรมไม่ได้ เวลานี้เราตามหลังเขา กิจกรรมที่จัดต่างๆ เพื่อให้เรียนรู้ จากการปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรมนั้น เราสู้เขาไม่ได้ ขนาดอิสราเอล ซึ่งมีศาสนาของเขา เขาก็ยังสนใจวิธีนี้ สนใจถึงแกน อันคือจิตวิญญาณเลย เดี๋ยวนี้พวกครูเก่งๆ พูดถึง จิตวิญญาณ แต่เรายังเตาะแตะๆ อยู่เลย 
วิญญาณครูมีลักษณะอย่างไร
ต้องเป็นแม่ด้วย เป็นแม่และเป็นอะไรอีกหลายอย่าง คือแม่ต้องเป็นครู และครูต้องมีความเป็นแม่ แยกไม่ออกเลย เป็น Partner กันจริงๆ นั่นคือวิญญาณครูแท้จริง ต้องมีเมตตา ต้องมีความเป็นพรหม ในความเป็นแม่ คือความเป็นพรหม โดยตัวสำคัญต้องมีเมตตาจิต และเป็นคนที่ปฏิบัติโดยไม่ใช่แค่รู้ทฤษฎี ต้องปฏิบัติถึงใจด้วย   ก็ดีใจว่าตอนนี้มีคณะกรรมการที่ทำเรื่องนี้ พวกเขาขานรับข้อกำหนดต่างๆ จากสหประชาชาติ ที่กดดัน ให้ต้องช่วยเด็กในเรื่องสิทธิ ช่วยเรื่องเด็กติดยาเสพติด ฯลฯ จึงต้องหันมาสนใจเรื่องนี้มากขึ้น มีประโยคหนึ่ง ดิฉันดีใจมาก รู้สึกมันมีกรอบที่ชัดเจนขึ้นว่า มีคนที่เข้าใจเรื่องศาสนาจริงๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยบอกว่า เวลาจะทำอะไรกับเด็กให้นึกถึงพัฒนาการของเด็กในด้านจิตใจ และวิญญาณ ซึ่งขานรับกับสิ่งที่ มีคนทำนายไว้ ตอนปลายศตวรรษที่ ๒๐ ช่วง ค..๑๙๘๐ เขาบอกถึงยุคใหม่การศึกษาอบรมต่างๆ ต้องทำ ๓ ระดับ คือ ระดับสามัญสำนึก ระดับเหนือจิตสำนึก ระดับใต้จิตสำนึกด้วย สิ่งที่เหนือสำนึก เช่น นักวิทยาศาสตร์ ที่ยอมรับ ในเรื่องพลังงานต่างๆ เป็นต้น ส่วนจิตใต้สำนึกจะช่วยในเรื่องคุณธรรมต่างๆ ให้รู้จักตัวเอง แล้วต้องขุดเข้าไปลึกๆ ถึงจิตใต้สำนึกโดยมีกระบวนการต่างๆ ลงถึงขั้นนั้นให้ได้ 
เวลาที่ผ่านไปอาจารย์พอใจกับผลงานตัวเองมากน้อยแค่ไหน

ไม่พอใจ คือว่าเมื่อตอนแรกๆ ดิฉันเข้าใจว่าตัวเองเป็น Superman อบรมคนทีละ ๒๐๐-๓๐๐ คน หวังเล็งผลเลิศ ว่าเขาจะกลับไปพัฒนา แต่มันจมหายหมด ไปรณรงค์ถึงที่ก็ทำนะ ถือว่าการรณรงค์ คือการออกไปหาคน และก็พูดหรือทำให้เขาเห็น แต่กว่าจะรู้ตัวว่าเราโง่ ก็ใช้เวลา อยู่หลายปี ได้ออกไปทำ ที่ต่างจังหวัด ทำอยู่ ๑๙ ปี ควักทั้งเงินตัวเอง และหาเงินมาช่วยเขาด้วย ให้ครูมาอบรม ๒ วัน เสาร์-อาทิตย์ ไม่ต้องรองบ สนับสนุน แต่มีข้อแม้ว่าต้องเข้ามาอบรมให้ได้ ๒๐๐ คนต่อรุ่น ก็ได้ผลระดับหนึ่ง ต้องเอาเงินมา ครั้งละ ๔ หมื่น เพื่อเชิญครู มาจากอิสราเอลช่วยอบรม ค่าเครื่องบินตอนนั้นแพงมาก ประมาณ ๕-๖ หมื่น ดิฉันก็ออกเงินส่วนตัวสมทบ หรือใครจะเข้ามาช่วยก็ได้  มันเป็นการทำงานที่แผ่กว้างออกไปมาก ก็ได้ผลว่าเราไปกระตุ้นเท่านั้น และก็เริ่มเข้าใจจริงๆ ภายใน ๑๐ ปีหลังนี้เอง โดยไปอบรม ตามโรงเรียน ให้โรงเรียนเขาจัดกลุ่มกัน มีโรงเรียนประมาณ ๒๐ แห่งที่พูดกันรู้เรื่อง พวกนี้ก็กลับมาบ่นว่าพูดกับคนอื่นเขาไม่รู้เรื่อง อย่างที่พวกเราทำ เขาไม่รู้เรื่อง อบรมไปอบรมมา จนกรอบ ไปทั้งตัวเลย แต่เปล่าพอเข้าไปในห้องก็รู้แล้วว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น แม้แต่โรงเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นผู้นำ ในการศึกษามาร้อยกว่าปี ก็ไม่มีอะไรกระดิกเลย  การอบรมของเขาคือ หนีบเอาแฟ้มเข้าไปนั่งเขียน รูปแบบนี้ดิฉันพัฒนามาหมดแล้ว ตั้งแต่ทั้งการเดินตุกติกๆ ใส่ตุ้มหู รองเท้าส้นสูง จนถอดลงคลุกกับพื้น ไม่มีเก้าอี้ให้นั่ง ดิฉันไม่ให้มี อันนี้ก็พัฒนามาก่อนแล้ว ๓๐-๔๐ ปี จนดิฉันมีความมั่นใจ และแน่ใจว่า ถ้าจะให้เห็นพฤติกรรม เปลี่ยนแปลงกับเด็ก หากไม่เปลี่ยนครูก่อน จะเป็นไปไม่ได้เลย แม้คำพูดที่ออกมาว่า Child Center เอาเข้าจริงแล้ว ถึงจะใช้เด็ก เป็นศูนย์กลาง แต่ก็ต้อง อาศัยครูอยู่ดี เพียงแต่มันซับซ้อนยิ่งกว่าเดิมเท่านั้น 
เวลามีอารมณ์กับเด็กควรทำอย่างไร
ต้องเคลียร์ตัวเองก่อน จัดการล้างวิญญาณใหม่ รู้จักตนเอง พัฒนาตนเอง ถ้าเราคุมและไวต่อชีวิตข้างใน ของเราเอง สิ่งที่ดีหรือไม่ดีในตัวเรา เราก็จะคุม ไวในการดูคนอื่นด้วย เราก็จะรู้จักปลดปล่อย การกดไว้ มันไม่ดีทั้งนั้น ทีนี้ยุคเราก็อายในการที่จะปฏิบัติตัวเอง รู้จักตัวเอง แต่เวลานี้ความโน้มเอียงในการช่วยตัวเอง และถึงเขาแนะ ให้ช่วยตัวเองก็ยังไม่ช่วยอีก ก็ยิ่งไม่ได้ เขามีกรุ๊ป Therapy ก็ไม่ชอบ ต้องฝืนใจทำ และต้อง คุ้ยออกมาให้หมด มันถึงจะเข้าใจคนอื่น ไม่งั้นมันทำไม่ได้ อันนี้ต้องมาก่อน ประการที่สอง เรื่องเมตตา สำคัญมาก ต้องทำจริงๆ แล้วก็ไม่ยากถ้ารู้วิธี บอกแล้วว่าฝรั่งเขาเก่ง เราต้องยอมรับ เปิดใจรับว่า เขาเก่งกว่าเรา เขานำความคิดของทางพุทธของทางตะวันออกไปใช้ ทำจนเป็นระบบ เป็นขั้นตอนหลากหลาย จริตคนหนึ่ง จริตทั่วไปหลายจริต ต้องยอมรับในข้อนี้ ไม่เชื่อไม่เป็นไร ทดลองใช้
เมื่อครูโกรธ จะสอนเด็กอย่างไร
เรื่องความโกรธ เราเคยสอนเด็กอยู่เสมอว่าความโกรธไม่ดี ไม่ให้โกรธ แต่ทำได้ไหม? ถ้าตัวครูเอง ยังทำไม่ได้เลย ฉะนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ ให้ยอมรับความจริง แล้วชี้ให้เห็นว่า ความโกรธเป็นอย่างไร เด็กจะได้เห็นตัวอย่าง วันนี้ครูโกรธนะ ครูหงุดหงิดนะ เพราะฉะนั้นขอให้นั่งนิ่งๆ เดี๋ยวครู จะโมโหเอา คือให้ยอมรับความจริงว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้ แต่ให้เด็กเห็นว่าเมื่อโกรธแล้วเรามีวิธีบังคับตัวเองอย่างไร เช่น ครูจะเงียบ ไม่พูดอะไรเพราะกำลังโกรธ เดี๋ยวครูใจเย็นๆ แล้วค่อยคุยกันใหม่ ก็ทำให้เด็กดูเป็นแบบอย่างว่า เวลาโกรธต้องไม่ร้อง ไม่พรวดพราด ไม่ดิ้นตึงตัง ครูต้องหาโอกาสคลุกคลี เล่นกับเด็กบ้าง และเมื่อไร ควรหัดให้เขามีสัมมาคารวะ การคลุกคลีกับเด็กมันจะมีจังหวะของมัน เราจึงสามารถ คลุกคลีกับเด็กได้ โดยไม่ให้เขาก้ำเกินเรา   ครูที่เก่งต้องด่าเก่ง มีศิลปะในการด่าคำพูดที่ใช้เป็นศิลปะ ด่าด้วยสติ ต้องกรองคิดก่อนแล้วค่อยพูด ต้องรู้จักเทคนิคนำมาใช้ ทุกคน มีขอบเขตจำกัด จะใช้วิธีของคนใดคนหนึ่งไม่ได้
ปลายทางชีวิต
เป็นมาแล้วทั้งนักเขียน นักแปล นักพัฒนา หมด ทั้งชาวบ้าน นักศึกษา ครู เด็ก ครบ ตอนหลังมาถึงทางแยก ซึ่งเห็นว่า ทำหลายอย่างไม่ดี ถามตัวเองว่าอะไรสำคัญที่สุด ก็ตอบได้ว่าครูกับนักเขียน ก็เลยเลิกอย่างอื่น ใกล้จะจบเรื่องครู เหลือเขียนหนังสืออย่างเดียว แล้วก็ปฏิบัติธรรม

- เราคิดอะไร ฉบับที่ ๑๗๙ มิถุนายน ๒๕๔๘ -