สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

          ๏ ถวายบังคม พระบรม มหาราช           ผู้กู้ชาติ ให้พ้นภัย อันใหญ่หลวง

ปราบเสี้ยนหนาม แผ่นดิน สิ้นทั้งปวง             จนลุล่วง ตราบวันนี้ ยังมีไทย

ประวัติศาสตร์ ยกย่อง ยอดเยี่ยมยุทธ            วีรบุรุษ อยุธยา ถิ่นอาศัย

เอกราช ของแผ่นดิน ไม่สิ้นไป                      ความเป็นไทย ดำรง คงอยู่ดี

ไทยโศกเศร้า เสียกรุง ครั้งที่สอง                            สุดเศร้าหมอง เสื่อมสง่า สิ้นราศี

พระสยาม ปัดเป่า เหล่าไพรี                          กู้เกียรติศรี กลับคืน ฟื้นแผ่นดิน

อยุธยา ยับเยิน วิปโยค                                  นับเป็นโชค ไทยยังดี มีตากสิน

พร้อมนักรบ ร่วมใจ ไล่ไพรินทร์                             ธรณิน คืนได้ ให้ไทยครอง

เกียรติประวัติ ขัติยะ มหาราช                       ธ ผงาดอยู่ที่ใจ ไทยทั้งผอง

พระกรุณา ธิคุณ หนุนเนืองนอง                    เกียรติเกริกก้อง พระเจ้า กรุงธนบุรี

ด้วยกำลัง น้อยนิด แต่จิตกล้า                        สู้ฟันฝ่า กลับมากอบ กู้กรุงศรี

รวมสมัคร ตั้งมั่น จันทบุรี                              ยกมาตี เหล่าปัจจา อัปราชัย

ปราบกบฏ แผ่นดิน สิ้นทุกก๊ก                         พระทรงยก ราชธานี ขึ้นมาใหม่

ธนบุรี เป็นเมืองหลวง ของปวงไทย               จารึกไว้ สดุดี วีรกรรม

กอบกู้กรุง กรำศึก ฮึกหาญห้าว                      นำพลเข้า พันตู ศัตรูขาม

รบทางบก ยกทางเรือ ทุกเมื่อยาม                  แผ่สยาม แดนประเทศ เขตพารา

งานศิลป วัฒนธรรม อันล้ำเลิศ                      ธ ทูนเทิด บวรพุทธ- ศาสนา

เร่งรวบรวม ชำระ พิชัยตำรา                        การศึกษา เยาวชน พ้นรำพัน

          ๏ ขอบวงสรวง ดวงวิญญาณ อันศักดิ์สิทธิ์      ทรงสถิตย์ ไตรภพ สบสวรรค์

แผ่เมตตา รักษาไทย ให้นิรันดร์                              คณานันต์ แห่งสรวง ปวงเทวา

ข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมกร วอนถวาย                      ต่อเทพไท้ ทรงธรรม์ ขันอาสา

แต่งคำกลอน สักการะ กษัตรา                                ผู้ฟันผ่า ผองไพรี มีพระคุณ

อันการใด ในลิขิต แม้นผิดพลาด                            ขอพระราช- ทานอภัย ให้เกื้อหนุน

พระเมตตา แผ่เอื้อเฟื้อ เกื้อการุณย์                         ขอแทนคุณ ของพระองค์ ผู้ทรงชัย

ข้าพระพุทธเจ้า เป็นทหาร ป้องกันชาติ                    อริราช แห่งหน ตำบลไหน

ตามรอยเบื้อง ยุคลบาท กษัตริย์ไทย                       จึงมิได้ ถนัด สันทัดกลอน

ขอพระองค์ ผู้ทรง เดชานุภาพ                                โปรดมารับ สุนทรีย์ ศรีอักษร

แผ่บุญญา- ธิการ กลั่นสุนทร                                   เป็นบทกลอน สดุดี วีรกรรม

อีกคุณครู บูรพ- คณาจารย์                                    ผู้สืบสาน งานกวี ที่ชองช่ำ

จงช่วยดล ผลบุญ หนุนเนื่องนำ                               วรรณกรรม สำเร็จ ลุล่วงไป

ขอพระพร เทวา จุฬาโลก                                       ช่วยนำโชค คำกลอน สุนทรไข

กรมพระราช- วังบวร ขจรไกล                                ทรงดลใจ ให้ลิขิต ประสิทธิ์ดี

ขอวิญญาณ บรรพบุรุษ สุดแกร่งกล้า                      ช่วยรักษา ความเป็นไทย ให้กรุงศรี

สถิตย์สวรรค์ ชั้นแดน สุขาวดี                                 บทกวี จงสำเร็จ เสร็จกลอนกานต์

          ๏ ก่อนเกริ่นกล่าว เล่าความ ตามประวัติ                   ขอแจงจัด เรื่องเก่า มาเล่าขาน

หลังกรุงศรี มีภัยมารุกราน                                                ถูกเผาผลาญ วอดวาย มลายลง

เมื่อแผ่นดิน พระนารายณ์ มหาราช                         เรืองอำนาจ ชาติไทย นั้นสูงส่ง

รัชกาล ผ่านสมัย ในพระองค์                                  สิ้นเสื่อมลง ทุกเรื่อง ต่อเนื่องมา

การทหาร การปกครอง ต้องวิบัติ                                      สถาปัตย์ หัตถกรรม และการค้า

เริ่มอ่อนแอ มาแต่เหตุ เพทราชา                              องค์ต่อมา พระเจ้าเสือ ยังเหลือทน

พอย่างเข้า เจ้าอยู่หัว พระท้ายสระ                          เป็นจังหวะ อ่อนแอ และสับสน

มาถึงเจ้า- ฟ้าอภัย ไม่ดิ้นรน                                    ตราบถึงจน บรมโกศ จึงหมดภัย

          ๏ ปีสองพัน สองร้อย เจ็ดสิบห้า                      อุปราชา ฟ้าพร ทำศึกใหญ่

ศึกกลางเมือง ในแผ่นดิน ปราบสิ้นไป                      ขึ้นครองได้ ราชสมบัติ ขัตติยวงศ์

ถึงแม้ว่า ครานั้น บ้านสงบ                                                 ยังมิจบ เรื่องร้าย ที่เหลือหลง

ขวัญทหาร งานบ้านเมือง ไม่มั่นคง                          เพียงดำรง อยู่ได้ ไร้ศัตรู

พระบรม ราชาที่สาม นามฟ้าพร                              หรือเรียกซ้อน บรมโกศ ไม่อดสู

เป็นยุคทอง วรรณคดี มีให้ดู                                   เพราะมีผู้ เชี่ยวชาญ การประพันธ์

อุปราชา เจ้าฟ้า ธรรมาธิเบศร์                                 เกิดมีเหตุ พระกวี นี้อาสัญ

กาพย์แห่เรือ เพลงยาว เรารู้กัน                               อีกโคลงฉันท์ งานละคอน กระฉ่อนลือ

ถึงอย่างไร รัชกาล บรมโกศ                                    คนทั้งหมด ใช่จะรับ ยอมนับถือ

ความกินแหนง ราชสำนัก มักระบือ                          ต่างยึดยื้อ แย่งราช- สมบัติกัน

          ๏ เจ้าฟ้าพร หรือสมเด็จ บรมโกศ                            มีโอรส สามองค์ ทรงแผกผัน

เมื่อแผ่นดิน สิ้นสมัย ไม่นานครัน                                       ทุกเหตุการณ์ เลวร้าย ส่อภัยมา

หลังเจ้าฟ้า ธรรมาธิเบศร์ สิ้นตักษัย                         แต่งตั้งให้ อุทุมพร หวังคอยท่า

รั้งตำแหน่ง แห่งที่ อุปราชา                                     ศรีสง่า กรมพระ- ราชวังบวร

จึงได้ทรง มหา ราชาภิเษก                                     เป็นอัครเอก องค์กษัตริย์ สโมสร

เอกทัศน์ บวชอยู่ใน พระบวร                                  เสด็จจร สึกจากพระ มาทันที

เป็นนัยว่า ทำท่าแย่ง ชิงสมบัติ                                 ยึดอำนาจ ขัตติย บุรีศรี

แสดงตน เป็นเชษฐา บารมี                                     นั่งพระที่ สุริยา อัมรินทร์

องค์กษัตริย์ อุทุมพร ระอ่อนจิต                               ไม่ยึดติด สมบัติใด ให้ถวิล

ไม่อยากเห็น ศึกใหญ่ ในแผ่นดิน                            จึงยอมยิน ครองผ้าเหลือง สิ้นเรื่องไป

การผ่านผ้าว ของพระเจ้า เอกทัศน์                         จึงได้จัด การราชา- ภิเษกใหม่

พวกบรรดา เหล่าขุนนาง ต่างแคลงใจ                     อยู่ไม่ไหว ยื่นลาออก นอกวังวน

มเหสี มีพี่ชาย ได้อำนาจ                                         เข้ามาจัด กลไก ให้สับสน

กรมหมื่น เทพพิพิธ คิดกังวล                                    วางแผนโค่น จะกบฎ ชิงบัลลังก์

ไปกราบทูล อุทุมพร ให้ย้อนกลับ                                      เข้ามารับ ครองแผ่นดิน แต่สิ้นหวัง

พระภิกษุ อุทุมพร มิยอมฟัง                                     เพื่อประทัง ไม่ให้เกิด ศึกกลางเมือง

เอกทัศน์ เนรเทศ เทพพิพิธ                                     ให้สิ้นฤทธิ์ การกบฎ จนหมดเรื่อง

ศรีลังกา ไกลแสน ห่างแดนเมือง                              แต่มีเรื่อง สอพลอ ก่อวุ่นวาย

เอกทัศน์ ขาดปัญญา มีอาเพศ                                 อยุธเยศ ทุกร์ระทม ล่มสลาย

ราชวงศ์ อยุธยา อัปราชัย                                       องค์สุดท้าย กษัตรา พาเสียกรุง

          ๏ ขอกล่าวเนื่อง เรื่องราว ชาวพม่า                อยากเข้ามา แก้แค้น ก็แสนยุ่ง

แต่ครั้งแรก ที่ไทย ได้เสียกรุง                                 มิได้มุ่ง มาทำร้าย ทำลายไทย

จนกระทั่ง ฟังเรื่องราว อยุธยา                                 เปลี่ยนราชา ผลัดแผ่นดิน กันยกใหญ่

เริ่มอ่อนแอ สับสน ทั้งกลไก                                     ส่งทัพใหญ่ สมัยแผ่นดิน อลองพญา

องค์สมเด็จ พระเจ้า เอกทัศน์                                   ไม่ถนัด การสงคราม เผชิญหน้า

จึงสั่งให้ อุทุมพร สึกออกมา                                    เข้าบัญชา กองทัพ รับมือไป

การต่อสู้ ป้องกัน นั้นเหลือเชื่อ                                 โชคยังเอื้อ อยุธยา รอดพ้นได้

อลองพญา ลั่นกระสุน ถล่มไทย                               แล้วปืนใหญ่ แตกลำกล้อง อลองตาย

ทัพพม่า ตื่นตระหนก ยกทัพกลับ                                       ไทยไม่ทราบ คิดว่าแผน ที่ลวงไว้

เกรงจะหลง แยบยล กลอุบาย                                 จึงไม่ไล่ ติดตาม กระหน่ำเติม

สิ้นมังลอก ลูกอลอง ถึงมังระ                                   เป็นจังหวะ ที่พม่า กล้าฮึกเหิม

ไล่บีทา เมืองชายแดน แม้นดังเดิม                           ทำเหิมเกริม หาประโยชน์ จากสงคราม

ยกทัพใหญ่ นำไพร่พล มหาศาล                              มาเผาผลาญ อยุธยา มหาสยาม

จึงเกิดมี องค์วีระ บุรุษนาม                                      ทำสงคราม ขับไล่ ไทยยืนยง

          ๏ จะขอเริ่ม เรื่องราว สาวประวัติ                            ของกษัตริย์ ตากสิน ดังประสงค์

มีบิดา มาจากจีน ชื่อไหฮง                                                เดิมชื่อหยง แซ่แต้ แม่เป็นไทย

นามนกเอี้ยง เคียงคู่ เป็นภรรยา                              อยู่ชายคา บ้านขุนนาง ท่านผู้ใหญ่

สำนักงาน การบัญชี มีน้ำใจ                                    ได้เลื่อนให้ ในตำแหน่ง นายอากร

เป็นขุนพัฒน์ คหบดี มีฐานะ                                     ไม่เคยละ สร้างกุศล เชื่อคำสอน

ก่อนเจ้าตาก จะจุติ ในอุทร                                     เมื่อหลับนอน เกิดนิมิต ในมารดา

ตาปะขาว ยื่นแก้ว มณีใส                                        มาส่งให้ ปลื้มปิติ สิเนหา

ท่านขุนพัฒน์ จัดทำบุญ ภาวนา                               กาลภายหน้า ได้ลูกดี คนมีบุญ

          ๏ ขึ้นสิบห้า เดือนห้า อาทิตย์ขาล                   รัตติกาล ครรภ์คลอด ยอดไอสูรย์

อัสนีบาต ฟาดเปรี้ยง เพียงไร้มูล                                       เมฆบังสูรย์ อัศจรรย์ บันดาลดล

ท่านขุนพัฒน์ จัดรับขวัญ กันพร้อมเพรียบ               ปิดปากเงียบ ไม่แพร่งพราย ขยายผล

เรื่องบุตรชาย ใจสกิด จิตกังวล                               แปลกชอบกล นึกเกรงกลัว กาลกิณี

วันรุ่งขึ้น เป็นอังคาร เหตุการณ์เสียว                       งูคดเคี้ยว รอบเด็กชาย ให้ขวัญหนี

เป็นงูเหลือม ล้อมรอบเบาะ เหมาะเจาะดี                            ในทันที ยกกระโจม จึงตกใจ

ท่านขุนพัฒน์ กลัดกลุ้ม จิตรุ่มร้อน                           อดหลับนอน ขุ่นข้อง ไม่ผ่องใส

เกิดจริต ปริวิตก ยกบุตรชาย                                  ตัดสินใจ ให้เจ้าคุณ บุตรบุญธรรม

พระยาจักรี ดีใจ ที่ได้บุตร                                                บริสุทธิ์ โรคภัย ไม่กรายกร้ำ

ตั้งชื่อใหม่ ให้ชื่อสิน มงคลนาม                               ทุกโมงยาม เอาใจใส่ ให้อย่างดี

          ๏ ลักษณะ ปรากฏชัด วาสนา                        มีบุญญา สง่างาม ตามราศี

มีหน่วยก้าน หาญกล้า ปัญญาดี                               ท่วงท่าที แคล่วคล่อง และว่องไว

คำพูดจา เฉลียวฉลาด เสียงฉาดฉาน                       สมใจท่าน อุ้มชู เลี้ยงดูไว้

สุดปิติ ปลื้มปลาบ ประทับใจ                                   เมื่อเยาวัย อายุน้อย ค่อยพากเพียร

เมื่อเจ็ดขวบ เจ้าพระยา มาฝากวัด                           โกษาวาสน์ อาจารย์ทองดี สอนอ่านเขียน

ช่วยอบรม บ่มนิสสัย ให้เล่าเรียน                                      ถึงแม้เซียน ก็เป็นศิษย์ ที่โปรดปราน

เก่งทั้งเรียน เซียนทั้งเล่น เด่นในวัด                         มีประวัติ ก่อนเก่า มาเล่าขาน

รวมตั้งแก๊ง ปั่นถั่ว มั่วพนัน                                      หลังวิหาร รวมหัว ตัวเจ้ามือ

เป็นหัวโจก ตัวการ โทษฐานจัด                               ฝืนบัญญัติ วัดตั้งไว้ ไม่เชื่อถือ

ถูกจับได้ รับโดยดี มิหืออือ                                      ไม่ยืดยื้อ ให้เพื่อนพ้อง  ต้องรับฑัณฑ์

อาจารย์ทองดี สั่งอบรม บรรดาเซียน                      สั่งให้เฆี่ยน ด้วยหวาย ไม่แปรผัน

เด็กชายสิน คนที่หลัง นั่งกัดฟัน                               คนสำคัญ อานแน่ แค่ครวญคราง

เจ้าอาวาส สั่งลูกวัด มัดมือไว้                                   ติดบันได ใต้ตลิ่ง ตรงลูกล่าง

เพื่อเข็ดหลาบ อับอาย หายเบาบาง                          ด้วยมุ่งหวัง แช่น้ำ ทำประจาน

ตกตอนเย็น ลืมไว้ ไปลงโบสถ์                                เจริญพจน์ พุทธมนต์ จนลืมหลาน

น้ำเอ่อล้น ท่วมตลิ่ง มิดเรือนชาน                                      นึกขึ้นพลัน ตื่นตระหนก แสนตกใจ

เด็กชายสิน คงดับดิ้น เสียแน่แท้                              สำลักแน่ จมน้ำ บันไดใต้

ให้พระเด็ก ช่วยกันค้น จนวุ่นวาย                           ผิดวินัย โหดเหี้ยม และทารุณ

พระรูปหนึ่ง แจ้งอาจารย์ อย่างงันงก                       ว่าใครยก บันได หายไปสูญ

ส่องไฟฉาย หาบันได ให้ชุลมุน                               น่าดับสูญ เด็กชายสิน อาจสิ้นลม

ข้ามฝั่งคลอง ไม่ถึงฆาต จะดับดิ้น                           เด็กชายสิน ยังหน้าชื่น ไม่ขื่นขม

มือยังติด ลูกบันได ใต้โคลนตม                               มิได้จม อัศจรรย์ เสียจริงเจียว

ทุกคนทึ่ง  ตะลึงถาม  ได้ความว่า                                      น้ำท่วมมา ถึงปาก ชักหวาดเสียว

มิทันไร บันไดคลอน ถอนเป็นเกลียว                       ประเดี๋ยวเดียว พุ่งไปค้าง อย่างเร็วไว

พระอาจารย์ เพ่งพินิจ คิดสับสน                              ให้หลายคน ช่วยกันถอน ก็ไม่ไหว

เป็นเรื่องแปลก แต่จริง ยิ่งมั่นใจ                              เจ้าเด็กชาย บุญญา- ธิการมี

นำเด็กสิน พร้อมคณะ พระทั้งวัด                                       ทำสวดยัติ เจริญสดับ รับขวัญหนี

ในคืนนั้น สรรเสริญ เจริญพิธี                                 สดุดี ปาฏิหาริย์ มหัศจรรย์

ขึ้นวันรุ่ง นำเรื่องเล่า เจ้าขุนศรี                               ต่างยินดี ปรีเปรม เกษมสันต์

เด็กคนนี้ แปลกประหลาด มหัศจรรย์                       พิสดาร ผิดมนุษย์ สามัญชน

          ๏ เด็กชายสิน วัยสิบสาม ตามโบราณ             สมโภชงาน ฮาเฮ ลิเกโขน

มีเจ้านาย หลายระดับ รับมงคล                               ประชาชน  ร่วมสมโภช  จึงโจษจัน

ในพิธี ตัดเปีย ของตากสิน                                                ผึ้งหลวงบิน เกาะกลุ่ม รุมที่ขัน

เป็นหมู่ใหญ่ ตอมหึ่ง ถึงเจ็ดวัน                                อัศจรรย์ แท้จริง มิ่งมงคล

ท่านเจ้าคุณ ศรีสมุห- นายก                                     ถือเป็นโชค ดีเลิศ ประเสริฐผล

เหมือนนิมิต หมายขวัญ บันดาลดล                          ต่อหน้าคน ทั้งหลาย ใจศรัทธา

          ๏ จึงจัดส่ง เด็กชาย ไปบวชเณร                             เข้ากฎเกณฑ์ กำหนดเรียน เพียรศึกษา

สำนักวัด สามวิหาร อยุธยา                                      มีเพื่อนยา มาสนิท มิตรคู่ใจ

เณรทองด้วง เณรบุญนาค ฝากวัดก่อน                    ร่วมฉันนอน อบรม บ่มนิสสัย

ความผูกพัน ฉันท์มิตร สนิทวัย                                จึงรักใคร่ สนิทสนม กลมเกลียวกัน

เหมือนทวยเทพ ช่วยดล คนทั้งสาม                         เมื่อถึงยาม สยามเขต เข้าคับขัน

มีโอกาส หาญอาสา ร่วมฝ่าฟัน                                จนได้บ้าน เมืองคืน มาชื่นใจ

          ๏ ในครั้งนั้น เณรน้อย นามบุญนาค               คนส่วนมาก นิยมเสียง ที่สุ้มใส

ขึ้นธรรมาสน์ เทศนา ทุกคราไป                               ช่างถูกใจ อุบาสก อุบาสิกา

อีกสองเณร ประดับนั่ง ฟังเสนาะ                                       เทศน์ไพเราะ ทุกกัณฑ์ วันพรรษา

อยากหยอกเย้า ขบขัน พลันขึ้นมา                           ให้ขายหน้า หวังสนุก ด้วยซุกซน

ในแวบจิต คิดคะนอง ย่องข้างหลัง                         คนนั่งฟัง ไม่สังเกตุ จึงเกิดผล

อยากเห็นเพื่อน เคอะเขิน เดินวกวน                        ต่อหน้าคน ลงไม่ได้ อายเสียงฮา

ไม่เคยคิด เหตุการณ์ จะไปใหญ่                                       เกิดตกใจ เณรก้าวหล่น จนเจ็บขา

ส่วนเณรสิน ทำเสงี่ยม เจียมวาจา                            หยิบหยูกยา ทาให้ ปลอบใจกัน

เพราะเณรสิน ชักบันได ของธรรมาสน์                             จึงผิดคาด เกินไป จนไม่ขัน

เณรบุญนาค ขอแก้ตัว จนนมนาน                           แล้วแก้กัน จนได้ ในต่อมา

 

 

          ๏ สึกจากเณร บุนนาค และทองด้วง               เป็นคนหลวง มหาดเล็ก ที่วังหน้า

ส่วนนายสิน ท่านเจ้าคุณ หนุนนำพา                        จากเคหา รโหฐาน สาบานตัว

มหาดเล็ก นักการ ทำงานใกล้                                  องค์เทพไท้ สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว

สินรู้จัก สงบเสงี่ยม และเจียมตัว                              ไม่พันพัว ชั่วร้าย ในราชการ

เพื่อนทั้งหลาย ได้เรียนรู้ ในวังหลวง                       จนลุล่วง ราชบัณฑิต ดังคิดฝัน

หาความรู้ ด้วยน้ำทน จนชำนาญ                            ได้ทำงาน ตามตำแหน่ง แห่งวิชา

          ๏ คนทั้งสาม ร่วมน้ำมิตร คิดใฝ่ฝัน                ทุกคืนวัน พากเพียร เวียนมาหา

ได้พบปะ สังสรรค์ จำนรรจา                                   ร่วมปรึกษา หารือ กันร่ำไป

เมื่อนายสิน เติบใหญ่ ไว้หางเปีย                                       เหมือนกับเตี่ย ไหฮง ไม่สงสัย

มาวันหนึ่ง ม่อยหลับ ทับครรไล                               เพื่อนร่วมใจ อีกสองคน บนฟากนอน

หนุ่มบุญนาค นึกสนุก ได้ฉุกคิด                               ผูกเปียติดกับฟากที่ข้างหมอน

แกล้วตะโกน ตกใจ ไอ้พังงอน                                แล้ววิ่งร่อน เร็วรี่ แกล้งหนีตาย

อีกสองหนุ่ม ตื่นตระหนก ตกใจกลัว                        โดดสุดตัว ใจระทึก นึกหวั่นไหว

ฟากติดเปีย เสียรู้ เพื่อนคู่ใจ                                    กอดคอไว้ หัวร่องอ เพราะหายกัน

          ๏ แต่กาลเก่า เข้าทำงาน ต้องผ่านบวช           สิ่งยิ่งยวด คือความดี มีแข่งขัน

จะรุ่งเรือง ก้าวหน้า ราชการ                                   จึงพากัน ออกบวช เพื่อสมบูรณ์

นายสินบวช ที่วัด โกษาวาสน์                                  จิตมุ่งมาด ให้สิ่งร้าย มลายสูญ

สร้างผลา อานิสงส์ ส่งผลบุญ                                  สนองคุณ บุพการี ที่มีมา

วัดมหา ทลาย นายทองด้วง                                     อายุล่วง มุ่งสู่ธรรม จำพรรษา

ทั้งสององค์ คร่ำเคร่ง เก่งวิชา                                 บรรพชา ในบวร พุทธองค์

เช้าวันหนึ่ง พระภิกษุ บิณฑบาต                              เพื่อโปรดสัตว์ ตามนัยยะ แห่งพระสงฆ์

โดยบังเอิญ มาพบปะ พระสององค์                          จึงเดินตรง เข้าหา ปราศัยกัน

จีนชรา ผู้หนึ่ง จ้องซึ่งหน้า                                      หัวร่อร่า แกว่งหางเปีย อย่างขบขัน

พระภิกษุ ทั้งสององค์ ต่างงงงัน                               อารมณ์ขัน จีนชรา สาเหตุใด

สำรวจองค์ ทั่วกาย ไม่บกพร่อง                               จึงได้ร้อง เรียกจีน เข้ามาใกล้

ถามอาแป๊ะ เราผิดแผก แปลกอะไร                         ท่านจึงได้ หัวเราะ เป็นวักเวน

จีนชรา หันมาตอบ พระคุณเจ้า                               ตั้งแต่เรา เกิดมา ไม่เคยเห็น

ลักษณะ พระสององค์ ทรงกฎเกณฑ์                       ราศีเด่น โชคชะตา มหาพรหม

จีนพิเคราะห์ ขอดูมือ และใบหน้า                            ถามเวลา เดือนปี ที่เหมาะสม

แล้วทำนาย ทายทัก ฝากคารม                                มิแกล้งชม ใส่ไคล้ ใช่หลอกลวง

ว่าพระสิน ปิ่นกษัตริย์ ขัตติยราช                                      ครองสมบัติ สร้างวัง บัลลังก์หลวง

สืบกษัตริย์ ศุภวงศ์ ตรงตามดวง                              คือพระด้วง แล้วหัวเราะ อย่างพอใจ

ทิ้งทายทัก ประจักษ์แล้ว เดินแจวหนี                       แต่ยังมี เสียงหัวร่อ อย่างงอหาย

หัวเราะพลาง เดินพลาง ห่างออกไป                        ที่เหลือไว้ เพียงคำนึง ตะลึงงัน

          ๏ ถึงเวลา อำลา บรรพชิต                                       สองคู่มิตร กลับรับใช้ ในเขตขันฑ์

ตั้งประสงค์ เพื่อชาติ ราชการ                                 การทำงาน บากบั่น ในชั้นดี

ตัวนายสิน เป็นผู้ รู้กฎหมาย                                    จึงับใช้  เชิญท้องตรา พระราชสีห์

ไปชำระ ความเมือง เรื่องคดี                                   จนเป็นที่ แซ่ซ้อง เกียรติคุณ

ในบรรดา ประชากร ตอนฝ่ายเหนือ                        มีความเชื่อ- ถือนายสิน มิสิ้นสูญ

ท่านผู้ใหญ่ กราบถวาย บังคมทูล                            ขอเพิ่มพูล ความชอบ ตอบแทนไป

ราชโองการ เป็นท่านหลวง ยกบัตร                        อยู่ช่วยรัฐ ดูแล เรื่องกฎหมาย

จึงต้องลา พระนคร จากจรไป                                 แต่ไม่ไกล แค่เมืองตาก ไม่ยากเย็น

          ๏ ที่เมืองตาก ยกบัตร นั้นสัตย์ซื่อ                  คนเลื่องลือ ชื่อเสียง จึงสูงเด่น

ทั้งรอบรู้ บริหาร ทำงานเป็น                                    ไม่ว่างเว้น ราชกิจ มิตรประชา

อีกไม่นาน ท่านเจ้าเมือง อนิจกรรม                         ได้บอกความ เข้ากรุงศรี เพื่อสรรหา

ให้คนดี เข้าเกณฑ์ เป็นพระยา                                รับสั่งมา โปรดเกล้า เจ้าองค์อินทร์

ยกกระบัตร จัดขึ้นเป็น พระยาตาก                          คนส่วนมาก เรียกพระยา ว่าตากสิน

งานราษฎร์ หลวง ปกครอง ซ้องระบิล                     คือตากสิน เกียรติยศ ปรากฏไกล

ท่านทุ่มเท ทนุบำรุง ปรับปรุงเมือง                           งานทุกเรื่อง หนักเบา เอาใจใส่

เป็นที่ชื่น ชมชอบ ของชาวไทย                              ตากร่วมใจ แข็งขัน กันพรั่งพรู

          ๏ พระยาตาก ได้ทหาร คนสนิท                     เป็นคู่คิด มิตรรัก เลือดนักสู้

ชื่อทองดี ฟันขาว เจ้าพันตู                                      คนทั้งคู่ ดูสม กลมเกลียวกัน

มีเรื่องเล่า บ่าวนาย สองคนนี้                                   นายทองดี คือนักสู้ ผู้ก๋ากั่น

ถูกเสือฟัด กัดมา สี่ห้าวัน                                         อาสาขัน ต่อสู้ ยอดครูมวย

ประกบคู่ สู้ในงาน ประเพณี                                    บนเวที เชิงชก ไปได้สวย

ได้คู่เปรียบ ชื่อครูท้าว เจ้าแห่งมวย                         โชคอำนวย ชกชนะ พวกนักเลง

เจ้าตากสิน สนใจ ชายนักสู้                                     ขอเลี้ยงดู เข้ากางกั้น การข่มเหง

พวกครูท้าว จะหั่นห้ำ แต่ยำเกรง                                       ไม่กล้าเบ่ง อิทธิพล ต่อทองดี

พระยาตาก ชวนทองดี ไปอยู่ด้วย                           ทั้งได้ช่วย ขอเมียให้ ได้สุขี

อุปสมบท เรียบร้อย ถ้อยพาที                                  ได้เป็นที่ หลวงพิชัย อาสาครัน

หลวงพิชัย อาสา ฝีมือดี                                          มวยกระบี่ ดาบง้าว และมีดสั้น

ดาบสองมือ ถนัดโถม การโรมรัน                                      เข้าฟาดฟัน ชาญเชี่ยว มีชั้นเชิง

 

 

          ๏ มีไก่เก่ง พันธุ์ชน เลือดชั้นดี                        ชื่อพาลี เมื่อปรี่ใส่ ได้เถลิง

เข้าสังเวียน เซียนดัง ยังเปิดเปิง                              ตีกระเจิง ถูกใจ ท่านเจ้าเมือง

ท่านหลวงเมือง เคืองพาลี แกมีไก่                           ลำแข้งใหญ่ สูงสง่า ท่าเอาเรื่อง

ไอ้โทนเฒ่า เอามาท้า เพราะว่าเคือง                        เล่นครบเครื่อง กับพาลี มีเดิมพัน

ประจัญบาน ประสานแข้ง แรงฤทธี                         เจ้าพาลี ถูกตีสาด สบัดหัน

ไก่โทนเฒ่า เตะช้ำ ยำจนมัน                                   เอาขายัน หมุนกลิ้งวิ่งแถไป

คนให้น้ำ คลำประคบ เข้าแก้ขัด                              แล้วจึงจัด เจ้าพาลี มาตีใหม่

เจ้าพาลี ตีปีกกร่าง อย่างมั่นใจ                                หลวงพิชัย ยิ้มออก บอกคอยดู

เจ้าโทนเฒ่า เข้าคลี หันรีขวาง                                โดดเตะผาง เดือยพาลี พอดีหู

กระแตเวียน หมุนกว้าง เดินอย่างปู                         พาลีรู้ ตีซ้ำ คว่ำสิ้นใจ

ฝ่ายขุนเมือง เจ้าของไก่ ไม่ยอมแพ้                         มีเรื่องแน่ บรรดาเซียน สังเวียนไก่

พระยาตาก เข้าระงับ ดับคลี่คลาย                           เอาไก่ตาย แขวนขาหยั่ง สั่งให้ตี

หากจิกตก จากขาหยั่ง จะสั่งแพ้                              เป็นของแท้ กติกา อย่าหลีกหนี

แขวนแล้วเสร็จ สั่งให้ ไก่พาลี                                 เจ้าจิกตี พัลวัน ขึ้นทันใด

เจ้าพาลี ตีไม่ตก จากขาหยั่ง                                   หลวงพิชัย ร้องสั่ง กังวาลใส

เจ้าลูกแก้ว จิกกระชาก ลากเร็วไว                          เมื่อเจ้าไก่ ฟังภาษา จึงทำตาม

จิกกระชาก ลากโทนเฒ่า ตกขาหยั่ง                        ตามคำสั่ง ดังมันรู้ ดูน่าขาม

พระยาตาก ตัดสิน จบสิ้นความ                                ชนะงาม เชยชม หลวงพิชัย

          ๏ อีกไม่นาน ต่อมา พระยาตาก                      โชคดีมาก อนาคต ช่างสดใส

องค์สมเด็จ เอกทัศน์ วางพระทัย                              ทรงมอบให้ ชั้นเอก เมืองกำแพง

เป็นเจ้าพระยา วชิร ปราการ                                   ดูแลงาน ภาคเหนือ ให้เข้มแข็ง

หลวงพิชัย ติดตามด้วย ช่วยผ่อนแรง                      แต่ตำแหน่ง ไม่ทันรับ มีทัพมา

พระยาตาก หลวงพิชัย ไปเข้าเฝ้า                           จึงได้เข้า มาอยู่ใกล้ ในเคหา

คงพำนัก พักอยู่ อยุธยา                                          ศึกพม่า เจ้ามังระ มาย่ำยี

          ๏ ขอเล่าความ ตามเรื่องราว คราวเสียกรุง     พม่ามุ่ง รบไทย ไม่ถอยหนี

อันที่จริง มิตั้งใจ จะต่อตี                                         ประเพณี ผลัดแผ่นดิน สิ้นยำเกรง

ใครแข็งกว่า ต้องไปปราบ ให้ราบคาบ                             เพื่อให้ทราบ เดชศักดา ข้านี้เก่ง

ขยายอำนาจ กษัตริย์ใหม่ ให้ละเบง                        พวกตะเลง มังระ กะปล้นไทย

โปมะยุง่วน เนเมียว สีหบดี                                      สองทัพนี้ ตีกระหนาบ เป็นทัพใหญ่

นรธา คุมกองทัพ ปราบทวาย                                  ทางเชียงใหม่ เนเมียว คุมทัพมา

เมืองมะริด ตะนาวศรี เป็นของไทย                          ตั้งอยู่ใกล้ เมืองทวาย ของพม่า

เจ้าเมืองมอญ มีชื่อ หุยตองจา                                 หนีเข้ามา เมืองมะริด หลบศัตรู

ในครั้งนั้น กรมหมื่น เทพพิพิธ                                 เข้ามะริด หาหนทาง หวังต่อสู้

เอกทัศน์ ฟังเรื่องราว จึงเฝ้าดู                                  เมื่อได้รู้  สั่งคุม  ทั้งสองคน

พม่าขอ  ให้ส่งตัว  หุยตองจา                                  ทำหนังสือ ยื่นมา ไม่ได้ผล

ยกทัพเรือ ตีมะริด ด้วยไพร่พล                                ประสพผล ยึดมะริด จากไทยไป

คนทั้งสอง หลบได้ ไปกระบี่                                    พม่าเข้าตะนาวศรียึดโดยง่าย

ความเดือดร้อน คงมาถึง ซึ่งแดนไทย                      ยกทัพไป เพชรบุรี ตั้งทัพยัน

          ๏ พระยาพิ พัฒน์โกษา เป็นแม่ทัพ                 มาตั้งรับ พร้อมด้วย เหล่าทวยหาญ

มีเจ้าพระยา วชิรปราการ                                        ศึกครั้งนั้น รบรุนแรง แสดงฝีมือ

มังมหานรธา ผู้กล้ารบ                                             ยังสยบ ตากสิน ยอมนับถือ

พม่าถอยร่นไปได้เลื่องลือ                                       เจ้าตากคือ ยอดขุนพล อยุธยา

          ๏ ความทราบถึง พระเจ้า เอกทัศน์                 พระทรงตรัส ชมเชย จนทั่วหน้า

ไม่คาดคิด ว่าข้าศึก จะย้อนมา                                 คือปัญหา ความประมาท กษัตริย์ไทย

          ๏ สิ้นสงคราม ครั้งที่หนึ่ง แผ่นดินนี้                แต่ยังมี พม่า รุกมาใหม่

เหตุด้วยความ อ่อนแอ ของคนไทย                         ยังไม่วาย ร้าวฉาน ในบ้านเมือง

ทัพเนเมียว ตีเชียงใหม่ ได้ชนะ                               ไม่ลดละ ยื้อยั้ง คอยฟังเรื่อง

พม่าไทย ใช่ว่า จะขุ่นเคือง                                     แต่รู้เรื่อง ว่าเมืองไทย ไร้พลัง

เป็นจังหวะ มังระ เป็นคนโลภ                                  ใจละโมภ สินทรัพย์ นับถุงถัง

อ่านรายงาน อยุธยา ล้ากำลัง                                  ออกคำสั่ง ปล้นสะดม ให้สมใจ

จัดสองทัพ ขนาบศรี อยุธยา                                    นรธา ยกเข้าตี ทางตอนใต้

ให้เนเมียว รบจากเหนือ ของเมืองไทย                    โดยตั้งใจ ล้อมกรอบ ให้รอบเมือง

มังมหา นรธา ยุติธรรม                                            ไม่ฆ่าซ้ำ คนไม่สู้ พูดรู้เรื่อง

หากยินยอม โดยดี มิขุ่นเคือง                                   คนเอาเรื่อง คือเนเมียว สีหบดี

ทั้งสองทัพ เคลื่อนย้าย ไร้ต่อสู้                                คนไทยรู้ พม่ามา ตั้งหน้าหนี

ค่ายพม่า เป็นฐานโจร ปล้นราวี                                เข้าชิงตี แย่งทรัพย์ จับผู้คน

ตามลำน้ำ มีวานิช มิตรต่างชาติ                              แสนอนาถ ยิ่งหนา พม่าปล้น

อย่างโหดเหี้ยม ไม่ไว้หน้า ฆ่าทุกคน                        หวังจะปล้น ทองเจดีย์ ศรีอยุธยา

ทัพพม่า ตัดรอน ทอนกำลัง                                     โถมเข้าพัง บ้านช่อง ที่ขวางหน้า

ชลอไว้ ไม่รีบยึด อยุธยา                                         รอจนกว่า จะริดรอน ให้อ่อนใจ

          ๏ น่าสงสัย ผู้รักษา พระนคร                          ไม่เดือดร้อน แยแส เอาใจใส่

สิ้นปัญญา ล้าแรง น่าแคลงใจ                                 รอความตาย ถึงฆาต พินาศจม

แผนพม่า ใช้กองโจร ชิงปล้นค่าย                           จะต้องได้ อาวุธดี ที่เหมาะสม

เคยรวมตัว ของชาวบ้าน หาญจู่โจม                        กลับระทม ล้มตาย ไปตามกัน

          ๏ วีรกรรม การศึก ในครั้งนี้                          ได้เกิดมี คนไทย หลายเขตขันฑ์

ยอดนักสู้ ของหมู่บ้าน บางระจัน                              ยังจำมั่น เกียรติ์ประวัติ ของชาติไทย

สรวมวิญญาณ เลือดเนื้อ เพื่ออุทิศ                          พลีชีวิต แลกเอกราช ชาติอยู่ได้

ในที่สุด น้ำน้อย ย่อมแพ้ไฟ                                     แม้สิ้นใจ แต่ไม่สิ้น แผ่นดินทอง

พวกชายหนุ่ม กลุ่มกล้าหาญ ชาญต่อสู้                    ให้โลกรู้ ชาวสิงห์ ไม่เป็นสอง

แม้เพียงหญิง ชาวบ้าน หาญคะนอง                         สู้ปกป้อง บางระจัน จนตัวตาย

พม่าโหม หักค่าย ถึงเจ็ดครั้ง                                   แต่ก็ยัง มิสามารถ ตีหักได้

มอญสุกี้ มีแยบยล กลอุบาล                                     ขอรับใช้ เนเมียว มามุ่งตี

ระดมสร้าง ตั้งค่าย เข้าประชิด                                เลิกความคิด รบติดพัน แบบเคลื่อนที่

เผชิญหน้า ครั้งใด พ่ายทุกที                                   หลอกไทยตี ใช้ปืนใหญ่ ยิงรอนราน

บางระจัน ขอปืนใหญ่ ในกรุงศรี                                       แต่ไม่มี การตอบรับ เสียงขับขาน

รวบรวมเหล็ก หลอมปืนใหญ่ ไม่ได้การ                            ขาดอาหาร เสบียงกรัง หลั่งน้ำตา

น่าเห็นใจ ค่ายนักรบ บางระจัน                               ทนกัดฟัน ยันไม่ไหว พ่ายพม่า

ไร้อาวุธ สุดโดดเดี่ยว เปลี่ยวเอกา                           ต้องเสียท่า คนสุดท้าย ยังวายปราณ

          ๏ มอญสุกี้ ผู้พิชิต บางระจัน                          ได้รางวัล พระนายกอง คุมทหาร

อันกำลัง ของพม่า ฝ่ายรุกราน                                 ปฏิบัติการ ยืดเยื้อ เพื่อปล้นไทย

เข้าหน้าฝน คนรุกราน ต้องผ่านป่า                          มังมหา นรธา ป่วยเป็นไข้

เสียชีวิต ในกองทัพ ล่วงลับไป                                คนเดียวใหญ่ คือเนเมี่ยว สีหบดี

รวบอำนาจ สั่งการ ล้อมไว้ก่อน                               ให้เดือดร้อน ชาวไทย ในกรุงศรี

ตั้งพลับพลา โพธิ์สามต้น ไม่เข้าตี                           ใช้วิธี จ่อปืนใหญ่ ใช้ตั้งยิง

อยุธยา ยิงต่อต้าน นานนานครั้ง                              กลัวเสียงดัง กระสุนน้อย น่าเกรงกริ่ง

กระสุนวิกฤต ร่อยหรอ ไม่พอยิง                              สงบนิ่ง ไม่อนุญาต อาจรับทัณฑ์

          ๏ ทางฝ่ายไทย ไม่คิดอ่าน การขับไล่             เพียงแต่ให้ คุมเชิง รอบเขตขันฑ์

เคยครั้งเดียว ยกกำลัง สั่งโรมรัน                                      ถูกต้านทาน กลับเข้าสู่ ประตูเมือง

ตามสภาพ คนอยุธยา เวลานี้                                   หวังเสรี อิสระ ไม่เอาเรื่อง

ตัวเจ้าตาก ลำบากจิต คิดขัดเคือง                           มีหลายเรื่อง ที่น้อยใจ ในตัวเอง

ในครั้งแรก เกิดปัญหา คราออกรบ                         เข้าสมทบ ทัพเรือ ที่กล้าเก่ง

ร่วมพระยา เพชรบุรี ตีตะเลง                                  แต่กริ่งเกรง เหลือกำลัง จะต้านทาน

จึงแนะนำ เจ้าพระยา หาท่วงที                                พม่ามี กองกำลัง มหาศาล

จะฝืนรบ ต่อไป ไม่ได้นาน                                                จะต้านทาน ไม่ไหว ดังใจจง

เจ้าพระยา เพชรบุรี มิเชื่อถือ                                  ยังขืนดื้อ สู้ต่อไป อย่างไหลหลง

ผลที่สุด แพ้พ่าย วายปลิดปลง                                 สิ้นชีพลง ทำให้สิน ถูกหมิ่นชาย

ครั้งต่อมา พระยาตาก รับคำสั่ง                               ให้ยับยั้ง ด้านวัดแก้ว แนวป้อมค่าย

มีข้าศึก ประดาหน้า มาเรียงราย                              สั่งปืนใหญ่ ยับยั้ง มาตั้งยิง

ตายเป็นเบือ เมื่อพม่า ล่าถอยกลับ                           ยังได้รับ ภาคทัณฑ์ อัดอั้นนิ่ง

คิดใคร่ครวญ ค้นหา ล่าความจริง                           แล้วทุกสิ่ง คงต้องสูญ อาดูรแด

          ๏ พระเจ้าตาก ลำบากใจ ได้วิเคราะห์            ด้วยเหตุเพราะ ผู้นำ ไม่แยแส

กิจในบ้าน งานในเมือง เรื่องอ่อนแอ                        หลงเพียงแต่ ร่ำสุรา เคล้านารี

เทวดา องค์ไหน จะมาช่วย                                      คงต้องม้วย ล่มสลาย ทั้งกรุงศรี

ประกาศิต บรมโกศ บทเรียนมี                                 ลูกคนนี้ นั่งบัลลังก์ ต้องพังจม

แสนสงสาร กรุงศรี อยุธยา                                     สวยสง่า หลายร้อยปี ดีแสนสม

ทรัพย์สมบัติ พัสถาน โบราณรมณ์                          ถึงคราวจม  ล่มสลาย  เสียแล้วเอย

อยุธยา  ธานี  ศรีดิลก                                             แสนวิโยก โศกเศร้า อกเราเอ๋ย

เหลือคณา จะแก้ไข กระไรเลย                               จะอยู่เชย คงสิ้นชม ตรอมตรมตาย

          ๏ จึงหาช่อง ซ่องสุม กลุ่มฉกรรจ์                             อุดมการณ์ เหมือนกัน มุ่งมั่นหมาย

สู่เสรี อิสระ ห้าร้อยนาย                                          ขอไปตาย ดาบหน้า ถ้าโชคมี

          ๏ ฤกษ์วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้นสี่ค่ำ                      เจ้าตากนำ ทหารกล้า บ่ายหน้าหนี

ออกทางลัด วัดพิชัย ให้ออกตี                                 ยุทธวิธี เจาะจ้วง ทะลวงฟัน

พลเดินเท้า เข้าโจมจู่ ร่วมหมู่ม้า                               บุกเข่นฆ่า ฝ่าวงล้อม ที่ขวางกั้น

พวกข้าศึก ฮึกตามไล่ ไปจนทัน                               โพธิสังหาร วันรุ่งเช้า เข้าต่อตี

เจ้าพระยา วชิร ปราการสู้                                                ทหารรู้ เห็นฝีมือ ลือศักดิ์ศรี

หลวงพิชัย อาสา กล้าหาญดี                                    ล้างชีวี เหล่าพม่า ล่าถอยไป

          ๏ เช้าตากสิน กินอาหาร บ้านพรานนก           นครนายก มุ่งปราจีน ถิ่นที่หมาย

การเดินทาง ครั้งนี้ มีที่ไป                                        แหล่งสุดท้าย คิดตั้งมั่น จันทบุรี

มุ่งเข้าหา ปราจีน เพื่อถิ่นพัก                                   หวังพำนัก พักผ่อน ก่อนหลบหนี

ตรวจกำลัง จัดระเบียบ เรียบร้อยดี                          แต่ยังมี ทหารพม่า ที่ปราจีน

โดยบังเอิญ ตรวจการณ์เห็น กองทหาร                             วางแผนการ ซุ่มโจมตี เสียให้สิ้น

ท่านควบม้า ถลาใส่ ไล่ไพรินทร์                              เจ้าตากสิน เข่นฆ่า ได้หลายคน

ฝ่ายพม่า ไม่ตั้งตัว กลัวไทยมาก                              จึงถอยฉาก ย้อนกลับ อย่างสับสน

สามร้อยกว่า ยังต้องหนี สี่ห้าคน                              ผู้รวมพล ชาวไทย ยังกลัวเกรง

เห็นความห้าว หาญหัก ของตากสิน                         ดังได้ยิน เห็นมาแล้ว แกล้วกาจเก่ง

รบเคียงบ่า ล่าเคียงไหล่ ไม่หวั่นเกรง                       เหล่าตะเลง หนีลับ อัปราชัย

 

 

          ๏ เจ้าตากสิน มีวิญญาณ ในการศึก               จิตสำนึก ว่าการรบ อาจเกิดได้

ในไม่ช้า ฉับพลัน หรือทันใด                                   มีค่ายใหญ่ แน่นอน คิดผ่อนปรน

วางแผนการ เตรียมใจ ไว้พร้อมสรรพ                     รุกตั้งรับ ขออย่าให้ ได้สับสน

จัดกำลัง สั่งทหาร สี่ร้อยคน                                     เตรียมผจญ ซ่อนซุ่ม สองข้างทาง

ครั้นจะยั้ง ตั้งเป็นค่าย ก็ไม่ทัน                                 การประจัญ จำต้องรุก บุกทางข้าง

เห็นทหาร ขนาดใหญ่ ไม่ระวัง                                ใช้กำลัง หนึ่งร้อย ออกจู่โจม

พระเจ้าตาก ร้องท้า เงื้อง่าดาบ                                บุกขนาบ ฟาดฟัน ประจัญโถม

เข้าห้ำหั่น ถลันบุก รุกจู่โจม                                     กระหน่ำโหม แล้วแกล้งหนี ทำทีลวง

ฝ่ายพม่า ไม่ฉงน กลอุบาย                                      ได้ทีไล่ จึงสิ้นท่า มาติดบ่วง

สองข้างทาง ทหารไทย ไล่ทะลวง                           พม่าล่วง ตายเกลื่อนกลาด อนาถใจ

          ๏ ชัยชนะ ศึกสงคราม สามสี่ครั้ง                             ไม่พลาดพลั้ง แม้ตั้งตัว ยังมิได้

เจ้าตากสิน สู้สุดตัว ไม่กลัวตาย                               ฆ่าเหล่าร้าย ชื่อลือลั่น น่าพรั่นพรึง

ประกาศิต หาญห้าว ป่าวประกาศ                            ขอกู้ชาติ เมื่อเวลา จะมาถึง

ผู้รักชาติ ที่หลบซ่อน ย้อนคำนึง                              สุดซาบซึ้ง ขันอาสา มาร่วมกัน

ได้เกลี้ยกล่อม นายซ่อง ร่วมสมทบ                          กำลังรบ มารวบรวม ร่วมแข็งขัน

มีช้างม้า อาวุธ ยุทธภัณฑ์                                       พร้อมใจกัน เตรียมสู้ ผู้รุกราน

นายซ่องใด ไม่ยินยอม อ่อนน้อมให้                        ต้องรุกไล่ ใช้กำลัง เข้าหักหาญ

ผู้เข้าร่วม รวมทั้งสิ้น โดยประมาณ                          สักห้าพัน เป็นทัพใหญ่ มุ่งระยอง

          ๏ สถานการณ์ ย่อมสรรค์สร้าง วีรบุรุษ           ด้วยเหตุสุด แห่งวิสัย ได้สนอง

เป็นเหตุการณ์ เติมซ้ำ ย้ำครรลอง                           ตามดวงของ องค์เจ้าตาก ยากเลือกเอง

ปณิธาน แน่วแน่ หวังแก้ไข                                     กู้ชาติไทย ให้พ้น คนข่มเหง

จะขับไล่ ให้ราบคาบ ปราบตะเลง                           อย่างรีบเร่ง ไล่เหล่าร้าย ไกลแผ่นดิน

ได้พบแล้ว อิสระ และเสรี                                        กลางพงพี มีกำลัง ดังถวิล

ทำอย่างไร จึงจะไล่ เหล่าไพรินทร์                         จากธานินทร์ ได้สม อารมณ์ปอง

สิ่งสำคัญ คืออาหาร ศาสตราวุธ                              ทำการยุทธ ต้องใช้คน เข้าสนอง

มีอำนาจ เด็ดขาด ช่วยหนุนรอง                               เมืองระยอง คือที่หมาย ใช้ก่อการ

          ๏ พระระยอง เจ้าเมือง รู้เรื่องตาก                 กำลังมาก อยากร่วมด้วย ช่วยประสาน

รีบออกไป เจรจา จะร่วมงาน                                  แต่กรรมการ เมืองระยอง ไม่ต้องใจ

ขุนจ่าเมือง ขุนรามและหมื่นซ่อง                                       เป็นลูกน้อง หลวงทรง ยังสงสัย

หาว่าตาก ทุจริต คิดกำไร                                       ประทุษร้าย ใฝ่กบฎ ต่อแผ่นดิน

เที่ยวปล้นชิง สิ่งทรัพย์ เสียมากกว่า                         เมื่อถึงครา กรุงศรี อำนาจสิ้น

ปฏิบัติ เยี่ยงโจร ปล้นแผ่นดิน                                  ปราบให้สิ้น ขับไล่ ไกลระยอง

คิดจับตัว เจ้าตาก ส่งกรุงศรี                                    หาความดี ความชอบ ตอบสนอง

ท่านเจ้าเมือง พยายาม ปรามปองดอง                      ไม่เห็นพ้อง สมหวัง ดังตั้งใจ

          ๏ กรรมการ ลอบรวบรวม พวกไพร่พล           พร้อมเข้าปล้น ตอนค่ำ ทำลายค่าย

พลอาสา จากเมืองจันท์ รู้เลศนัย                              จึงแจ้งไข ให้เจ้าตาก จากเหตุการณ์

พระเจ้าตาก เชิญเจ้าเมือง มาสอบถาม                     ไม่เล่าความ จึงจำจอง ไว้ให้มั่น

กรรมการ ไม่รู้ข่าว เข้าทำการ                                 เสียงสะท้าน กึกก้อง ข้ามคลองไป

พระยาตาก ห้ามโต้ตอบ เป็นอันขาด                        ความประมาท ของข้าศึก คึกเข้าใกล้

ให้รักษา ความลับ โดยดับไฟ                                  สั่งทันใด ให้ยิงกราด อย่าพลาดคน

พวกเจ้าตาก โดดจากค่าย ไล่ตามติด                      เข้าประชิด ยึดค่าย จนได้ผล

ได้สังหาร ผู้คิดร้าย ให้จำนน                                   ในบัดดล ใช้ไฟเผา เป็นเถ้าจุล

          ๏ จัดระเบียบ ทุกเรื่อง เมืองระยอง                 เข้าครอบครอง เป็นที่ยั้ง ตั้งเป็นศูนย์

หากกล่าวความ ตามกฎ พระธรรมนูญ                     ก็คือศูนย์ ของกบฏ กฏมณเฑียร

ถือเป็นโทษ อุกฤษฎ์ ทำผิดนัก                                 ท่านตระหนัก ถึงอำนาจ ถูกตัดเศียร

แต่เหตุการณ์ ทันควัน ยากผันเวียน                        ต้องปราบเสี้ยน หนามแผ่นดิน ให้สิ้นไป

ได้ประกาศ ขึ้นเป็นเจ้า เมืองระยอง                         เหมือนผู้ครอง เมืองเอก เฉกไฉน

คนจะถือ เป็นกบฏ รออดใจ                                    ขอเพียงได้ กู้ชาติ ให้ประชา

แม้เจ้าตาก จะตั้งตัว ขึ้นเป็นใหญ่                                      แต่ยังได้ ผูกพัน ขันอาสา

จะกอบกู้ กรุงศรี อยุธยา                                          มิอาจกล้า ทำลาย ราชวงศ์

พวกขุนราม หมื่นซ่อง ที่หนีตาย                              ยังไม่วาย วางอาวุธ หยุดประสงค์

คุมพรรคพวก ปล้นม้าช้าง อย่างไม่ปลง                             ถูกปราบลง ณ ที่ตั้ง ยังเมืองแถลง

          ๏ พระเจ้าตาก อยากจะรู้ ศัตรูมิตร                ใครจะคิด อ่อนข้อ หรือกล้าแข็ง

จึงจัดทูต ศุภอักษร ร่อนสำแดง                                ไปแถลง ถึงจวน เจ้าเมืองจันท์

ท่านเจ้าเมือง ตอบกลับ รับเห็นด้วย                         จะมาช่วย ด้วยน้ำจิต อย่างมิตรฉันท์

ขอกอบกู้ กรุงไทย ไว้ด้วยกัน                                  จัดของขวัญ ส่งให้ทูต พูดสั่งมา

จะมาพบ พระเจ้าตาก ถึงระยอง                              จึงคอยจ้อง รอต้อนรับ และปรึกษา

เจ้าเมืองจันท์ เปลี่ยนใจ ไม่ยอมมา                          ย้อนคิดว่า น่าฉงน กลอุบาย

โทษเจ้าตาก ใช้กำลัง คลั่งผยอง                                       เมืองระยอง ยังยื้อแย่ง เอาไปได้

นับประสา เมืองจันท์ นั่นประไร                               คงไม่วาย ยึดอำนาจ ให้ขาดลง

          ๏ เวลานั้น นายบุญเรือง เมืองละมุง                เดินทางมุ่ง ผ่านระยอง ต้องประสงค์

ถือหนังสือ ของพม่า มาโดยตรง                              จะนำส่ง ถึงเจ้าเมือง จันทบุรี

ถูกทหาร ของเจ้าตาก จับตัวไว้                               แถลงไข เรื่องราว ข่าวกรุงศรี

โดยยึดครอง ของเนเมียว สีหบดี                                       โอ้กรุงศรี สิ้นเสียแล้ว แสนเศร้าใจ

คิดคำนึง ถึงกรุงศรี อยุธยา                                      ชาวประชา ป่านฉะนี้ เป็นไฉน

พระเจ้าตาก หลั่งน้ำตา ด้วยอาลัย                           แรงดลใจ ฝังสนิท ปณิธาน

          ๏ ออกความเห็น ให้นายกอง ลองใช้แผน      ปล่อยผู้แทน ของพม่า เดินทางผ่าน

จะขอดู จิตใจ เจ้าเมืองจันท์                                    ได้รู้กัน ว่าจะเข้า กับใครดี

แล้วจัดทูต ส่งไป บันทายมาศ                                  พร้อมกับจัด เรือให้ ส่งถึงที่

ความทราบถึง พระยา จันทบุรี                                ว่ากรุงศรี เสียพม่า น่าเสียดาย

พระยาจันท์ อยากเสรี อิสระ                                    เรียกคณะ- กรรมการเมือง ประชุมใหญ่

ไม่อ่อนน้อม ยอมรับ ให้กับใคร                               ไม่ต้องไป หาเจ้าตาก ดังวาจา

ถึงอย่างไร เจ้าเมืองจันท์ ยังพรั่นตาก                      เกรงวิบาก ในการศึก นึกกังขา

เมืองระยอง คงจะรุก บุกเข้ามา                               จึงปรึกษา หาวิธี ทางมีชัย

          ๏ ขณะนั้น ชลบุรี เมืองริมฝั่ง                         รวมกำลัง ซ่องสุม ผู้คนไว้

นายทองอยู่ นกเล็ก คิดการไกล                               อยากเป็นใหญ่ หลังกรุงแตก หวังแยกตัว

พระเจ้าตาก พากำลัง พร้อมไพร่พล                        บุกเมืองชล ยึดอำนาจ จากเจ้าสัว

นายทองอยู่ รู้ทัน หันมอบตัว                                   เพราะเกรงกลัว ยอมร่วมด้วย ช่วยกู้ภัย

          ๏ พระเจ้าตาก ทำเลียบเมือง เฟื่องประจักษ์   เพื่อตระหนัก แก่ผู้คน  และพลไพร่

นายทองอยู่ นกเล็ก เพื่อนร่วมใจ                                      แต่งตั้งให้ เป็นพระยา อนุราฐบุรี

แล้วเดินทัพ กลับถึง เมืองระยอง                             คิดไตร่ตรอง  มองทางลู่  กู้กรุงศรี

ได้ทั้งภาค ตะวันออก จึงจะดี                                  จันทบุรี ว่าอย่างไร ไม่เห็นมา

          ๏ เจ้าเมือง จันท์จัดสี่ สมณฑูต                       มาช่วยพูด เกลี้ยกล่อม อย่ากังขา

ให้ไปอยู่ ที่เมืองจันท์ มั่นวาจา                                เตรียมยาตรา จากเมืองใหญ่ ให้รี้พล

พระเจ้าตาก อนุโมทนา อย่างพาซื่อ                        เพราะเชื่อถือ ยกทัพไป หวังได้ผล

หารู้ไม่ เดินไปสู่ ประตูกล                                       ความแยบยล พระยาจันท์ จะโจมตี

อีกประมาณ สองร้อยเส้น จะถึงจันท์                       แดนสังหาร ข้ามแม่น้ำ หมดทางหนี

ชะรอยดวง เมืองไทย ยังอยู่ดี                                 ที่ยังมี คนช่วยเหลือ แจ้งเรื่องราว

          ๏ พระเจ้าตาก พอรับฟัง สั่งหยุดทัพ               วกย้อนกลับ ขึ้นทางเหนือ เพื่อฟังข่าว

พระยาจันท์ เสแสร้าง แกล้งแบ่งเบา                        เชิญให้เข้า เจรจา กันในเมือง

ตากสินสั่ง ฝากขุน พรหมภิบาล                               พระยาจันท์ พูดด้วย ไม่รู้เรื่อง

เราสูงศักดิ์ กว่าเจ้า ผู้ครองเมือง                              หากกระเดื่อง จงแต่งป้อม คอยท่าเรา

คดในข้อ งอในกระดูก เล่ห์เหลี่ยมจัด                      ตระบัดสัตย์ รอรับศึก อย่านึกเขลา

รักษาจันท์ ไว้จงดี จะตีเอา                                     ฉันไม่เข้า คนรวนเร เพทุบาย

 

 

          ๏ เจ้าเมืองจันท์ มีทหาร ที่มากกว่า                 จะรักษา เมืองไว้ แม้ใจหาย

รอทัพตาก หมดเสบียง เลี่ยงกลับไป                        ถอนเมื่อใด ไล่ติดตาม ล้อมโจมตี

          ๏ พระเจ้าตาก ตัดสินใจ ในฉับพลัน              ไม่นึกหวั่น ผันประวิง จะทิ้งหนี

ต้องรีบรุก บุกยึด จันทบุรี                                       ในคืนนี้ ให้จงได้ ไม่ต้องกลัว

สั่งนายทัพ นายกอง ผองทหาร                                มื้อเย็นนั้น หุงหา กินให้ทั่ว

อิ่มแล้วทุบ หม้อ ชามไห ให้หมดครัว                       เหลือแต่ตัว เช้ากินใหม่ ที่ในเมือง

ขึ้นช้างทรง ย่างตีสาม ยามฤกษ์ดี                            ชื่อคีรี บัญชร นามกระเดื่อง

ทหารซุ่ม เรียงราย ใกล้ชิดเมือง                              รักษาเรื่อง ความลับ ระวังไว

ห้ามส่งเสียง อื้ออึง พึงสำนึก                                    ในการศึก จงระแวด อย่าหวั่นไหว

เข้าประตู จันทบุรี ได้เมื่อใด                                   จึงจะให้ โห่ร้อง ก้องโจมตี

          ๏ ชาวเมืองจันท์ กั้นกำแพง เตรียมต่อสู้                   ข้าศึกกรู เข้ามา ไม่ผละหนี

กระสุนปืน กราดออกไป ในทันที                                      การโจมตี เริ่มขึ้น ในค่ำคืน

          ๏ ฝ่ายนายช้าง เห็นลูกปืน ดื่นระดาษ             เกรงจะพลาด ถูกเจ้าตาก จำขัดขืน

ไสช้างหลบ หลีกเลี่ยง กระสุนปืน                            เป็นการฝืน คำสั่ง อย่างตั้งใจ

พระเจ้าตาก ชักดาบ ออกจากฝัก                                      เพราะรู้จัก กันดี ที่นิสัย

นายช้างร้อง ขอชีวิต ขึ้นทันใด                               แล้วรีบไส ช้างพังคี- รีบัญชร

พุ่งเข้าชน บานประตู ทลายลง                                บุกเข้าตรง ไล่รุก บุกกระฉ่อน

กองกำลัง โหมเข้าไป ไม่อาทร                                เสียงดังฆ้อน ทุบทั่ง พังแหลกลาญ

พวกชาวเมือง ตื่นแตก แหวกวิ่งหนี                         จันทบุรี พ่ายแพ้ แก่ทหาร

ตัวเจ้าเมือง เล็ดลอด อย่างรนราน                           จึงจัดการ กับเมืองจันท์ ในวันเดียว

          ๏ ที่สิบสี่ มิถุนา ปีหนึ่งศูนย์                            ได้เพิ่มพูน กำลังคน ช่วยขับเคี่ยว

ยังจะเหลือ เมืองตราด เพียงเมืองเดียว                    แล่นลดเลี้ยว กองเรือ เพื่อโจมตี

ชาวเมืองตราด กรรมการเมือง รู้เรื่องเข้า                เพื่อบรรเทา ความเกรงกลัว ในศักดิ์ศรี

ยอมอ่อนน้อม เจ้าตาก แต่โดยดี                              แต่ยังมี จีนสำเภา ไม่อ่อนโอน

ซ้ำยังยิง ทหาร ของเจ้าตาก                                    กำแหงมาก ยิงมา ดังห่าฝน

พระเจ้าตาก ต้องทำศึก ไม่นึกรน                                      จนได้ผล เพียงครึ่งวัน ยึดสำเภา

          ๏ เป็นอันว่า บรรดาเมือง ตะวันออก               สัญญาณบอก ตอกย้ำ ถึงความเก่า

กว่าจะได้ คืนกรุง มุ่งสู่เนาว์                                     ทุกวันเฝ้า รุกโรม โหมประจัญ

ต้องก่อร่าง สร้างตน บนแนวรบ                              มีครันครบ กายใจ ไม่ไหวหวั่น

ได้รวบรวม พาลพบ ประสบการณ์                          ปณิธาน กอบกู้ชาติ ให้มีชัย

จันทบุรี เมืองหลัก ประจักษ์แท้                               จะขอแก้ เอกราช ให้จงได้

สั่งต่อเรือ ร้อยลำ นำพลไป                                     ทั้งเรือใบ เรือสำเภา เข้าตีคืน

          ๏ โอ้อยุธยา ธานี ศรีสยาม                             เมื่อถึงยาม เศร้าใจ ใครเล่าฝืน

ถูกพระเพลิง เผาผลาญ ทั้งวันคืน                            ปราสาทดื่น บ้านเรือนดาษ พินาศลง

โบสถ์วัดวา อาราม งามละเลื่อม                               มาสิ้นเสื่อม เห็นซาก ที่เหลือหลง

ทั้งปราสาท ราชวัง บัลลังก์ทรง                               เคยสูงส่ง ล้มราบ สาบสูญไป

พม่าต้อน คนไทย ไปพม่า                                       อนิจจา พระสงฆ์ ยังทำได้

พระภิกษุ อุทุมพร ถูกต้อนไป                                  กษัตริย์ไทย เอกทัศน์ พลัดซมซาน

มหาดเล็ก สองนาย พายเรือหนี                               ไปหลบที่ บ้านจิก หลังวิหาร

วัดสังฆาวาส ซ่อนตน จนสิบวัน                               อดอาหาร ทรงประชวร จวนสิ้นใจ

พม่าตาม มาพบ หนีไม่พ้น                                       โพธิ์สามต้น รับตัว ไปขังไว้

พระอาการ หนักหนา พิลาลัย                                  ได้ฝังไว้ วัดโคก พระสุเมร

การทำศึก กับกรุงศรี อยุธยา                                   ถึงพม่า จะยึดได้ ก็แสนเข็ญ

เกือบปีครึ่ง จึงจะได้ ให้ลำเค็ญ                               เลยไม่เว้น การทำลาย ให้เป็นจุล

เพราะคนไทย อัตคัด ขัดสนยิ่ง                                เข้าแย่งชิง เสบียงกรัง พลังหนุน

หมดคนช่วย เอื้อเฟื้อ มาเจือจุน                               จึงต้องสูญ ดังเห็นภาพ ตราบนิรันดร์

วชิร- ปราการ หนีไปก่อน                                       ยังอาวรณ์ ต่อเหตุ และเขตขันฑ์

หากไม่หนี ตีแหวก คงแหลกลาญ                            ถูกประหาร ทุกคน จนวางวาย

ฝ่ายเนเมียว เคี่ยวเข็ญ ไม่เว้นทรัพย์                        คณานับ ริบไปหมด ไม่งดไว้

ศิลปะ วัตถุ หลอมละลาย                                        ทองจากไทย ส่งพม่า ราคาแพง

          ๏ ฝ่ายคนไทย แยกชุมนุม เป็นกลุ่มหก           แตกเป็นก๊ก เสรี ท่าทีแข็ง

โดยตั้งตัว เป็นใหญ่ ใช้รุนแรง                               กระด้างแกร่ง แข็งเมือง ไม่รวมกัน

          ๏ ก๊กที่หนึ่ง แข็งสุด การยุทธกล้า                   ก่อตั้งมา ด้วยอาวุธ สุดขยัน

คือตากสิน ถิ่นอยู่ ในเมืองจันท์                               ก๊กนี้นั้น ใหญ่ขึ้นมา ด้วยกำลัง

          ๏ ก๊กที่สอง เจ้าพระยา พิษณุโลก                            ไม่เคยยก ทัพช่วยไทย ได้สักครั้ง

เป็นเมืองเอก ชั้นลูกหลวง หวงกำลัง                        อยู่ตอนล่าง ของภาคเหนือ เพื่อตั้งตัว

          ๏ ก๊กที่สาม ชุมนุม กลุ่มพระฝาง                     ใช้แอบอ้าง ฤทธิ์เดช คุ้มครองหัว

เที่ยวหลอกลวง ชาวบ้าน ให้เกรงกลัว                     แล้วตั้งตัว เป็นใหญ่ ได้ปกครอง

แต่ดั้งเดิม เริ่มบวชอยู่ อุตรดิตถ์                              มีความคิด มักใหญ่ ใฝ่ผยอง

เอาจีวร สีแดง แกล้งห่มครอง                                  คนทั้งผอง เรียกพระฝาง อิทธิพล

ยกกำลัง หยั่งเชิง พิษณุโลก                                    แต่อ้างโชค ไม่ดี มิได้ผล

แต่สามารถ ได้พลัง พวกมวลชน                                       อิทธิพล จากแพร่ ถึงพระบาง

 

 

          ๏ ก๊กที่สี่ นครศรี- ธรรมราช                          มีอำนาจ อยู่แล้ว ไม่แผ้วถาง

ประกาศตน เป็นเจ้า อยู่ย่านกลาง                            ไทยตอนล่าง จากชุมพร ถึงมาเล

มหาดเล็ก นายเวร ชื่อหลวงสิทธิ์                             เมื่อชีวิต สูงขึ้น จึงหักเห

เป็นปลัด หัวเมือง ชายทะเล                                    สมคะเน ขึ้นเป็นเจ้า เมืองนคร

          ๏ ก๊กที่ห้า กรมหมื่น เทพพิพิธ                        ผู้เคยคิด ทำกบฎ แล้วเร่ร่อน

เพราะตั้งใจ ให้เจ้าฟ้า อุทุมพร                                ครองนคร กรุงศรี อยุธยา

ต้องระเห็ด เตร็ดเตร่ ออกนอกเขต                          คอยหาเหตุ คืนสู่ หมู่เคหา

แม้เจ้าตัว ต้องเนรเทศ เขตลังกา                                       หลบเข้ามา หาพวก เมืองพิมาย

ด้วยเพราะเป็น หน่อเนื้อ เชื้อพระวงศ์                      จึงยังทรง อิทธิพล คนทั้งหลาย

คุมอิสาณ ฐานถิ่น ทางพิมาย                                   เป็นก๊กใหญ่ เสรี มีกำลัง

          ๏ ก๊กที่หก ของสุกี้ พระนายกอง                     เป็นคนของ เนเมียว มาก่อตั้ง

ส่วนทิ้งไว้ ให้ปะทะ กองกำลัง                                 ปล้นทุกครั้ง ส่งทรัพย์ ขนกลับเมือง

มีกำลัง ไทยมอญ และพม่า                                      คอยเข่นฆ่า ผู้คน จนลือเลื่อง

คอยรายงาน การแปรผัน ของบ้านเมือง                  เอาแต่เรื่อง ปล้นสะดม ข่มริดรอน

ธนบุรี ที่ตั้ง ของชุมนุม                                            มีคนหนุ่ม รวมกัน เป็นกลุ่มก้อน

คอยย่ำยี บีทา ประชากร                                        คอยตัดรอน ทางอาวุธ ยุทธภัณฑ์

          ๏ ทั้งหกก๊ก ดังกล่าว นั้นแตกต่าง                             มีหลายอย่าง จำแนก ผิดแผกผัน

เพียงก๊กเดียว ที่ตั้งจิต ปณิธาน                                ล้างผู้ผลาญ แผ่นดิน ให้สิ้นไป

คือก๊กของ เจ้าตาก ลำบากยิ่ง                                 รวบรวมสิ่ง มาต่อสู้ แทบไม่ไหว

ทั้งเสียชื่อ เสียเสียง และเสี่ยงตาย                           ขอให้ไทย อยู่ยั้ง ยั่งยืนยง

          ๏ การทำศึก ครั้งใด ให้ได้ผล                        มีขุนพล คู่ปอง ต้องประสงค์

มิตรไมตรี ฝีมือ และซื่อตรง                                    ไม่คดโกง การศึก นึกระแวง

ยอมสละ เลือดพลี ร่วมชีวิต                                    มีทั้งจิต วิญญาณ ที่กล้าแกร่ง

แขนสองข้าง ต่างตาหู คู่สำแดง                              ไม่ขัดแย้ง แย่งเรือ ลำเดียวกัน

พระเจ้าตาก กู้กรุงศรี มีขุนพล                                 อีกสองคน ขอกล่าวถึง ตรึงตรามั่น

คนทั้งสอง มีบทบาท ที่สำคัญ                                  เป็นมิ่งขวัญ ของตากสิน จนสิ้นลม

คนแรกคือ นายทองด้วง ยกกระบัตร                       เหมือนเครือญาติ มิ่งมิตร สนิทสม

เป็นเพื่อนรัก ร่วมเรียน เพียรอบรม                         ความเหมาะสม ราชการ ได้ผันแปร

อีกหนึ่งนั้น คือนาย สุดจินดา                                   นักรบกล้า น้องทองด้วง ปานดวงแข

สติปัญญา ไม่น้อย คอยดูแล                                   ร่วมพ่อแม่ เดียวกัน มั่นใจปอง

เป็นบุตรชาย คุณหลวง พินิจอักษร                         ครั้นเมื่อตอน ยังเล็ก เด็กทั้งสอง

ต่างรู้จัก ตากสิน อย่างปรองดอง                                      แล้วจำต้อง เปลี่ยนวิถี ชีวีไป

          ๏ เมื่อกรุงแตก แยกกระจาย หลายชีวิต                   ต่างต้องคิด ดิ้นรน ทนให้ได้

สุดจินดา ยังยุ่ง ในกรุงไกร                                     หลบหนีตาย ในเมือง เรื่องวกวน

ได้เรือโปง ลงลำน้ำ เจ้าพระยา                               ตายดาบหน้า ดีกว่าอยู่ อย่างไร้ผล

พร้อมด้วยเพื่อน มิตรคาม อีกสามคน                       ดุ่มดั้นด้น ค้นหา หน้าพี่ชาย

          ๏ เรืออีโปง ลงละล่อง ตามท้องน้ำ                 พายตอนค่ำ กลางวันพัก ปักใจหมาย

ฆ้องกระแต เอาไปด้วย ช่วยผ่อนคลาย                             จุดที่หมาย มิให้พลาด ราชบุรี

ถึงบางไทร พบค่าย ของพม่า                                  สองฟากท่า รายทาง ของสุกี้

ยามร้องเรียก ทีไร ใช้ฆ้องตี                                   ยามก็ดี มองเห็น เป็นพวกกัน

ผ่านพม่า เมื่อใด ก็ใช้ฆ้อง                                                จนเรือล่อง ผ่านได้ ดังคาดฝัน

ตอนกลางคืน พายไป ใช้ไฟควัน                                      เหมือนตรวจการณ์ ด้วยเรือ ติดโคมไฟ

ทำลับล่อ ล้อลวง เลียนภาษา                                   เสียงพม่า โหวกเหวก ไม่สงสัย

จนพม่า หลงเชื่อ ใช่เรือไทย                                   เป็นเรือไฟ ของพม่า มาตรวจการณ์

          ๏ ค่ำวันหนึ่ง พายเข้าไป ใกล้วัดแจ้ง              มองเห็นแสง ป้อมค่าย ของทหาร

เห็นเรือมุ่ง มาใกล้ หลบไม่ทัน                                 คิดได้พลัน คว่ำเรือขุด มุดเข้าใน

เรือทหาร จะผ่านไป ใช้ไม้เคาะ                              เห็นไม้เปราะ ผุแล้ว ไม่สงสัย

พวกทองอิน ยินภาษา ว่าพูดไทย                                      ผ่านเลยไป ปลอดภัยแล้ว แคล้วอีกที

ล่องเรือลัด ทะลุคลอง บางกอกใหญ่                        ผ่านเข้าไป ท่าจีน ยังถิ่นที่

เจอพม่า คราใด ไม่ไยดี                                          ใช้ฆ้องตี ล่มเรือ ตลอดทาง

ภาวนา อธิษฐาน ให้ผ่านพ้น                                   อย่าทุกข์ทน พบพม่า ให้หมองหมาง

ถึงท่าจีน ตอนพรุ่ง ย่ำรุ่งราง                                   ฟ้าสว่าง พักผ่อน หย่อนพิงกาย

ได้เกิดเหตุ อัศจรรย์ ขวัญระทึก                              เมื่อใดนึก ขึ้นมา น่าใจหาย

อัสนีบาต ฟาดลง ไม่ตรงใคร                                  เป็นรูใหญ่ ยาเรือ ด้วยดินดำ

ผ่านตำบล หมาหอน วอนเทวา                                ไม่เห็นหน้า จระเข้ มากรายกร้ำ

แต่พบโจร ผู้ร้าย ที่ก่อกรรม                                    จึงแกล้งทำ เสียงพม่า ต่อหน้าโจร

ฝ่ายโจรไพร ใจโหด กระโดดหนี                                      พอได้ที ตะเพิดไล่ อย่างได้ผล

ได้พบดาบ งามหรู คู่กมล                                        ประจำตน กรมพระราชวังบวร

มาจนถึง แม่กลอง ไม่ต้องพัก                                  เกิดพายหัก พักพาย ไม่ถ่ายถอน

อาหารหมด อดตาหลับ ขับตานอน                          ใช้น้ำถอน ประทังหิว ดิ่วอัมพวา

เข้าอาราม ถามพระ ตามหาพี่                                  ข่าวว่าหนี พาครอบครัว ไปเข้าป่า

จึงหมายมั่น ปั้นมือ ถือศาสตรา                                บุกพนา พบพี่ชาย ดังใจจง

 

 

          ๏ เรื่องทุกข์สุข ไต่ถาม สามพี่น้อง                 ต่างเศร้าหมอง เพราะอีกสี่ ซึ่งพลัดหลง

เมื่อกรุงศรี อยุธยา สลายลง                                    ต้องเข้าดง พลัดพราก จากกันไป

เพราะบ้านแตก สาแหรกขาด จำพลาดพลัด             ถูกกรรมซัด บาบซ้ำ ระกำไฉน

ได้พลั้งพลาด ประลาตเร้น เป็นหรือตาย                            ประการใด สุดจะกล่าว มาเล่าความ

แสนเป็นห่วง ปิตุลา และพี่น้อง                                เห็นจะต้อง ลำบากฝ่า ขวากหนาม

เหตุมาจาก ความเลวร้าย ภัยสงคราม                      เมื่อถึงยาม พ่ายแพ้ ไม่พ้นภัย

สุจินดา ห่วงใย ในตัวพี่                                          อยู่ที่นี่ หรือจะพ้น พม่าได้

อยากขอร้อง เดินทาง ห่างออกไป                           เพื่อหลบภัย ไปเมืองชล เสียด้วยกัน

ส่วนทองด้วง ก็ห่วงใย ในตัวน้อง                            เจ้าไม่ต้อง กังวล ทนบากบั่น

เจ้าไปพบ เพื่อนรักพี่ ที่เมืองจันท์                                      ของกำนัล ฝากไปด้วย ช่วยอย่าลืม

แหวนไพฑูรย์ บุศราคำ ดาบคล่ำทอง                      ยิ่งสิ่งของ ที่สำคัญ ท่านคงปลื้ม

แวะเมืองเพชร รับมารดา เจ้าอย่าลืม                       ไม่ต้องยืม มีเรือให้ ได้พอเพียง

          ๏ สุจินดา หรือบุญมา ร่ำลาพี่                         เพชรบุรี ได้พบ นางนกเอี้ยง

บรรทุกเรือ พอลำ น้ำเสบียง                                    พายเลาะเลี่ยง ทางลัด ตัดเมืองชล

มาจนถึง บ้านจีนเรือง คนรู้จัก                                 ขอพำนัก หายเหนื่อย เริ่มดั้นด้น

พานกเอี้ยง นั่งช้าง จากเมืองชล                              แรมรอนจน เข้าเขตขันฑ์ จันทบูรณ์

พระเจ้าตาก ดีใจ ได้พบแม่                                     เป็นบุญแท้ บารมี มิเสื่อมสูญ

ทหารเอก ก็ได้ ให้เพิ่มพูล                                       ขอแทนคุณ ให้ศรี อโยธยา

          ๏ เมืองกรุงศรี อยุธยา ต้องปราชัย                 อยู่ภายใต้ การย่ำยี ของพม่า

กองทัพเรือ แลดู สุดหูตา                                         โต้คลื่นมา ฝ่าแรงลม สมราชนาวี

เห็นธงทิว ปลิวไสว จิตใจชื่น                                  ทหารดื่น สองกราบเรือ ใจล้นปรี่

สละเลือด เนื้อไทย ให้ชาติพลี                                จะขอตี อยุธยา เอามาคืน

          ๏ สั่งเร่งเรือ รวดเร็ว ทิศทางลม                     เตรียมจู่โจม ข้าศึก ที่ขัดขืน

เลี้ยวกองเรือ เข้าปากน้ำ ยามค่ำคืน                        บุกก่อนอื่น ป้อมประสิทธิ์ ปิดด้วยเรือ

ที่ปากคลอง บางหลวง ธนบุรี                                  ฝ่ายไทยมี กำลัง ที่ยังเหนือ

ยิงคุ้มครอง ป้องกัน หันหัวเรือ                                เกลือจิ้มเกลือ ขึ้นกวาดล้าง ทั้งฝั่งธน

นายทองอิน คนไทย ที่ขายชาติ                              ยังบังอาจ ต่อสู้ อย่างเข้มข้น

มือยังอ่อน อย่างทองอิน สิ้นทานทน                         ไม่ฑัณฑ์บล ให้ประหาร ผลาญชีวา

          ๏ พระเจ้าตาก ยึดกรุงธนไว้จนได้                 รีบยกไปไล่ขับ จับพม่า

กองทัพเรือ ขึ้นลำน้ำ เจ้าพระยา                              ไม่ชักช้า ฉับไว พร้อมไพร่พล

ด้วยดำรง มุ่งหมาย ไปกรุงศรี                                 มอญสุกี้ รักษาโพธิ์สามต้น

ส่งมองย่า มีมอญไทย เป็นไพร่พล                           ควบคุมคน เป็นกองทัพ คอยรับมือ

นำกำลัง มาตั้ง ที่พะเนียด                                        ไทยมอญเกลียด มองย่า ไม่เชื่อถือ

กิตติศัพท์ ทัพไทย เริ่มเลื่องลือ                                พากันฮือ ผละพม่า มาร่วมไทย

ส่วนที่เหลือ หลีกหนี เอาตัวรอด                              กลัววายวอด รวนเร ทำเฉไฉ

ละหน้าที่ หนีกองทัพ ถอยกลับไป                            ไม่มีใคร คิดสู้ เพราะรู้ตัว

มีคนไทย ให้ข่าว พระเจ้าตาก                                 ความลำบาก ประชาชน จนถ้วนทั่ว

ความเคลื่อนไหว ฝ่ายข้าศึก นึกเมามัว                     ยังพันพัว กับสินทรัพย์ นับเนืองนอง

อธิบาย แผนผัง โพธิ์สามต้น                                    เป็นฐานปล้น รวบรวม เก็บคนของ

กองกำลัง สุกี้ พระนายกอง                                     อยู่บนสอง ฟากฝั่ง ตลิ่งชัน

พระเจ้าตาก ไล่ประชิด ติดมองย่า                            ตีค่ายขวา ของฝั่ง อย่างเข้มขัน

แต่หัวค่ำ ย่ำรุ่ง มุ่งประจัญ                                                ล่วงกลางวัน จึงสำเร็จ ได้ยึดครอง

มองย่าเตลิด เปิดเปิง กระเจิงหนี                             ธนบุรี รุกต่อไป ค่ายที่สอง

สร้างบันได ไม้ลาด พาดฝั่งคลอง                                      พระนายกอง โดนจับ ยึดทรัพย์คืน

รบครึ่งวัน ทหารพม่า ต้องล่าถอย                            มีส่วนน้อย หนีได้ ตายดาษดื่น

ฝ่ายคนไทย หวานอม ยอมขมกลืน                          หวนกลับคืน ฟื้นกองทัพ ธนบุรี

          ๏ พระเจ้าตาก พักทัพ โพธิ์สามต้น                 ไทยทุกคน ดีใจ ได้กรุงศรี

อยุธยา ทวยราษฎร์ ราชธานี                                  ปลื้มปิติ ยินดี แสนปรีดา

          ๏ ภายในค่าย โพธิ์สามต้น ค้นสมบัติ             สารพัด สารพัน อันล้ำค่า

ที่ศัตรู ปล้นไว้ คายออกมา                                                คืนประชา และเก็บไว้ ในแผ่นดิน

มีเจ้านาย หลายคน ที่โดนจับ                                  ยังไม่รับ ตัวไป ให้หมดสิ้น

ข้าราชการ เจ้าฟ้า ข้าแผ่นดิน                                 สมถวิล ชีวีรอด ได้ปลอดภัย

พระเจ้าตาก ทรงดูแล พระเครือญาติ                      มิให้ขาด เครื่องโภคา หามาให้

ซื้อข้าวสาร ประธานแจก คนทั่วไป                         คนยากไร้ แบ่งปัน ในทันที

บรมศพ ขององค์ เอกทัศน์                                      ได้ทรงจัด ถวายเพลิง สมศักดิ์ศรี

บรรจุพระ- อัฐิ ตามพิธี                                           ประเพณี เจ้าแผ่นดิน ประดุจมา

          ๏ แสนสงสาร ราชธานี ศรีสยาม                    กระเดื่องนาม งามสะอาด พระศาสนา

แตกกระสานต์ ซ่านเซ็น เห็นระอา                          เกินปัญญา ที่จะกล่าว เล่าบรรยาย

แทบจะสิ้น พระสงฆ์ องค์เจ้า                                   ทั้งผู้เฒ่า ผู้หญิง ยิ่งล้มหาย

หนีเข้าป่า เร่ร่อน ซุกซ่อนกาย                                หลบหนีตาย เลี่ยงถูกต้อน หัวซอนซุน

พระภิกษุ สมเด็จ อุทุมพร                                        ยังถูกต้อนไปลับ จนดับสูญ

งานจารึก ของพระองค์ ทรงพระคุณ                       ถึงคนรุ่น ภายหลัง รู้ความจริง

เรียกกันว่า คำให้การ ชาวกรุงเก่า                           ที่พวกเรา ได้ศึกษา อย่างดียิ่ง

คำให้การ ชาวกรุงเก่า เล่าเท็จจริง                          เรื่องทุกสิ่ง เกิดจากพบ ประสบการณ์

ในบัดนี้ มีเหลือ แต่ล่องลอย                                    แสนเศร้าสร้อย วิโยค พาโศกศัลย์

ย้ำให้คิด สะกิดใจ ไปอีกนาน                                  สุดประมาณ จะสร้างฟื้นให้คืนดี

          ๏ พระเจ้าตาก เรียกประชุม กลุ่มอำมาตย์      คงมิอาจ บูรณะ ได้เต็มที่

อีกคนไทย ยังคงแยก แตกสามัคคี                          ต้องต่อตี ปราบปราม ตามฟาดฟัน

ในคืนหนึ่ง ซึ่งประทับ อยุธยา                                 กษัตรา หลายพระองค์ ทรงเข้าฝัน

ไม่เต็มใจ ให้อยู่ อู่เดียวกัน                                     ตัดใจพลัน เมืองหลวงย้าย ไปธนบุรี

เป็นเมืองท่า ค้าขาย ใกล้ปากอ่าว                            ชาติต่างด้าว มาค้า ได้เต็มที่

ยุทธศาสตร์ ป้องกัน มั่นคงดี                                    โอกาสหนี ทีไล่ ไปเมืองจันท์

          ๏ สถาปนา ธนบุรี เป็นเมืองหลวง                            ไทยทั้งปวง เชิญพระองค์ ทรงถวัลย์

เถลิงราช สมบัติ ขัติโอฬาร                                     พระนามท่าน ศรีสรรเพชร ปกเกศไทย

เป็นสมเด็จ พระบรม ราชาที่สี่                                 พระเจ้า กรุงธนบุรี ผู้ยิ่งใหญ่

ทรงกอบกู้ เอกราช ให้ชาติไทย                              นามเกรียงไกร ปฐพี สุวรรณภูมิ

ยี่สิบแปด ธันวาสอง สามหนึ่งหนึ่ง                           รำลึกถึง ประชาไทย ใจร้อนรุ่ม

ปลื้มปิติ ปรีดา มาชุมนุม                                         ร่วมประชุม ปราบดาภิเษก กษัตริย์ไทย

สมเด็จ พระเจ้า กรุงธนบุรี                                                ปูนบำเหน็จ ความดี ความชอบให้

พวกแม่ทัพ นายกอง ต้องพระทัย                                      แล้วเลื่อนให้ สุดจินดา มหามนตรี

เป็นเจ้ากรม พระตำรวจ ด้านในขวา                       ศักดินา สองพันไร่ ได้สุขศรี

และสมเด็จ พระเจ้า กรุงธนบุรี                                 ให้ตามพี่ นายทองด้วง เพื่อนเดิมมา

แต่งตั้งให้ เป็นพระ- ราชวรินทร์                                       ให้อยู่กิน ถิ่นฐาน ย่านบางหว้า

เป็นเจ้ากรม พระตำรวจ ผู้ตรวจตรา                       คู่น้องยา เป็นด้านซ้าย ในพระองค์

เจ้าแผ่นดิน องค์ใหม่ ของไทยนี้                              ทรงพระปรี- ชาชาญ ที่สูงส่ง

เสด็จพบ ประชาชน ของพระองค์                           พระประสงค์ ทอดพระเนตร ทุกเหตุการณ์

และพระองค์ ทรงเป็น มหากษัตริย์                          ที่ไม่ขาด สร้างสม พรหมวิหาร

ทศพิธ ราชธรรม ตรากตรำงาน                              แทบทุกด้าน ทรงทนุ บูรณา

การปกครอง เศรษฐกิจ การทหาร                           ทั้งทางด้าน การเงิน และการค้า

เตรียมขยาย ประเทศ เขตอาณา                                       แสวงหา สันติสุข สู่ปวงชน

ชุมชนน้อย ต่างอ่อนน้อม สวามิภักดิ์                       เตรียมพลพรรค ไพร่ฟ้า มาฝึกฝน

ความชำนาญ ด้านอาวุธ ยุทธพล                                      เพื่อผจญ ปราบชุมนุม กลุ่มแข็งเมือง

จัดเรือรบ ครบครัน ด้านอาวุธ                                 หวังยื้อยุด บุกศัตรู ให้รู้เรื่อง

เอกราช ชาติไทย เคยรุ่งเรือง                                 ต้องกระเดื่อง เช่นเดิม ดังเริ่มมา

ฝ่ายพม่า ล่าถอยไป ไม่หวนกลับ                                      เพราะจัดทัพ รับจีน อย่างแน่นหนา

หมดโอกาส รานรุก บุกเข้ามา                                 เพราะพารา เปลี่ยนกษัตริย์ ผลัดแผ่นดิน

          ๏ ได้เวลา พระเจ้าตาก กำจัดก๊ก                    พิษณุโลก ก๊กแรก ต้องให้สิ้น

ยกทัพเรือ รุดหน้า ฝ่าวาริน                                     พระองค์อินทร์ เป็นจอมทัพ พร้อมไพร่พล

เจ้าพระยา พิษณุโลก มีบัญชา                                หลวงโกษา มาต้านทาน ด้วยการปล้น

จัดเรือเพรียว ดักซุ่ม ตั้งกลุ่มโจร                                       ที่ตำบล เกยชัย รับให้ดี

ทัพทางเหนือ ชำนาญ แม่น้ำน่าน                             เข้าประจัญ ปล้นเรือ พระทรงศรี

พระเจ้าตาก เคืองแค้น แสนทวี                               ถูกโจมตี ออกนำหน้า บัญชาการ

สั่งหันเรือ เผชิญศึก อย่างฮึกโหม                            เข้าถาโถม ต่อสู้ อย่างห้าวหาญ

หลวงโกษา ล่าถอย เหลือทนทาน                            ถอนทหาร รีบกลับ หนีลับไป

แม้การรบ ที่ได้เปรียบ ของพระองค์                        แต่พระชงฆ์ ถูกปืน ฝืนไม่ไหว

จำถอนทัพ กลับมา น่าเสียดาย                                เมื่อแผลหาย ดีแล้ว จะกลับมา

          ๏ ฝ่ายพระยา พิษณุโลก สำคัญผิด                เพราะหลงคิด ตัวเอง เก่งหนักหนา

นึกว่าตัว เรานี้ มีบุญญา                                          จึงประกาศ ราชา ภิเษกตัว

ตั้งตนเอง ขึ้นเป็น พระกษัตริย์                                อย่างบังอาจ มิคณา กลาหัว

เกิดวิบัติ ในเจ็ดวัน จัญไรตัว                                   เกิดเป็นหัว ฝีใหญ่ ในลำคอ

จะรักษา อย่างไร ก็ไม่หาย                                     พิลาลัย ลับลา สุดแรงหมอ

มีน้องชาย พงศ์เผ่า เป็นเหล่ากอ                              ได้เป็นพ่อ เมืองคนใหม่ ในสองแคว

ชื่อพระอินทร์ อากร ระอ่อนคร้าม                           ไม่คิดทำเ หมือนพี่ชาย ได้เป็นแน่

แต่กำลัง พิษณุโลก เริ่มอ่อนแอ                               คนไม่แล เลื่อมใส ใจนิยม

พิษณุโลก พบสงคราม อีกหนึ่งครั้ง                         ก๊กพระฝาง มาล้อมเมือง จะถาโถม

เป็นเวลา สองเดือน ไม่รุกโรม                                 ไม่จู่โจม สร้างเดือดร้อน ไปตามกัน

อินทร์อากร อ่อนแอ ไม่แก้ไข                                 คนภายใน รันทด อดอาหาร

แทบจะสิ้น ดิ้นรน เหลือทนทาน                               จึงพากัน เป็นไส้ศึก เพราะนึกกลัว

ประตูเมือง เปิดให้เข้า เจ้าพระฝาง                          นำกำลัง ยึดไว้ ได้จนทั่ว

ยึดสมบัติ ศาสตรา เป็นของตัว                                แล้วตัดหัว เจ้าเมือง อินทร์อากร

          ๏ เกณฑ์ คนไทย ไปสวางคบุรี                      ชาวธานี สองแคว ถูกไล่ต้อน

คนสองแคว ไม่เต็มใจ ใฝ่อาวรณ์                           ได้หนีย้อน สวามิภักดิ์ องค์ภูมินทร์

          ๏ องค์สมเด็จ พระเจ้า กรุงธนบุรี                             เปลี่ยนวิธี ปราบก๊ก ให้หมดสิ้น

มหามนตรี กับพระ ราชวรินทร์                               เดินล่วงถิ่น ด่านกระโทก ยกทัพมา

แล้วพระองค์ ทรงทัพ อีกทางหนึ่ง                           เคลื่อนมาถึง โคราช ดังปรารถนา

จะปราบปราม ก๊กพิมาย ขยายอาณา                       เพื่อประชา ชาวไทย ได้อยู่เย็น

เจ้าพิมาย คือกรมหมื่น เทพพิพิธ                             เคยร่วมคิด พระพิมาย ปราบยุคเข็ญ

ยกตำแหน่ง เจ้าพิมาย ให้ได้เป็น                                      เพราะเล็งเห็น  เป็นวงศ์  กษัตรา

พระยาศรี  สุริยวงศ์  ส่งสองทัพ                               ออกมารับ  ทัพกรุงธน  เผชิญหน้า

ด่านจอหอ  เหนือนคร- ราชสีมา                              เห็นปรีชา  สามารถ  กษัตริย์ไทย

แม้ฝีมือ  ไล่เรี่ย ก็เสียท่า                                         เจ้าพระยา สุริยวงศ์ ต้องแพ้พ่าย

แม้นจะมี มองย่า เพื่อนร่วมตาย                               ถูกจับได้  ทั้งสิ้น รวมสามคน

พร้อมนายสา  มหามนตรี  ลูกชายใหญ่                             ทัพพิมาย แตกยับ หนีสับสน

เจ้าตากสิน สั่งประหาร ทั้งสามคน                           เพราะดิ้นรน สู้หนัก มิภักดี

พระดำรัส ตรัสมองย่า หาที่ตาย                              ไม่วอดวาย อยุธยา ยังมานี่

เมื่อหลีกหลบ รอดตาย ไม่ว่าดี                                มาถึงที่ จนได้ ตายเถิดเอ็ง

อีกทัพหนึ่ง พระยาวง- ศาธิราช                               ผู้สามารถ ลูกชายเล็ก รบกล้าเก่ง

ยกมาต้าน ด่านกระโทก ไม่กลัวเกรง                       เลือดละเลง รบรา จนหลายวัน

ราชวรินทร์ มหามนตรี มีมานะ                                ไม่ลดละ พยายาม มิขามครั่น

ความเชี่ยวชาญ การยุทธ สุดชำนาญ                      ยึดที่มั่น ด่านกระโทก ได้สมใจ

พระยาวง- ศาธิราช ต้องหลบหนี                                      และโชคดี หนีรอด ออกไปได้

เข้าเสียมราฐ กัมพูชา อย่างเร็วไว                           เจ้าพิมาย เทพพิพิธ หนีติดตาม

เลิกคิดอ่าน สะท้านใจ ไม่ต่อสู้                                นึกอดสู เกรงภัย ในสยาม

ขุนชนะ ขันอาสา พยายาม                                      ออกติดตาม นำตัวเฝ้า เจ้ากรุงธน

พระเจ้าตาก ยกเข้ายึด เมืองพิมาย                          อย่างง่ายดาย ไม่รุนแรง สักแห่งหน

ทรงเมตตา ไม่เข่นฆ่า ประชาชน                                      และทุกคน อ่อนน้อม ยอมโดยดี

          ๏ กรมหมื่น เทพพิพิธ ฤทธิ์โอหัง                    พระที่นั่ง ไม่นอบน้อม ถ่อมเกศี

พระเจ้าตาก จักเลี้ยงไว้ คล้ายเดิมที                        สิ้นปราณี บริภาษ ก่อนลงทัณฑ์

          ๏ เจ้าสิ้นบุญ อยู่ที่ใด ก็ไม้พ้น                        พาผู้คน วอดวาย ตายที่นั่น

ขืนอยู่ไป คงไม่วาย จะก่อการ                                คิดล้างผลาญ จลาจล อยู่ร่ำไป

สำเร็จโทษ กรมหมื่น เทพพิพิธ                                พระทรงคิด ปราบกลุ่ม ชุมนุมใหญ่

ปูนบำเหน็จ ขุนทหาร ผู้ชาญชัย                             พระยาอภัย รณฤทธิ์ จากราชวรินทร์

พระมหา มนตรี สุดจินดา                                        เป็นอนุชิต ราชา ของตากสิน

สองพี่น้อง สองนักรบ จบธานินทร์                           อยู่รั้งถิ่น ยั้งทัพ ไม่กลับกรุง

          ๏ กัมพูชา แย่งอำนาจ ราชสมบัติ                            ถึงขนาด ศึกกลางเมือง เกิดเรื่องยุ่ง

นักองตน ขนญวน ชวนพยุง                                   เกิดรบพุ่ง จนมีชัย ได้ครองเมือง

เป็นสมเด็จ พระนา- รายณ์ราชา                             ครอบครอง กัมพูชา จนครบเครื่อง

นักองนน ผู้แพ้พ่าย ให้ขุ่นเคือง                               จึงนำเรื่อง มากราบทูล ธนบุรี

ข่าวทบทวน ญวนยกมา น่าเชื่อมาก                         พระเจ้าตาก ไม่ไว้ใจ ในเรื่องนี้

จึงสั่งพระ- ยาโกษา ธิบดี                                        คุมทั้งสี่ ปากทาง ย่างเข้ามา

เป็นผลให้ ไทยจัดทัพ ปรับกำลัง                                       เฝ้าระวัง กรุงธน จนแน่นหนา

ทัพเจ้าตาก พร้อมที่ตั้ง ยั้งยาตรา                                      ให้พระยา จักรี ตีนครฯ

หลวงนายศักดิ์ จากกรุงเก่า เป็นแม่ทัพ                     พร้อมเสร็จสรรพ ล่องใต้ ไปตีก่อน

กัมพูชา ไม่สวามิภักดิ์ จักร้าวรอน                           ต้องต่อกร ทัพไทย ให้รู้ดี

ไทยให้ส่ง เครื่องราช บรรณาการ                          เขมรหาญ กล่าวหา พระทรงศรี

ใช่หน่อเนื้อ เชื้อกษัตริย์ ขัตติย์บุรี                          ไม่ส่งที่ บรรณา ขัดคาใจ

มีโองการ ให้อภัย รณฤทธิ์                                      อนุชิต ราชา ยกทัพได้

จากเมืองราช- สีมา กรีฑาไป                                  ยึดให้ได้ เสียมราฐ รอทัพธน

ให้โกษา ธิบดี กรีฑาทัพ                                         ยกเข้าปราบ พระตะบอง ให้ถอยร่น

รอทัพหลวง ยกมารบ นักองตน                               หวังคิดโค่น ยึดชาติ กัมพูชา

ทั้งสามหน่วย ช่วยปฏิบัติ ภารกิจ                                      ให้สัมฤทธิ์ สมมาตร ปรารถนา

ต่างรอคอย ทัพหลวง จะยกมา                                จะได้ยึด กัมพูชา ให้สาใจ

เจ้าพระยา จักรี ตีนครฯ                                          เมืองชุมพร ไชยา อ่อนน้อมให้

ไม่ต้องเสีย เลือดเนื้อ ทหารไทย                              น่าเสียดาย ทัพแยก แตกสามัคคี

เกิดขัดแย้ง ตกลง กันไม่ได้                                     เมื่อทัพไทย ถึงเขต นครศรี

แขวงท่าหมาก ข้ามลำ น้ำตาปี                                เข้าโจมตี ทีละทัพ ไม่รับกัน

เพราะผิดพลาด จึงมิอาจจะดีได้                              และซ้ำร้าย ย่อยยับ ถึงดับขันธ์

ศรีพิพัฒน์ พระยาเพชร ที่โรมรัน                                      ต้องอาสัญ พร้อมหลวง ลักษมานา

ลูกแม่ทัพ นักรบ ยังโดนจับ                                     ต้องถอยทัพ กลับไป ให้ขายหน้า

ถอนไปตั้ง ยั้งอยู่ ที่ไชยา                                        เจ้าพระยา ยมราช จึงกราบทูล

ว่าพระยา จักรี มิใส่ใจ                                            จึงทำให้ ขุมกำลัง ต้องสิ้นสูญ

หลังได้ฟัง คำถวาย บังคมทูล                                  เตรียมพร้อมมูล ทัพเรือ รีบล่องไป

          ๏ อีกหนึ่งหมื่น มุ่งตี ศรีธรรมราช                            ไม่ประมาท รวมกำลังที่ค้างไว้

พบพายุ ที่หาดเจ้า จึงเศร้าใจ                                  จัดทัพใหม่ เสียเวลา เร่งซ่อมเรือ

กองกำลัง จากไชยา ยาตราทัพ                               หนีบขนาบ เมืองนคร ทางตอนเหนือ

ตะวันออก ยกขึ้นมา ทางท่าเรือ                               เข้าช่วยเหลือ มุ่งเคลื่อนที่ ตีใจกลาง

ทัพนคร คาดไม่ถึง ซึ่งทางน้ำ                                  จึงไม่นำ กำลัง ไปขัดขวาง

ตั้งค่ายรับ ที่ท่าหมาก ตรงปากทาง                          เขาหัวช้าง อีกค่าย ใช้ป้องกัน

องค์สมเด็จ เจ้าตากสิน ธนบุรี                                 เรือเคลื่อนที่ ไม่มีใคร มาขวางกั้น

ลุยขึ้นบก ยกตี อุปราชจันทร์                                  ไม่กี่วัน ยึดได้เมือง นครมา

เจ้านคร สิ้นปัญญา ไม่กล้ารบ                                 ครอบครัวหลบ เอาตัวรอด ไปสงขลา

ไปพึ่งบุญ คุณหลวง และพระยา                              ทั้งสงขลา พัทลุง ปัตตานี

          ๏ ทัพกองหน้า ของพระยา ยมราช                 เข้าพิฆาต ค่ายหัวหมาก จนแตกหนี

ค่ายหัวช้าง รู้เรื่อง เมืองเสียที                                 ขวัญจึงหนี ลี้หลบ เลิกรบรา

พระยาจักรี เดินทาง อย่างรีบเร่ง                                      ด้วยกริ่งเกรง พระเจ้าตาก ถึงปากท่า

ตีประสาน ไม่พ้อง ต้องเวลา                                   เพราะว่าช้า กว่าทัพเรือ ไปแปดวัน

เข้ารอรับ พระราช อาชญา                                    พระเมตตา มิลงโทษ ดังคาดฝัน

ให้ตามจับ เจ้านคร เป็นภาคทัณฑ์                          จึงพากัน ยกกำลัง มิรั้งรอ

          ๏ พระยาจักรี และพิชัย ไปสงขลา                 ผ่านเทพา ส่งทูต เข้าไปขอ

เจ้าพระยา ปัตตานี มิรั้งรอ                                      มีกำลัง ไม่พอ จะต่อกร

จึงส่งหลวงสงขลา พระยาพัทลุง                              ไม่อยากยุ่ง กลัวชาวเมือง จะเดือดร้อน

ได้จัดการ กับเจ้าพัฒน์ เจ้านคร                              แล้วกลับย้อน ส่งสมเด็จ เจ้ากรุงธน

พระเจ้าตาก กลับถึง นครศรี                                   ก็พอดี มรสุม และคลื่นฝน

ต้องพำนัก เมืองนคร ใช่ร้อนรน                              กลับกรุงธน เมื่อฝนสิ้น ฤดูกาล

ทรงทนุ สถูป พระเจดีย์                                           บรมสารี ริกธาตุ ประดิษฐาน

มหาธาตุ ศาสนา แต่โบราณ                                    แต่ก่อนกาล แต่งไว้ ให้ถาวร

องค์เจ้าตาก ผูกพัน เยี่ยงฉันทมิตร                          ความใกล้ชิด นครศรี มีมาก่อน

และเจ้าพัฒน์ พร้อมกับเจ้า เมืองนคร                      ไม่เดือดร้อน เข้ากลับ รับราชการ

แม้ลูกขุน ชี้มูล โทษความผิด                                  ลงอาญา ถึงชีวิต ให้ประหาร

พระเจ้าตาก เห็นใจ พวกก่อการ                             ไม่ดึงดัน ด้านดื้อ ยอมโดยดี

ธรรมดา คนตั้งตน ขึ้นเป็นใหญ่                              และมิได้ ทำบ้านเมือง เสื่อมราศี

จวบเวลา มาถึง ซึ่งสามปี                                        การต่อตี ป้องกัน นั้นธรรมดา

          ๏ เจ้านคร คนดี มาอยู่ด้วย                            และได้ช่วย ทำสงคราม กับพม่า

ได้ถวาย บาทบริ จาริกา                                         คือคุณฉิม ธิดา ให้พระองค์

พระทรงโปรด เมืองนคร- ศรีธรรมราช                    มีอำนาจ เมืองเอกสยาม ตามประสงค์

พระหลานเธอ เจ้านรา สุริยวงศ์                              ไปดำรง เจ้าพระยา ผู้ว่าเมือง

เมื่อถึงครา เจ้านรา มาตักษัย                                  ทรงส่งให้ เจ้านคร คนรู้เรื่อง

ย้ายคืนกลับ สู่ที่เก่า เป็นเจ้าเมือง                                      สืบต่อเนื่อง ผูกพัน ฉันท์ไมตรี

          ๏ ฝ่ายพระยา อภัย รณฤทธิ์                          และพระยา อนุชิต ทั้งสองศรี

ยึดเสียมราฐ ถูกข้าศึก เข้าบุกตี                               สองน้องพี่ ขยี้เขมร เผ่นทุกครา

ตามพระราช โองการ ให้ยั้งทัพ                              ให้คอยรับ ทัพกรุงธน จึงรอท่า

จนล่วงเข้า หลายเดือน ไม่เคลื่อนมา                        ข่าวลือว่า เจ้าตากสิน สิ้นพระชนม์

กิตติศัพท์ แพร่กระจาย ไปหลายเรื่อง                     ระคายเคือง เร้นลับ ดูสับสน

เกรงเหตุร้าย จะเกิดมี ที่กรุงธน                               คิดวกวน แล้วเลิกทัพ รีบกลับไทย

เจ้าพระยา โกษา ธิบดี                                            ยึดธานี พระตะบอง ต้องหวั่นไหว

ถอนกลับบ้าง ออกทางจันท์ ด้วยหวั่นใจ                  พอกลับไป กราบทูล ให้ลงทัณฑ์

ว่าพี่น้อง สองศรี นั้นหนีทัพ                                     เมื่อทรงทราบ แสนพิโรธ แต่อดกลั้น

มิได้ตรัส บริภาษ ให้จาบัลย์                                   แต่กลับกัน สรรเสริญ ซึ้งน้ำใจ

เพียงแต่ถาม ว่าทำไม จึงได้กลับ                                       มิได้รับ ท้องตรา ส่งไปให้

อนุชิต ราชา อธิบาย                                              ถึงข่าวร้าย ได้รับฟัง จึงกังวล

ได้ปรึกษา กับพี่ชาย ให้ย้ายทัพ                              ถ้าไม่กลับ เกรงพารา จะสับสน

กลัวศัตรู มาย่ำยี ศรีกรุงธน                                     จึงย้ายพล เพื่อรักษา ข้าแผ่นดิน

ไม่อยากเห็น ชาวไทย ต้องไร้ชาติ                          อริราช ศัตรู ไม่รู้สิ้น

อันข่าวร้าย ส่วนพระองค์ คงได้ยิน                          เรื่องทั้งสิ้น คือน้ำใส จากใจจริง ๏ เมื่อกองทัพ กลับนคร จนครันครบ               ตรัสปรารภ ห่วงบ้านเมือง เป็นอย่างยิ่ง

การปราบปราม ชุมนุมฝาง ยังประวิง                      จะมัวนิ่ง ดูดาย คงไม่ดี

เจ้าพระฝาง ยังครอง เพศสมณะ                             ผิดจากพระ พุทธบัญญัติ ทำบัดสี

พร้อมสมุน เยี่ยงสถุล อลัชชี                                   เลือกสตรี รูปงาม ไปหลับนอน

สร้างกรรมชั่ว มั่วโลกีย์ ทุกแห่งหน                          สัปดน หมอผี มิถ่ายถอน

เล่ห์ประหลาด ศาสตร์ไสย์ ไม่สังวร                         ส่งหน่วยจร ตระเวนถึง เมืองอุทัย

จวบพอดี มีฝรั่ง ฮอลันดา                                        ส่งปืนใหญ่ เข้ามา เพื่อถวาย

ตรังกานู ส่งปืนยาว เข้ามากมาย                              มาถวาย ให้ลอง อีกสองพัน

จัดสามทัพ ยกขึ้นเหนือ เพื่อไปปราบ                       ทหารราบ มุ่งหน้า นครสวรรค์

ขบวนเรือ พาทัพหลวง ไปพร้อมกัน                        หมื่นสองพัน ชีวิต คิดรอนราญ

เจ้าพระฝาง มอบกำลัง หลวงโกษา                          ผู้เคยมา ต้านทัพธน อย่างอาจหาญ

เข้ารักษา สองแคว เพื่อต้านทาน                                      ถูกทหาร พระเจ้าตาก จู่โจมตี

มีรับสั่ง ปล้นค่าย ในคืนนั้น                                     โดยฉับพลัน ที่ทัพ มาถึงที่

หลวงโกษา ร่นถอย ไปหลายที                                จำต้องหนี ทิ้งค่าย ไปรายงาน

ช่วงเวลา รอทัพบก ที่ยกไป                                    สั่งพลไพร่ อาสา หาอาหาร

ประทับแรม รอเฝ้า ถึงเก้าวัน                                  ไม่ลงทัณฑ์ เพราะฝนตก ตลอดทาง

เมื่อพร้อมเสร็จ เสด็จหลัง สั่งสองทัพ                       ไปไล่จับ ขนาบตี เจ้าพระฝาง

กองทัพเรือ รอน้ำหลาก จักเดินทาง                         เมืองสวาง- คบุรี ที่หมายตรง

สองสามวัน น้ำเหนือ เมื่อล้นหลาก                           พระเจ้าตาก คลาเคลื่อน เหมือนฝูงหงส์

ทัพบรรจบ พบกัน จึงมั่นคง                                    อุตรดิตถ์ คิดปลง กลัวกำลัง

เจ้าพระฝาง ส่งไพร่ ออกไล่ตี                                 แพ้ทุกที ขวัญเสีย จึงสิ้นหวัง

ยึดเมืองมั่น หวั่นใจ ไร้พลัง                                     มีช้างพัง คลอดเป็นเผือก เลือกเสี่ยงทาย

ธรรมดา ช้างคลอด ในครั้งนี้                                  บารมีของ ข้าศึก นึกใจหาย

หญ้าสองฟ่อน ให้ช้างจับ รับทำนาย                        ผลการทาย ฝ่ายเจ้าตาก มากบุญญา

เจ้าพระฝาง ต่อสู้ อยู่สามวัน                                   ตกคืนนั้น ฝ่าออกไป ตายดาบหน้า

พ้นพงเนิน เดินดง หลงมรรคา                                 ทิ้งช้างเผือก ชายป่า เมื่อจวนตัว

สองทัพบก ยกเข้าเมือง ได้ง่ายดาย                          นำถวาย ช้างเผือก เจ้าอยู่หัว

พวกชาวเมือง อ่อนน้อม ต่างยอมกลัว                      เจ้าอยู่หัว ทรงเมตตา ประชาชน

ส่วนภิกษุ สามเณร ที่มัวหมอง                                 ถูกกลั่นกรอง ทางวินัย อย่างได้ผล

ให้เสี่ยงสัตย์ สาบาน กันทุกคน                                พิสูจน์ตน ดำน้ำสู้ ดูเวลา

คนไหนรู้ จตุ ปาราชิก                                            ไม่ต้องหลีก เปิดโอกาส ขันอาสา

เป็นทหาร พ้นมลทิน สิ้นอาญา                                ผู้ชนะ นาฬิกา เป็นพระครู

ห้ามกลับใจ ใครแพ้ ให้ตราบาป                                       ไม่ให้กลับ อุปสมบท เพราะอดสู

จับสักยันต์ เฆี่ยนหลังลาย ให้คนดู                          จึงมีผู้ ลาเพศ เป็นไพร่พล

          ๏ เจ้าพระฝาง ก๊กสุดท้าย ที่ได้ปราบ              ประเทศไทย ราบคาบ ทุกแห่งหน

อาณาเขต ประเทศชาติ ประชาชน                         สัมฤทธิ์ผล เช่นสมัย อยุธยา

ปูนบำเหน็จ ความชอบ ให้ขุนนาง                           และแต่งตั้ง ให้ดูแล เมืองด่านหน้า

สุรสีห์ นี้ก็คือ สุดจินดา                                            ส่วนพระยา ยมราช คือพี่ชาย

พระเจ้าตาก เลียบเมือง สวางคบุรี                           เพื่อบารมี ชาวเมือง มาคิดใกล้

มหรสพ สมโภช โลดเริงใจ                                     แล้วกลับไป เลียบเมือง ที่สองแคว

          ๏ ให้สุรสีห์ ครองเมือง พิษณุโลก                            ซึ่งได้ยก เป็นเมืองเอก ได้โดยแน่

คุมหัวเมือง ฝ่ายเหนือ เพื่อดูแล                               ไว้คอยแก้ สถานการณ์ ของบ้านเมือง

สวรรคโลก ยกให้ เจ้าพระยา                                  พิชัยราชา ดูแล แต่เกิดเรื่อง

เจ้าพระฝาง ขอเชียงใหม่ มาตีเมือง                        เพราะขุ่นเคือง โกรธแค้น แน่นในใจ

สวรรคโลก วิตกหนัก เพราะคนน้อย                       ใช้ทีถ้อย ตั้งมั่น ป้องกันได้

พิษณุโลก พร้อมพระยา สุโขทัย                              ยกทัพไป ตีกระหนาบ ปราบศัตรู

          ๏ โปมะยุง่วน ก็คือเจ้า เมืองเชียงใหม่            ต้องแตกพ่าย เคืองแค้น แสนอดสู

ก่อสงคราม อีกหลายครั้ง อย่างศัตรู                        ที่อยู่คู่ รัชกาล เจ้ากรุงธน

          ๏ พระเจ้าตาก ทรงดำริ คิดตริตรอง              พม่าครอง เชียงใหม่ คงไร้ผล

ไม่สงบ อย่างแน่แท้ แก่ปวงชน                               อิทธิพล ของพม่า ยังคาคาน

เมื่อกองทัพ ปราบสำเร็จ ชุมนุมฝาง                         มีรับสั่ง สุรีสีห์ เกณฑ์พลหาญ

เป็นทัพหน้า พาไป ไล่รอนราญ                               พระองค์ท่าน นำทัพหลวง ล่วงตามไป

โปมะยุง่วน ชาวพม่า ผู้ว่าเมือง                                พอรู้เรื่อง รีบตั้งรับ ปรับเป็นค่าย

อย่างเข้มแข็ง ป้องกัน อยู่ชั้นใน                              เมืองเชียงใหม่ ไทยล้อม อ้อมเข้าตี

ทหารเชียงใหม่ ภายนอก ที่ออกรับ                         ถูกขนาบ เพลี่ยงพล้ำ ต้องจำหนี

รักษามั่น ภายใน ไม่ราวี                                        สุรสีห์ แกล้งท้าทาย ไม่ออกมา

แม้สุรสีห์ มีฝีมือ ที่ยอมรับ                                        หาตัวจับ ได้ยาก เป็นหนักหนา

ชาญฉลาด ทั้งสติ และปัญญา                                 ตีเชียงใหม่ ในครานี้ มิสมปอง

พระตากสิน ทรงตรัสเรื่อง เมืองเชียงใหม่                ชนะไม่ได้ ครั้งที่หนึ่ง พึงมีสอง

ล้อมอยู่ถึง เก้าวัน ทรงกลั่นกรอง                                       จำเป็นต้อง ถอนทัพ แล้วกลับไป

มะยุง่วน ส่งกองทัพ รีบตามติด                                เพราะว่าคิด ทัพธน คงแตกพ่าย

ไม่ละลด บดขยี้ ตีทัพไทย                                       พระทรงชัย ถอนทีหลัง สั่งต้านทาน

พระแสงคู่ สู้ฟันดาบ กับพม่า                                   อย่างไม่คิด ชีวา แสนกล้าหาญ

ตะลุมบอน ข้าศึกล้า ไล่ฆ่าฟัน                                 ทหารหาญ เห็นน้ำพระทัย เจ้ากรุงธน

          ๏ ครั้นทัพธน กลับธานี รุ่งปีใหม่                    ดำริให้ ปราบเขมร อย่างเข้มข้น

ความคุมแค้น เคืองพระทัย ไร้ทานทน                     เขมรวน มาตีตราด ฟาดเมืองจันท์

กวนรำคาญ นานร้อยปี จนดีดัก                              เขมรลัก ลอบบีฑา มาป่วนปั่น

พอไทยรู้ จะรบไล่ มักไม่ทัน                                   ต้องเล่นงาน ครั้งใหญ่ ให้หายกวน

กองทัพบก กองทัพเรือ เร่งคลาไคล                        ยกพลไป สองหมื่นห้า อย่าผันผวน

นายทองด้วง คุมหนึ่งหมื่น คลื่นขบวน                      ออกจากจวน ทิศปราจีน ถิ่นผ่านทาง

ให้โกษา ธิบดี ทัพเรือหน้า                                                พระเจ้าตาก คุมมา เป็นทัพหลัง

มุ่งเข้าคลอง บันทายมาศ ระมัดระวัง                        จุดที่หวัง รุกถาโถม พนมเปญ

เจ้าพระยา ยมราช หรือทองด้วง                             เดินทัพล่วง โพธิสัตว์ ของเขมร

ไปเข้าเฝ้า เจ้ากรุงธน พนมเปญ                              ทั้งเขมร เป็นของไทย แต่นั้นมา

พระนารายณ์ เตลิดหนี ไปพึ่งญวน                          ภายหลังหวน คืนกลับ เข้ามาหา

ญวนกบฎ ไกเซิน เมินพึ่งพา                                   กลับเข้ามา ขอเป็นรอง นักองนน

นักองนน มีพระนาม รามราชา                                คืนกลับมา ครองสมบัติ จัดมรรคผล

บารมี พระโปรดเกล้า เจ้ากรุงธน                                      ที่เคลื่อนพล ยึดให้ จึงได้ครอง

ให้นารายณ์ เป็นมหา อุปโยราช                             จึงมิขัด นักองธรรม ช้ำมัวหมอง

อุปราช กษัตริย์เขมร เป็นองค์รอง                          ไทยครอบครอง ดินแดน ติดแค้วนญวน

          ๏ เมื่อภายหลัง ราชธานี กรุงศรีแตก              หัวเมืองแยก แตกทางเหนือ เป็นส่วนส่วน

ฝ่ายพม่า เริ่มขยับ ปรับขบวน                                 มะยุง่วน ครองเชียงใหม่ ใฝ่ราญรอน

สุริยวงศ์ เจ้าเมือง หลวงพระบาง                                       เริ่มขัดขวาง ยกมาตี เวียงจันทร์ก่อน

เจ้าบุญสาร เจ้าเวียงจันทร์ กลัวสั่นคลอน                กำลังอ่อน ขอกองทัพ พม่ามา

เจ้าอังวะ กะเกณฑ์ กำลังทัพ                                   เพื่อหวังปราบ และขยาย เขตพม่า

จัดพลไพร่ ใหญ่โต โปสุพลา                                  เคลื่อนพลมา รบพุ่ง มุ่งแผนการ

สุริยวงศ์ รู้เช่นนั้น จึงหันน้อม                                  โดยยินยอม สุพลา หาต่อต้าน

ฝ่ายพม่า เกรงกรุงธน จะรอนราญ                           จึงตั้งมั่น ที่เชียงใหม่ อย่างมั่นคง

โปสุพลา คิดเอาหน้า หมายชนะ                              รู้จังหวะ กรุงอังวะ พระประสงค์

เตรียมไพร่พล โค่นตากสิน ให้สิ้นลง                       เคลื่อนทัพตรง ยกมาตี เมืองพิชัย

พระยาพิชัย ราชา เก่งกล้ารบ                                 ตั้งสงบ รักษาเมือง ที่มั่นไว้

แล้วส่งสาสน์ สุรสีห์ กรีฑาไป                                  เลือกที่หมาย ชัยภูมิ ที่แข็งแรง

ได้เวลา รวมพลัง ที่พรั่งพร้อม                                 โอบปิดล้อม สุพลา อย่างกล้าแข็ง

เกิดรบพุ่ง ติดพัน ขั้นรุนแรง                                    สิ้นกำแหง สุพลา ขายหน้าไป

แพ้ไปแล้ว หนึ่งครั้ง ทุรังฝืน                                   พอรุ่งขึ้น อีกหนึ่งปี มาตีใหม่

สุรสีห์ ก็มาช่วย เมืองพิชัย                                                ศึกนี้ได้วีรบุรุษ สุดเทิดทูน

ประวัติศาสตร์ ชาติไทย ได้บันทึก                           จำจารึก อยู่ในใจ ไม่คลายสูญ

อยู่กับตาก ฝากดวงใจ ใฝ่เจือจุน                                      คือเจ้าคุณ พระยาพิชัย ปราบไพรี

นำทหาร สู้ตะเลง ด้วยเพลงดาบ                              จนราบคาบ ใครย่อมรู้ ศัตรูหนี

ยอดนักรบ คู่บุญ บารมี                                           สดุดี วีรกรรม ผู้นำชัย

          ๏ กองทัพไทย ชัยภูมิ ได้เปรียบกว่า              ทหารพม่า ตายยับ นับไม่ไหว

ประจัญบาน ผลาญพม่า ท่าว่องไว                          พระยาพิชัย สะดุดพื้น ลื่นล้มลง

ความเปรียวปราด ฉลาดหลัก ปักใจแท้                             หนทางแก้ ดาบยัน ดันตัวโหย่ง

ดาบถึงหัก ปักคาดิน ไม่ดิ้นลง                                  เพียงเสียทรง พม่าถลำ ซ้ำทันที

หาญณรงค์ ตรงรี่ ปรี่เข้าฆ่า                                   ฟันพม่า เลือดสาด ขาดคาที่

เสียงปืนดัง ร่างสยบ ซบธรณี                                  ไร้ชีวี หาญณงค์ ทรงฝีมือ

เกิดบันดาล โทษา พระยาพิชัย                                สองดาบไล่ ทะลวงฟัน ไม่หันหือ

ทั้งดาบหัก ดาบดี ฝากฝีมือ                                      โลกเลื่องลือ คือดาบหัก ผู้เกรียงไกร

สมัญญา เจ้าพระยา พิชัยดาบหัก                            น้ำตาพราก กอดศพ หมื่นหาญไว้

ไห้รำพัน รันทด สลดใจ                                          เพื่อนร่วมตาย ปลงศพ สมชายชาญ

          ๏ ศึกเชียงใหม่ ครั้งที่สอง ของสมเด็จ            ต้องสำเร็จ เพราะทัพใหญ่ ที่ใจหาญ

อยู่ภาคเหนือ เพื่อเตรียมรุก บุกประจัญบาน             ชะงักงัน เพราะห่วงใต้ มีภัยรอ

กบฎมอญ ย้อนร่างกุ้ง มุ่งเข่นฆ่า                             ฝ่ายพม่า เสร็จสงคราม ปราบปรามฮ่อ

เตรียมรบไทย เกณฑ์กำลัง อย่างเพียงพอ               เข้ามาจ่อ ถึงสามสบ ท่าดินแดง

แพกิจจา คุมพม่า ห้าร้อยคน                                   กำลังพล มอญสามพันที่ขันแข็ง

ปลูกยุ้งฉาง เส้นทางเพิ่ม เสริมแข็งแรง                    ถูกทิ่มแทง พากันหนี การบีฑา

ฝ่ายผู้นำ ทำโทษ ครอบครัวมอญ                            ทนเดือดร้อนไม่ไหว ต้องใจกล้า

รุมสังหาร บั่นชีวิต แพกิจจา                                   อีกพม่า ห้าร้อย สิ้นละลาย

ซ้ำยังย้อน ยกไปตี เมาะตะมะ                                 รบปะทะ ปะกันหวุ่น เกิดสูญหาย

ปะกันหวุ่นยก กำลังสั่ง เข้าตีไทย                                      ต้องกลับไป ร่างกุ้ง ยุ่งกับมอญ

          ๏ พระเจ้าตาก ตระหนักฟัง ความเคลื่อนไหว ตัดพระทัย ชิงเชียงใหม่ ให้ได้ก่อน

ส่วนทางใต้ วางกำลัง ระวังมอญ                                       เกรงเดือดร้อน แม่สอด กาญจนบุรี

ปฏิวัติ มอญกบฏ ไม่ลดละ                                                กษัตริย์พม่า ส่งให้ อะแซหวุ่นกี้

ท่านขุนพล ผู้เฒ่าฝีมือดี                                          ไปขยี้ปราบมอญ ก่อนตีไทย

          ๏ สองหมื่นพล ฝ่ายเหนือ สุรสีห์                     พระยาจักรี ให้เป็น แม่ทัพใหญ่

รอทัพธน อยู่ที่ตาก จะเคลื่อนไป                             รบเชียงใหม่ คราวนี้ ไม่มีเกรง

สองพระยา จ่าบ้าน กาวิละ                                      โดนพม่า กดขี่ และข่มเหง

จึงนอกใจ ไม่ภักดี พวกตะเลง                                 กลับกลัวเกรง สุรสีห์ จักรีไทย

          ๏ มีเรื่องเล่า กาวิละ และจ่าบ้าน                     แต่เดิมนั้น ชาติพม่า เคยอาศัย

แต่ภายหลัง กินแหนง เคลือบแคลงใจ                     จึงยอมง่าย เป็นไทยด้วย แต่โดยดี

ฟ้าชายแก้ว เป็นบิดา กาวิละ                                   ถูกโปมะ ยุง่วน กวนศักดิ์ศรี

เป็นเจ้าเมือง ลำปาง อยู่ดีดี                                     จับมาที่ เชียงใหม่ ไว้ประกัน

ให้กาวิละ ครองลำปาง ไปพลางก่อน                      แล้วริดรอน อำนาจ ขาดสะบั้น

ผลประโยชน์ ไม่หลอเหลือ เผื่อแผ่กัน                     สุดอัดอั้น ตันฤดี มิพอใจ

เมื่อพระยา ช่วยพม่ารบชนะ                                   เจ้าอังวะ คืนอำนาจดังเก่าให้

มีตราสาส์น ตามกระแสรับสั่งไป                             เอาผูกไว้ สนามหลวง อวดปวงชน

มะยุง่วน ไม่ยอมรับ ซึ่งตราสาส์น                                      ว่าจ่าบ้าน ผิดธรรมเนียม จึงไม่สน

หาว่าหมิ่น ต่อชาติ กษัตริย์ตน                                ซ้ำยังค้น ตามจับตัว เพื่อลงทัณฑ์

ส่งทนายไปจับตัว สองพี่น้อง                                  พบทั้งสอง กาวิละ และจ่าบ้าน

เกิดต่อสู้วุ่นวาย ล้มตายกัน                                      หนีเวียงจันทร์ ขอพึ่ง โปสุพลา

โปมะยุง่วน คับแค้นสุดแสนโกรธ                                      บอกกล่าวโทษ เจ้าทั้งสอง ไปพม่า

เพื่อขึ้นศาล ลงโทษ ตามอาญา                                ได้เวลา พอดี มีทัพไทย

          ๏ สุพลา ให้จ่าบ้าน คุมไพร่เกณฑ์                 ไปตระเวน ชำระแก่ง แต่งทางไว้

จะจัดเรือ ล่องตาก อยากสบาย                               รับศึกไทย ต้านทาน การเข้าตี

ส่วนกาวิละ จัดให้ไปลำปาง                                    คุมกำลัง รับศึกไทย อย่าถอยหนี

มะยุง่วน ขอตัวไป ไม่ไยดี                                                อ้างว่ามี ภารกิจ ศึกติดพัน

          ๏ มะยุง่วน จับฟ้าแก้ว ส่งพม่า                        รับอาญา ลงโทษ ในทางศาล

อันเป็นเหตุ โทษา มาบันดาล                                   จึงฟาดฟัน กับพม่า ไม่ปราณี

กาวิละ ฆ่าแม่ทัพ ที่ลำปาง                                                นำกำลัง ชิงบิดา แล้วพาหนี

ร่วมจ่าบ้าน ประจัญหน้า ฆ่าไพรี                                      จวบเวลา พระยาจักรี ยกทัพมา

สองพระยา จ่าบ้าน กาวิละ                                      สบจังหวะ สวามิภักดิ์ จักอาสา

นำกองทัพ เข้าลำปาง มิรั้งรา                                  รบพม่า ต่อไป เป็นไทยจริง

          ๏ โปสุพลา มะยุง่วน ชวนกันรับ                     เพื่อยั้งทัพ นักรบ ทั้งสองสิงห์

เหนือลำพูน ริมฝั่ง ลำน้ำปิง                                     หวังประวิง ทำลายล้าง ห่างตัวเมือง

จักรีพี่ สุรสีห์น้อง ไม่จ้องจด                                    สั่งทั้งหมด เดินหน้า อย่างต่อเนื่อง

พม่าพ่าย ย่อยยับ ถอยกลับเมือง                              เคยแค้นเคือง ล้อมเชียงใหม่ ไว้ทุกมุม

มีใบบอก ยังพระเจ้า ธนบุรี                                     ขอเข้าตี เชียงใหม่ ทุกขนขุม

มีรับสั่ง ให้เข้าตี ทีละมุม                                         ให้เข้ารุม เป็นด้าน อย่างมั่นใจ

สั่งทหาร ขุดคูดิน ทำทางเดิน                                   สร้างเชิงเทิน ท่วมท้น ไว้ปล้นค่าย

เมื่อทัพหลวง กรุงธน ถึงเมื่อใด                                ให้ปีนค่าย ใกล้คู ดูเหตุการณ์

ด้วยพระทัย ใจร้อน มีรับสั่ง                                    ไม่รอรั้ง สั่งเข้าตี ทั้งสองด้าน

ตะวันออก ทองด้วง ทะลวงฟัน                                รบรอนราญ พม่ายับ ถอยกลับไป

ทางประตู ท่าแพ ก็แพ้ยับ                                        พม่ารับ สุรสีห์ ก็มิไหว

สุพลา มะยุง่วน หนีรอดตาย                                    ทิ้งเชียงใหม่ ไปเชียงแสน อย่างแค้นเคือง

เจ้าพระยา สวรรคโลก ยกทัพไล่                                      ติดตามไป ตามแผน อย่างต่อเนื่อง

กองทัพธน ยึดเชียงใหม่ ได้ทั้งเมือง                         ไม่สิ้นเปลือง กำลัง สมตั้งใจ

          ๏ พระเจ้าตาก ตบพระเพลา ทั้งสองข้าง                  ออกโอฐอ้าง น้องพี่ นี้ไฉน

ใครจะเก่ง กว่ากัน นั่นประไร                                  ไม่รู้ใคร เก่งกว่า น่าอัศจรรย์

          ๏ ให้ความชอบ พระยาวิเชียร ปราการ                   คือจ่าบ้าน เป็นเจ้า ครองเขตขันฑ์

ดูเชียงใหม่ แคว้นลานนา มาช้านาน                        ลำปางนั้น กาวิละ เป็นเจ้าครอง

ไวยวงศา เจ้าพระยา ครองลำพูน                            แล้วเทิดทูน จักรีเจ้า เฝ้าสนอง

อยู่ดูแล ลานนาไทย ในครอบครอง                         ได้พวกพ้อง แพร่น่าน ล้านนาไทย

          ๏ ฝ่ายพม่า ราวี ที่ย่างกุ้ง                               พวกมอญยุ่ง หนีกลับ ถูกขับไส

หนทางเดียว อพยพ หลบเข้าไทย                            ถูกขับไล่ หนีผ่าน ด่านเจดีย์

บ้างเดินลัด ตัดตรง ลงแม่สอด                                 เพราะกลัวยอด ขุนพล อะแซหวุ่นกี้

หอบครอบครัว มากมาย เลี่ยงไพรี                          หลบหลีกหนี ลี้ภัย ไม่รีรอ

มีผู้นำ ชื่อว่า พระยาเจ่ง                                          ถูกข่มเหง กดขี่ เข้ามาขอ

พึ่งโพธิ สมภาร อยู่นานพอ                                      ยังได้ขอ มาคราวนี้ เช่นเดียวกัน

          ๏ แซหวุ่นกี้ ขยี้มอญ จนราบคาบ                            แล้วยกทัพ ขับไล่ หมายสังหาร

ตามมาถึง เมาะตะมะ เกือบจะทัน                                      ไล่กระชั้น ถลันล้ำ ข้ามเขตไทย

รุกติดตาม ข้ามด่าน พระเจดีย์                                 กำลังมี ที่เจ้าตาก ให้ดักไว้

เจ้าพระยา ยมราช แม่ทัพไทย                                ต้านไม่ไหว ถอยถอน ย้อนลงมา

ถึงตำบล ปากแพรก แยกตั้งรับ                               เกรงย่อยยับ ด้วยกำลัง ของพม่า

ใช้วิธี รบหน่วง ถ่วงเวลา                                        ตั้งรับหน้า เป็นแนวรบ ที่ดงรัง

          ๏ ฝ่ายข้าศึก ประเมินไทย ในการรบ              ไทยต้องพบ ความพ่ายแพ้ ถึงสองครั้ง

จึงดูถูก ฝีมือไทย ไร้พลัง                                        รบกี่ครั้ง ก็พ่าย ไม่ทานทน

แม่ทัพงุ ยอคงหวุ่น ไม่ครุ่นคิด                                 สั่งให้หม่อง จายิด ทำการปล้น

จัดกำลัง ตั้งเป็นกอง สองพันคน                              สะดมปล้น ริบทรัพย์ จับเชลย

ได้เคลื่อนพล พ้นบ้าน บางนางแก้ว                         พอถึงแล้ว แกล้งประวิง ทำนิ่งเฉย

จัดตั้งคาย ไม่รีบร้อน ดังเช่นเคย                                      ทำเฉยเมย คิดบังอาจ ประมาทมือ

ที่บางแก้ว ราชบุรี ตรงนี้เอง                                   พวกตะเลง ต้องยอมรับ และนับถือ

สมรภูมิ ราชบุรี ที่เลื่องลือ                                       ยังระบือ ในแผ่นดิน ตากสินธน

          ๏ เมื่อพระองค์ ทรงเสด็จ ธนบุรี                     ราชชนนี มีประชวร ป่วนสับสน

ทั้งแผ่นดิน ทั้งมารดา ประชาชน                             พระกมล รุมเร้า เฝ้าห่วงใย

ให้โอรส พระองค์แรก พระนามจุ้ย                          เคลื่อนทัพลุย ราชบุรี ตั้งรับไว้

สั่งทัพบก ยกจากเหนือ โดยเร็วไว                           ให้เลยไป ราชบุรี ห้ามแวะลง

มีพระเทพ โยธา ฝืนรับสั่ง                                       เป็นเยี่ยงอย่าง แจ้งชัด ขัดประสงค์

มัดติดเสา พระตำหนัก ชักดาบปลง                         ด้วยมือองค์ ตากสิน เสียบประจาน

หักพระทัย ยกกองทัพ ไปสมทบ                              ออกไปรบ ละมารดา พระจอมขวัญ

มิไปเอง เกรงว่า จะเสียการ                                    ยอดทหาร สองพี่น้อง ต้องอยู่ไกล

วัดเขาพระ ตั้งมั่น ขั้นประชิด                                  พระวิจิตร นาวี เข้ามาใกล้

กราบทูลว่า พม่าหมิ่น ฝีมือไทย                               พระฤทัย เคืองแค้น แสนทวี

สั่งกำลัง ตั้งล้อม ให้แน่นหนา                                  พวกพม่า ปล่อยให้ล้อม อย่างเต็มที่

เสร็จเมื่อใด ขอให้บอก จะออกตี                                      ล้อมให้ดี เชิญสบาย ตามใจเลย

พระเจ้าตาก ไม่อยากโกรธ แต่เจ็บแค้น                            ล้อมให้แน่น เสริมเข้าไป อย่านิ่งเฉย

ส่งให้หน่วย ตัดเสบียง เยี่ยงอย่างเคย                      จะลงเอย อย่างไรใคร่รู้ดี

อินทรอภัย กับพระยา รามัญวงศ์                                      ตัดทางส่ง ทีไล่ ไม่ให้หนี

ด้วยความแค้น แน่นอ้อม ล้อมทุกที                          บีบไพรี ให้รันทด ถึงอดตาย

ส่วนงุยอ คงหวุ่น ลุ้นลองของ                                  ทำทดลอง ออกไปตี ก็หนีพ่าย

มิสะดุ้ง สะเทือน ประการใด                                    ก็หาไม่ ยังประมาท มิกลัวมือ

พระเจ้าตาก อยากจะเห็น พม่าหอน                         เพียรตัดรอน อาหาร แกล้งพาลซื่อ

ให้พม่า อดตาย ไปคามือ                                        ไม่ตียื้อ หักค่าย ให้ป่วยการ

 

 

          ๏ ฝ่ายอะแซ หวุ่นกี้ที่ เมาะตะมะ                    กลัวพม่า พลาดพลั้ง ทางทหาร

ให้ตะแคง มรหน่อง กองห้าพัน                               เข้ามายัน ช่วยเหลือ เมื่อเสียที

ฝ่ายตะแคง รับแจ้งข่าว เจ้างุยอ                              ถูกไทยล่อ ล้อมไว้ ไม่ให้หนี

สั่งไปถึง มองจายิด ในทันที                                    รีบไปตี กระหนาบ โดยฉับพลัน

เคลื่อนกำลัง ทางลัด เลียบโขดโขน                         แต่ไปโดน ทัพไทย สกัดกั้น

เข้าช่วยเหลือ พวกถูกล้อม ย่อมไม่ทัน                     อดอาหาร น่าสมเพช เวทนา

ฝ่ายพม่า รอดตาย ได้นิดหน่อย                               พันสามร้อย ยี่สิบแปด เชลยพม่า

สมพระทัย เจ้าตากสิน ปิ่นราชา                              สอนพม่า สาใจ ไม่ลืมเลือน

          ๏ ฝ่ายตะแคง มรหน่อง ยังเชื่อแน่                 ว่าไม่แพ้ ไทยง่าย ใคร่เชือดเฉือน

พวกของตน ทนอยู่ได้ ไม่แชเชือน                          ได้ช่วยเพื่อน แหกวงล้อม อยู่หลายคราว

มีครั้งหนึ่ง ตีพระยา มหาสงคราม                                      หวังเหยียบย่ำ ค่ายไทย เอาไฟเผา

โชคยังดี สุรสีห์ มาแบ่งเบา                                     ห้ามพวกเหล่า พลทหาร อย่าออกไป

มีสองคน ลนลาน พาลวิ่งหนี                                   พระยาจักรี ร้องห้าม หาฟังไม่

จำต้องฟัน บั่นชีวิต เสียจนตาย                               ทั้งดับไฟ ทั้งต่อสู้ ศัตรูเกรง

          ๏ พอรู้เรื่อง เคืองคงหวุ่น มาสูญสิ้น               ถูกหยามหมิ่น เสียเชิงชาย ใช่รบเก่ง

ทำเสียชื่อ ลือระบิล ถิ่นตะเลง                                 ถึงกลัวเกรง ยกหนี เลิกบีทา

หมดแรงใจ สู้รบ ปรบมือต่อ                                   รีบแจวห้อ หนีตาย กลับไปหา

ยังขุนพล ผู้เฒ่า เล่าข่าวครา                                   ว่าไทยกล้า เก่งกว่าเดิม เสริมให้ฟัง

          ๏ ขับพม่า ล่าถอยไป ให้เลิกทัพ                     เสด็จกลับ จับเชลย เอามาขัง

มัดเป็นพรวน ตรวนย้อย ห้อยรุงรัง                          ประกาศดัง เรียกชาวไทย ไปมุงดู

เห็นไหมว่า หน้าตา ไม่เหมือนยักษ์                          ใช่เก่งนัก กลัวทำไม ให้อดสู

คนเอเชีย ด้วยกัน มาพันตู                                                ไทยเราสู้ อย่างสบาย ไม่คณา

เพียงใจดำ อำมหิต ผิดมนุษย์                                  ยามยื้อยุด ได้ที มันเข่นฆ่า

จิตมันร้าย เลวชาติ ขาดเมตตา                               พวกพม่า เวลาแพ้ ก็แค่คน

          ๏ ทำสงคราม เรียกคืน ฟื้นศักดิ์ศรี                 ราชชนนี ตักษัย ไทยหมองหม่น

พันปีหลวง ของปวงไทย มลายชนม์                        เจ้ากรุงธน เงียบเหงา เศร้าพระทัย

พระมารดา กรมพระ- เทพามาตย์                            ได้นิราศ เพราะชรา พาหวั่นไหว

ปลงพระศพ ราชชนนี ศรีวิไล                                 ทั้งชาวไทย ชาวจีน ทั่วถิ่นธน

          ๏ สองพันสาม ร้อยสิบแปด พุทธศก               ถึงวิตก อย่างไร ก็ไม่พ้น

เจ้ามังระ ยกกำลัง หวังผจญ                                   ด้วยไพร่พล เป็นแสน วางแผนการ

เลือกอะแซ หวุ่นกี้ ขุนพลเฒ่า                                 ยกทัพเข้า ก่อสงคราม ตามล้างผลาญ

บุเรงนอง แผนเบ็ดเสร็จ เผด็จการ                           เริ่มรอนราญ จากเหนือ เพื่อริดรอน

โปสุพลา มะยุง่วน ขบวนทัพ                                   ยกย้อนกลับ ยึดเชียงใหม่ เอาไว้ก่อน

ตัดกำลัง ทัพกรุงธน จนขาดตอน                                      เรียบร้อยก่อน ฤดูฝน จะวนมา

เมาะตะมะ ขนเสบียง ลำเลียงเรือ                                      ทหารเสือ ฝึกเสียใหม่ ให้เก่งกล้า

องค์ตากสิน ทราบข่าวศึก ที่ฮึกมา                           มีบัญชา สองกองทัพ เตรียมรับภัย

พระยาจักรี คุมกองทัพ ฝ่ายกรุงธน                         สุรสีห์ ยกพล ต้านเชียงใหม่

ทัพเชียงแสน คร้ามครั่น ทหารไทย                         ถอยกลับไป พ่ายแพ้ แต่โดยดี

          ๏ ครั้นไม่เป็น ตามแผน ดังคาดคิด                 เพราะวางผิด ของผู้เฒ่า แซหวุ่นกี้

กำหนดใหม่ ใช้ขุนพล ฝีมือดี                                  มาราวี ด้วยตนเอง ไม่เกรงกลัว

จัดทัพหน้า กะลาโป มังแยยาง                                เข้ามาทาง แม่สอด เป็นส่วนหัว

พลสองหมื่น เป็นแม่กอง มองน่ากลัว                        และเจ้าตัว คุมห้าหมื่น ดื่นกำลัง

เดินถึงบ้าน ด่านลานหอย สุโขทัย                            ไม่มีใคร คอยบังคับ จะยับยั้ง

เพราะผู้คน มีน้อย ด้อยกำลัง                                   เข้ามาตั้ง สุโขทัย ดังใจปอง

          ๏ แซหวุ่นกี้ จับกรมเมือง สุโขทัย                            มาถามไถ่ ถึงขุนพล คนทั้งสอง

พระยาเสือ สุรสีห์ มิอยู่ครอง                                   เมื่อเจ้าของ ไม่อยู่ อย่าเหยียบเมือง

          ๏ ตามกระแส รับสั่ง ของเจ้าธน                     ให้สองคน ปราบเชียงแสน อย่างต่อเนื่อง

ข่าวข้าศึก จึงถอนทัพ รีบกลับเมือง                          พอทราบเรื่อง พิษณุโลก ก็ตกใจ

พระยาจักรี อยู่ตั้งรับ พิษณุโลก                              สุรสีห์ รีบยก ออกตีค่าย

บ้านธานี ริมยม ให้สมใจ                                        หักไม่ได้ สามวัน พลันถอนคืน

ทั้งจักรี สุรสีห์ ยึดเมืองมั่น                                       ร่วมป้องกัน ขันแข็ง ด้วยแรงฝืน

อะแซหวุ่น ล้อมไว้ ให้กล้ำกลืน                               ขวัญยั่งยืน ไม่หาย ชายสองแคว

สุรสีห์ ถูกพม่า ล้อมหนาแน่น                                   ไม่คลอนแคลน ควรญคร่ำ หรือย่ำแย่

ยกกำลัง ออกไปรบ กับอะแซ                                  ไม่พ่ายแพ้ แต่ถอยกลับ เข้าพารา

เจ้าพระยา- จักรี  ออกตีบ้าง                                    หักกำลัง เอาชนะ พวกพม่า

ความสามารถ ฉลาดรบ ทุกเวลา                             ความเก่งกล้า เฒ่าสุกี้ มีคำเชิญ

พระยาจักรี ขี่อาชา ออกมาพบ                                วันพักรบ ขุนพลเฒ่า กล่าวสรรเสริญ

สามสิบกว่า ยังกล้าแกร่ง เสียเหลือเกิน                    มอบเครื่องเงิน เครื่องทอง น้ำมันดิน

สักหลาด ดินสอแก้ว ผ้าแพรวพรรณ                       รูปร่างนั้น สง่าสม ไปทั้งสิ้น

ไปภาคหน้า จะได้นั่ง บัลลังก์อินทร์                         ปรมินทร์ ปิ่นกษัตริย์ แห่งชาติไทย

กระบวนยุทธ สุดจัดจ้าน และเจนจบ                        สามารถรบ กับผู้เฒ่า อย่างเราได้

เรืองฤทธิ์เดช ใช้เหตุผล กลอุบาย                           เกียรติยิ่งใหญ่ แห่งสยาม ตามคำชม

 

 

          ๏ เจ้าพระยา จักรี มิใส่ใจ                             อยากขับไล่ พวกพม่า ให้สาสม

เพียงกลศึก ของศัตรู ผู้กล่าวชม                              เป็นคารม ลึกล้ำ เพื่อทำลาย

          ๏ พระเจ้าตาก เกณฑ์ไพร่พล หมื่นสองพัน     แล้วพากัน เคลื่อนทัพ จากทางใต้

ตามลำน้ำ เจ้าพระยา รีบคลาไคล                           ยั้งหยุดได้ นครสวรรค์ ปากน้ำโพ

ทรงตรัสให้ พระยาราชา เศรษฐี                                       ชายคนนี้ เป็นชาวจีน อาวุโส

คุมทัพจีน ถิ่นตรงข้าม ปากน้ำโพ                            ออกตีโต้ ตั้งดูแล ทางลำเลียง

ท่านเคลื่อนที่ ไปตาม ลำน้ำน่าน                              ตั้งประจัน สัญญาณ ส่งกันด้วยเสียง

สองฝั่งน่าน ที่มั่นค่าย ไว้รายเรียง                           อยู่ห่างเคียง เคลื่อนปืนใหญ่ ช่วยได้ทัน

เป็นกลยุทธ สุดยอด การตั้งรับ                                ด้วยการปรับ วางกำลัง ทางทหาร

แนวตั้งรับ ระดับเสธ- นาธิการ                                เพราะทหาร มีน้อย คอยระวัง

แนวบางทราย ท่าโรง บ้านกระดาษ                         ไม่ตัดขาด วัดจุฬา ว่าตามผัง

จดวัดจันทร์ ยันท้ายเมือง เรืองพลัง                         แล้วจัดตั้ง หัวหน้าค่าย ไว้ควบคุม

          ๏ ฝ่ายพม่า ฝ่าตีค่าย ถึงสองครั้ง                    ปืนใหญ่ตั้ง สั่งยิงช่วย ด้วยไฟสุม

ต้องพ่ายไทย ทั้งสองคราว ชักร้าวรุม                      แสนกลัดกลุ้ม แซหวุ่นกี้ ไม่มีใจ

นี่ฝีมือ ชื่อไทย เข้มแข็งนัก                                     จะตีหัก ด้วยกำลัง อย่าหวังได้

ถอนทหาร ที่ตั้งอยู่ สุโขทัย                                     จัดแบ่งให้ กำลังแยก แตกสองกอง

สองพันแรก เสริมส่วนล้อม พิษณุโลก                      สามพันโยก ปล้นเสบียง แย่งข้าวของ

เจ้ากรุงธน แก้กลศึก คึกคนอง                                 ชาติทั้งสอง ประจัญบาน ตะลุมบอน

๏ พระเจ้าตาก เสด็จไป ค่ายวัดจันทร์            บัญชาการ พลไพร่ ไม่ถ่ายถอน

เป็นฝ่ายบุก รุกไล่ ไม่อาทร                                     ใช้ริดรอน ผ่อนกำลัง ตลอดเวลา

กลยุทธ ตีโอบ ตลบหลัง                                          ด้วยกำลัง แยกส่วน กระบวนท่า

มีหลายครั้ง สั่งออกตี มิรอรา                                   หวังบีทา ขับไล่ ไกลเขตแดน

สุรสีห์ จักรี เข้าตีค่าย                                             ยิงคบไฟ ผลาญเผา เข้าตามแผน

กองทัพไทย กำลังน้อย ด้อยขาดแคลน                              ไม่ตามแผน หน่วยโอบหลัง ยังไม่มา

พระยามหา มณเฑียร นครสวรรค์                           มัวติดพัน การรบ กับพม่า

เข้าโอบล้อม ไม่พอดี ตามเวลา                                แต่ยังฆ่า เหล่าร้าย ได้หลายคน

          ๏ การจะรบ ขับไล่ อย่าได้หวัง                      เพราะกำลัง ของพม่า นั้นท่วมท้น

ปรับขบวนกันใหม่ ใช้แผนกล                                 ต้องย้ายพล โยกขยับ ปรับเปลี่ยนแปลง

พระยาเจ่ง คุมกองมอญ ร่อนหาข่าว                        ฟังเรื่องราว ข้าศึก คึกกำแหง

มีครั้งเดียว ตีพม่า อย่างรุนแรง                               พม่าแหยง แย่งศาสตรา มาให้ชม

พระยาเจ่ง เจอกองหลัง ของพม่า                                      แต่ไม่กล้า เข้าโจมตี ให้สาสม

เพียงติดตาม สะกดรอย คอยระดม                          เสียงระงม เดินทาง เข้าอุทัย

เห็นพม่า ฝ่าลัด นครสวรรค์                                    ไฟเผาผลาญ บ้านเรือน จนเสียหาย

กองกำลัง ของพม่า มีมากมาย                                 จำต้องย้าย ค่ายพระยา ราชภักดี

จากพิษณุโลก ลงมา นครสวรรค์                                      เพื่อป้องกัน พระยา ราชเศรษฐี

ทำให้ข่าย การสื่อสาร ไม่ค่อยดี                              แซหวุ่นกี้ รู้ได้ ไทยอ่อนแอ

          ๏ เจ้ากรุงธน รู้กลศึก นึกถูกต้อง                    แต่ขัดข้อง ขาดกำลัง หาทางแก้

รอเวลา สถานการณ์ จะผันแปร                              ให้อะแซ อดอาหาร ซมซานไป

ทั้งพม่า ทั้งไทย ไร้เสบียง                                       ต้องลำเลียง ส่งกำลัง ทั้งสองฝ่าย

พิษณุโลก แสนลำบากมากกว่าใคร                         ส่งจากใต้ ถูกปล้น จนหลายครา

          ๏ กะละโบ่ ของพม่า ปัญญาฉลาด                  ออกสะกัด ทางลำเลียง อย่างแข็งกล้า

แม้ไทยส่ง เจ้านคร ราชสีมา                                   คุมทัพหน้า กองเสบียง ยังเสี่ยงภัย

เคยขอทัพ พิษณุโลก ยกมาบีบ                               แต่ยังหนีบ กะละโบ่ ไม่เคยได้

ถูกขัดขวาง ทางลำเลียง จึงวุ่นวาย                          ลำบากใจ เรื่องอาหาร การอยู่กิน

          ๏ มีรับสั่ง พบเจ้ากรุง ธนบุรี                          สุรสีห์ มาเข้าเฝ้า เจ้าตากสิน

จึงดำรัส ตรัสทุกคน ได้ยลยิน                                 รบไม่สิ้น ชัยชนะ ด้วยกำลัง

ถ่วงเวลา ให้พม่า ขาดอาหาร                                  ให้มันหัน ถอยกองทัพ กลับไปหลัง

คอยซ้ำเติม ตีต่อ พอประทัง                                   คงมีหวัง ชนะศึก ดังนึกตรอง

ขอปรึกษา โดยตรง องค์จักรี                                  หายป่วยดี ลงมาเฝ้า สองต่อสอง

มีรับสั่ง เป็นอย่างเดิม เสริมครรลอง                        พระองค์ต้อง ไปพิจิตร เพื่อคิดการ

เจ้าพระยา กราบทูล พระทรงศรี                             ขณะนี้ อัตคัด ขาดอาหาร

พิษณุโลก ตกหนัก สุดผลักดัน                                 หากที่มั่น ถอนทัพหลวง น่าห่วงใย

เวลานี้ รี้พล ขัดสนนัก                                             ตระเวนหัก หาที่ไหน ก็ไม่ได้

พวกพม่า อยู่นอกเมือง ไม่เคืองคาย                         พอหาได้ เยียวยา มาจุนเจือ

เมื่อสิ้นแรง พิษณุโลก ตกที่นั่ง                                 สิ้นพลัง ใจฝ่อ ไม่หลอเหลือ

ข้าศึกตี หนีไม่ไหว ตายเป็นเบือ                              ปล่อยให้เหลือ เมืองเปล่า เราถอนไป

รวมกำลัง แน่นหนา มารบพุ่ง                                  คงไม่ยุ่ง ดังรักษา พาราไว้

ยังมิทัน ที่เจ้าตาก ตัดสินใจ                                    ถูกปล้นค่าย บ้านปากพิง เสียงยิงปืน

          ๏ รับสั่งให้ จักรี อยู่ที่ค่าย                              เสด็จไป บ้านปากพิง มินิ่งฝืน

เกรงพม่า เข้ามาตี ตอนกลางคืน                             จนดึกดื่น ก็ไม่มี พม่ามา

จักรีฝาก เทพอรชุน คนสนิท                                   พระพิชิต ณรงค์ ช่วยรักษา

ให้ดูแล ค่ายหลวง องค์ราชา                                  พวกพม่า มาเข้าตี ทุกวี่วัน

 

 

          ๏ พระเจ้าตาก ถอนทัพหลวง จากปากพิง       มีสองสิ่ง เหตุผล ในทางขวัญ

เพราะทัพหลวง ล่อแหลม การป้องกัน                      นครสวรรค์ ฐานเสบียง ต้องมั่นคง

ไปตั้งมั่น บางข้าวตอก นอกพิจิตร                           ตั้งค่ายชิต ตามระยะ พระประสงค์

สถานการณ์ พิษณุโลก เลวร้ายลง                           เจ้าสององค์ พี่น้อง ต้องตัดใจ

อาหารหมด อดอยาก ลำบากซ้ำ                              จะทำตาม พระปรารภ คงไม่ได้

รังแต่รอ ถึงกำหนด วันอดตาย                                คงละลาย สิ้นหวัง พลังตี

จำบุกฟัน ฝ่าออกไป ให้สิ้นเรื่อง                              ยอมทิ้งเมือง หมดห่วงใย ไม่หมองศรี

แล้วจัดทัพ หน้าหลัง สั่งออกตี                                 ปล่อยหวุ่นกี้ ได้เมืองเปล่า เข้าเชยชม

เดินลัดทุ่ง มุ่งหน้า เพชรบูรณ์                                  อะแซหวุ่น ประกาศชัย ให้ไทยสม

ไทยเดี๋ยวนี้ รบเก่ง ตะเลงชม                                  ต้องนิยม สู้กล้าหาญ รบชาญชัย

พิษณุโลก เสียให้เรา คราวนี้แล้ว                                      ทหารแกล้ว จะแพ้เรา หามิได้

หมดเสบียง อาหารดอก จึงออกไป                          รบกับไทย ครั้งหน้า อย่ามาเลย

สติปัญญา ไม่มี ดีกว่าข้า                                         อย่าได้มา พันตู อยู่เฉยเฉย

พิษณุโลก ไร้ประโยชน์ หมดที่เชย                          ไม่ละเลย สั่งให้มัง แยยางู

รบติดตาม ลาดตระเวน เสบียงอาหาร                     มาแบ่งปัน ประทังไว้ แบบไถถู

รับโองการ จากม้าเร็ว ออกอ่านดู                            อะแซรู้ สิ้นมังระ ตระหนกใจ

          ๏ จิงกูจา ราชบุตร รับสมบัติ                         รับสั่งตรัส อะแซหวุ่นกี้ กลับไปได้

จงยาตรา กองทัพ กลับเร็วไว                                 จึงกลับไป ใช้ทางด่าน แม่ละเมา

          ๏ ครั้นสมเด็จ พระเจ้ากรุง ธนบุรี                            ทราบธานี พิษณุโลก ให้โศกเศร้า

ทรงคิดว่า พม่าถอย เพราะแพ้เรา                            เพราะอดข้าว หมดเสบียง เลิกเสี่ยงตาย

จนต่อมา พระยาเจ่ง มอญสอดแนม                         กราบทูลแย้ม ความจริง สิ่งทั้งหลาย

สั่งกระหน่ำ ซ้ำพม่า ให้วอดวาย                              ยกขับไล่ รุกติดตาม ทั้งสามทาง

ทัพพระยา พลเทพ พบกองทัพ                                มังแยยางู ตั้งรับ ถูกขัดขวาง

พม่าเตลิด เข้าเวียงจันทร์ ยันพระบาง                      แล้วอ้อมทาง เชียงแสน หนีได้ทัน

กะละโบ่ พบพระยา ยมราช                                    พระยาราช สุภาวดี นครสวรรค์

ไทยล่าถอย คอยคุมเชิง รอทัพทัน                           ทัพธนฟัน กะละโบ่ แตกกระจาย

พระเจดีย์ สามองค์ ที่ตรงด่าน                                 ขาดอาหาร อิดโรย ถึงโหยหาย

ทั้งเจ็บไข้ ได้ป่วย อีกมากมาย                                 ถูกไทยไล่ ต้อนเชลย สี่ร้อยคน

          ๏ เจ้าตากสิน เร่งกองทัพ ขับหวุ่นกี้                แม้เข้าตี ไม่ทัน ก็ได้ผล

กวาดเชลย มาได้ อีกหลายคน                                พม่าทน อับอาย ขายหน้าไทย

ขุนพลเฒ่า ยังโชคดี มีตราสาส์น                                       ให้กลับบ้าน ถอนทัพ กลับไปได้

แท้ที่จริง จวนเจียนหมด จะอดตาย                          สลดพระทัย จิงกูจา พม่าตรม

          ๏ กษัตริย์ พระองค์ใหม่ ของพม่า                            จิงกูจา มองเชียงใหม่ ว่าเหมาะสม

เคยเป็นของ พม่า มานานนม                                   ยังอุดม ด้วยผู้คน และทำเล

การสูญเสีย เชียงใหม่ ให้กลัดกลุ้ม                          การควบคุม แคว้นลานนา ต้องหันเห

จะครอบครอง ดินแดน แสนรวนเร                          เริ่มหมิ่นเหม่ ไม่มั่นคง ตรงล้านนา

คิดตรึกตรอง มองดู ให้รู้เหตุ                                  อาณาเขต จะคลอนแคลน แดนพม่า

ตัดสินใจ ให้ดียิ่ง จิงกูจา                                         จะขอมา ยึดเชียงใหม่ เอาไปครอง

ให้อำมะ- ลอกหวุ่น แม่ทัพใหญ่                               ทัพเชียงราย มะยุง่วน แม่ทัพสอง

พลเป็นหมื่น ดื่นไป ไม่เป็นรอง                                แล้วย่ำกลอง ศึกรบ มาครบครัน

พอทราบข่าว เจ้าเชียงใหม่ ให้ส่งข่าว                     ถึงพระเจ้า กรุงธน ด้วยคร้ามครั่น

อพยพ ครอบครัว หนีพัลวัล                                    ไปสวรรค- โลก เพื่อหลบภัย

จำต้องทิ้ง บ้านเมือง เชียงใหม่มา                            ทัพพม่า จึงเข้าครอง อย่างโดยง่าย

มีรับสั่ง สุรสีห์ กรีฑาไป                                          สมทบให้ กาวิละ จากลำปาง

เกิดรบรา พม่าแพ้ สุรสีห์                                        เตลิดหนี เข้าป่า ไปทางฝาง

ตั้งหลักสู้ ไม่ได้ แทบวายวาง                                   เพราะหลงทาง เมืองเชียงใหม่ ไทยยึดมา

ไม่มีศึก อีกหลายปี ศรีเชียงใหม่                              แม้นอยู่ไกล แต่พระองค์ ทรงห่วงหา

โชคยังดี ที่ไม่มี พม่ามา                                          ดังวาจา อะแซหวุ่นกี้ มีทำนาย

          ๏ เมืองนางรอง ของนคร ราชสีมา                 อะหังกา ไม่สยบ ลงไปได้

ถึงแม้ว่า เมืองนางรอง คือของไทย                          ยกไปให้ จำปาสัก ของเจ้าโอ

มิตริตรอง มองไทย ให้รอบคอบ                                       คิดว่าบอบ ช้ำศึก นึกสุโข

เตรียมรี้พล สร้างเสริมให้ ทัพใหญ่โต                     แล้วเจ้าโอ กับเจ้าอินทร์ ออกเดินทาง

          ๏ ให้จักรี กรีฑาทัพ ปราบกบฏ                     อย่าละลด เอาชีวิต หากคิดขวาง

ส่งสุรสีห์ สมทบ ระหว่างทาง                                   อย่างระวัง พอทัพพบ เกิดรบกัน

ทัพนคร จำปาสัก สิ้นทางสู้                                      แล้วทั้งคู่ ถูกโค่น โดนประหาร

เมืองใหญ่น้อย แถบนั้น บรรณาการ                        ยอดทหาร สองน้องพี่ มีฝีมือ

เจ้ากรุงธน บุรี ดีพระทัย                                          บำเหน็จให้ ความเก่งกล้า น่านับถือ

เพราะรบมา โชนโชก จนโลกลือ                                      จักรีคือ เจ้าต่างกรม บรมนาม

สมเด็จเจ้า พระยา มหากษัตริย์ศึก                           พิฤกมหิมา ของสยาม

ขยายแผ่นดิน ถิ่นประเทศ ทุกเขตคาม                     เมื่อแปลความ คือกษัตริย์ ขัติยา

          ๏ สิบเอ็ดปี พ้นผ่าน การครองราชย์               องค์กษัตริย์ ธนบุรี มิหรรษา

ทรงกรำศึก ทุกแห่งหน เป็นต้นมา                            ต้องยาตรา บุกย่ำ อยู่ร่ำไป

ราชวงศ์ เวียงจันทร์ นั้นยุ่งยาก                               มีเจ้ามาก ซ่านเซ็น กระเสนกระสาย

แย่งสมบัติ พัสสถาน กันวุ่นวาย                               เปลี่ยนเจ้านาย บ่อย ๆ ด้อยกำลัง

          ๏ มีนายวอ กับนายตา คนสำคัญ                    เป็นลูกหลาน เชื้อวงศ์ ในลานช้าง

มาขอเป็น อุปราช ราชย์เวียงวัง                              ไม่สมหวัง เกิดวิวาท ถึงฆ่าฟัน

อพยพ กำลัง ตั้งเมืองใหม่                                       ขึ้นเป็นใหญ่ แยกเฉพาะ เยาะเย้ยหยัน

จำปานคร ขวางกาบ แก้วบัวบาน                            เจ้าเวียงจันทร์ ลงมาปราบ ถึงหนองบัว

ทั้งเวียงจันทร์ ทั้งพระวอ ขอพม่า                                      ให้ยกมา คุ้มครอง กลาหัว

แต่พม่า เข้าเวียงจันทร์ เกิดพันพัว                           ไปรวมหัว ไล่พระวอ พระตาตาย

ฝ่ายพระวอ หนีไป จำปาสัก                                    อยู่ได้ยาก เพราะทะเลาะ กันเหลือหลาย

ต้องหนีออก นอกเมือง เรื่องวุ่นวาย                         ไปตั้งใหม่ ดอนมดแดง แขวงอุบล

บรรณาการ ขอพึ่งพา เจ้าตากสิน                            พอได้ยิน ให้สงสาร เป็นท่วมท้น

เจ้าลานช้าง ยกทัพมา เมืองอุบล                             เหลือทานทน จนพระวอ ต้องวอดวาย

ลูกพระวอ ท้าวก่ำ กับท้าวเพี้ย                                 เลยต้องเสีย บิดา น่าใจหาย

ทั้งสองคน ด้นหนี จากที่ตาย                                   แล้วรีบไป เฝ้าเจ้ากรุง ธนบุรี

          ๏ แสนพิโรธ โกรธกริ้ว เป็นหนักหนา             หมิ่นเดชา นุภาพ และศักดิ์ศรี

เมืองเวียงจันทร์ ต้องสาสม ตรมฤดี                         พระทรงศรี มีรับสั่ง อย่างเร็วไว

ให้สมเด็จ เจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก                       ศัตรูนึก แล้วใจพรั่น อกหวั่นไหว

เจ้าพระยา สุรสีห์ ฤทธิเกรียงไกร                                      ให้ยกไป ที่นคร ราชสีมา

เจ้าตากสิน คุมทัพบก ยกสองหมื่น                           เดินไปขึ้น ลานช้าง เพื่อขวางหน้า

กองทัพเรือ หนึ่งหมื่น ดื่นศาสตรา                            แล้วยกมา ทางเขมร มุ่งเวียงจันทร์

ต้องทำการ ขุดคลอง อ้อมเกาะแก่ง                         ตีทุกแห่ง ทุกเมือง ที่เรือผ่าน

มาจวบทัพ กับสมเด็จ ที่เวียงจันทร์                          ข้ามโขงพลัน โดยเรือ ขึ้นล้อมเมือง

ทหารธน ตั้งค่ายยุทธ อาวุธวาง                               หลวงพระบาง ตกใจ ได้รู้เรื่อง

กับเวียงจันทร์ นั้นเคย แค้นขุ่นเคือง                        ขอมอบเมือง ให้ไทย เป็นไมตรี

ท่านสมเด็จ ให้กองทัพ เพชรบูรณ์                          มาเพิ่มพูน ทางเหนือ ไม่ให้หนี

รบพุ่งกัน หลายครั้ง สั่งเข้าตี                                   อยู่ถึงสี่ เดือนเต็ม ตั้งล้อมกรุง

ภายในเมือง สีสัตนา คนหุต                                    ถึงที่สุด จลาจล กันให้ยุ่ง

จนปัญญา รักษาได้ ในเมืองกรุง                                       ออกหนีมุ่ง เมืองคำเกิด ดินแดนญวน

พาเจ้าอินทร์ กับเจ้าพรหม ราชบุตร                        หนีรอดรุด สุดลับ ไม่กลับหวน

เหลือเวียงจันทร์ เคยครอง ของทั้งมวล                             อาศัยญวน ช่วยรอด ปลอดชีวี

          ๏ อาณาเขต ประเทศไทย ขยายกว้าง            หลวงพระบาง เป็นของไทย ไม่หมองศรี

สมเด็จเชิญ พระพุทธ มหามณี                                พร้อมกับมี พระบาง ร่วมทางมา

พระพุทธมหามณี รัตน ปฏิมากร                              อนุสรณ์ แห่งชาติไทย ที่ใฝ่หา

ศักดิ์สิทธิ์คู่ พระบารมี ศรีกษัตรา                             ทั่วสยาม เทวา ฟ้าและดิน

เป็นมิ่งหมาย นิมิต จิตเกษม                                    แสนปรีเปรม โสมนัส เจ้าตากสิน

หาสิ่งใด เปรียบแท้ แม้องค์อินทร์                                     องค์ตากสิน มอบถวาย ชาติไทยครอง

          ๏ สิบสามปี ให้หลัง ครั้งกรุงแตก                             เขมรแยก แย่งชิง หยิ่งผยอง

ด้วยเจ้าฟ้า ทะละหะ มาแย่งครอง                            ให้หม่นหมอง ยุวกษัตริย์ นักองเอง

ธนบุรี มิเคยทำ คำแต่งตั้ง                                       แต่ยื้อยั้ง เข้าถาโถม เชิงข่มเหง

แถมเอาใจ ออกห่าง อย่างนักเลง                             ซ้ำทำเบ่ง ฝักใฝ่ กับฝ่ายญวน

ส่งสมเด็จ เจ้าพระยา มหากษัตริย์ศึก                       ผู้หาญคึก ลึกล้ำ มิกำสรวล

สุรสีห์ มีชื่อ ลืออบอวล                                            แม้ชาติญวน ยังเกรงขาม คร้ามฝีมือ

พร้อมด้วยทัพ กรมขุนอินทร พิทักษ์                        โอรสรัก ของตากสิน ผู้สัตย์ซื่อ

ยกไปปราบ จับผู้ร้าย ให้คามือ                               เตรียมให้ถือ อินทรพิทักษ์ รักษาเมือง

          ๏ พอรู้ข่าว เจ้าฟ้ามู อยู่ไม่ไหว                      ไปอาศัย ไซ่ง่อน มาผ่อนเรื่อง

สุรสีห์ หุนหัน กลั้นขุ่นเคือง                                     จะเอาเรื่อง โจมตีญวน ครวญไตร่ตรอง

ไม่ได้แจ้ง ต่อสมเด็จ เจ้าพระยา                              ยังไม่มี ท้องตรา คำรบสอง

จึงหยุดทัพ บันทายเพชร รอข่าวกรอง                     ตั้งใจจ้อง บุกเข้าญวน ให้ซวนเซ

แต่การศึกษ คราวนี้ มิสิ้นสุด                                   ต้องรีบรุด กลับกรุง เกิดยุ่งเขว

เกิดกบฏ ขึ้นในวัง ไม่ลังเล                                      เพราะหมิ่นเหม่ ศึกกลางเมือง เรื่องกรุงธน

          ๏ สมเด็จเจ้า พระยามหา- กษัตริย์ศึก             ทรงสำนึก ว่าเมืองไทย เกิดสับสน

ศึกกลางเมือง เนื่องจากเหตุ จลาจล                         เกรงผู้คน จะล้มตาย ไม่ต้องการ

จึงสั่งให้ เจ้าพระยา สุรสีห์                                                กลับบุรี มีคำสั่ง เป็นตราสาส์น

ยกกองทัพ กลับด่วน ให้ควรการ                                       เดินทางผ่าน ทางปราจีน เข้าถิ่นไทย

สั่งกองทัพ อินทรพิทักษ์ ลูกเจ้าตาก                         ให้รอพัก สั่งเขมร ให้ล้อมไว้

ยังไม่ถึง เวลา ห้ามคลาไคล                                    สั่งเมื่อใด ค่อยเสด็จ เมื่อเสร็จการ

          ๏ จะขอกล่าว เล่าเรื่องลึก ศึกกลางเมือง                  นำเค้าเรื่อง คำกล่าว มาเล่าขาน

พอสดับ จับได้ ใช่ทางการ                                                ขอผู้อ่าน ทำใจ ให้เป็นธรรม

          ๏ องค์สมเด็จ พระเจ้ากรุง ธนบุรี                             ทั้งชีวี กรำศึก อย่างคราคร่ำ

ถึงแร้นแค้น แสนลำบาก ยอมตรากตรำ                            ทุกโมงยาม ถืออาวุธ ไม่หลุดมือ

อัชฌาสัย ในพระองค์ ผู้ทรงเดช                                      เป็นมูลเหตุ ที่คนไทย ได้นับถือ

พระบุญคุณ หนุนเนื่อง ยิ่งเลืองลือ                          พระองค์คือ ผู้กู้ชาติ องค์อาจจริง

บุญฤทธิ์ มากล้ำ เหลือกำหนด                                 พระทรงยศ เฉียบขาด ประหลาดยิ่ง

ประชาราษฎร์ รักใคร่ ด้วยใจจริง                          และกลัวยิ่ง กริ่งเกรง พระอาญา

ยามเมื่อชาติ ต้องวิโยค โศกวิบัติ                                      พระกษัตริย์ เยี่ยงนี้ ดีหนักหนา

จากเหตุการณ์ เรื่องเก่า ที่เล่ามา                             กษัตรา เจ้ากรุงธน จึงพ้นภัย

๏ ธรรมดา คนเกิด ในสากล                           ต้องเวียนวน วัฏจักร อย่าสงสัย

มีดีชั่ว ปะปน ทุกคนไป                                           สลดใจ พอใจ ระคนกัน

ในชีวิต ส่วนพระองค์ ผู้ทรงศักดิ์                                      มีคนรัก คนชัง บ้างแปรผัน

มีบุญบาป สับสน ปะปนกัน                                      ผสมผสาน เป็นมนุษย์ สุดที่ใจ

          ๏ เรื่องความรัก ของพระองค์ ผู้ทรงยศ          บรมโกศ มีลูกหลาน เหลือมาไว้

จิตรสุนทร ประทุมบุปผา ยอดยาใจ                         อยู่วังใน เจ้าหญิงฉิม นิ่มอุบล

มีสองหญิง ยอดรัก ปักใจแท้                                   สงสัยแค่ เป็นชู้สาว เฝ้าฉงน

ทรงประหาร บั่นชีวิต ทั้งสองคน                             ดวงกมล ร้าวฉาน เปลี่ยนผันแปร

พระสนม อีกหลายนาง ต่างผลักไส                          ด้วยหัวใจ วิปลาต เกิดบาดแผล

จะหันหน้า หาใคร ใคร่เหลียวแล                                      จนบาดแผล ในพระทัย ใกล้ปลดปลง

          ๏ องค์สัมมา พระภิกษุ คือของสูง                            ทรงบำรุง พระศาสนา อย่างสูงส่ง

พระสติ เฟือนไปบ้าง มีสร่างทรง                                      ส่วนพระองค์ ทรงถึง ซึ่งบวร

วิปลาต พลาดพลั้ง ทางความคิด                              สำคัญผิด ให้ภิกษุ มาไหว้ก่อน

หลงพระองค์ เป็นอรหันต์ ชั้นอุดร                           ไม่ไหว้ก่อน ลงอาญา จะฆ่าแกง

พระสังฆราช พิมลธรรม พุฒาจารย์                        ได้คัดค้าน ด้วยศรัทธา ที่กล้าแข็ง

ถูกจับเฆี่ยน บายโบย โหยสิ้นแรง                            นั่นคือแสง แวววับ ใกล้ดับลง

          ๏ สำคัญผิด คิดว่าตน นั้นเหาะได้                  ปลูกต้นไผ่ ใช้ปล้อง ต้องประสงค์

จะเหาะเหิร เดินอากาศ ผงาดองค์                           ใครคดโกง จับย่างไฟ ให้ทรมาน

ชอบทำนาย ทายทัก โชคชะตา                               ใครศรัทธา บอกทายถูก สนุกสนาน

หากใครบอก ทายผิด คิดลงทัณฑ์                           ต่างพากัน อิดหนา ระอาใจ

คดีความ คนทำถูก ติดคุกมี                                     คนไม่ดี ลอยนวล มีหลากหลาย

ความนับถือ ถดถอย ค่อยบั่นคลาย                          เส้นสุดท้าย เป็นฟาง จะเล่าความ

          ๏ เมื่อเสียกรุง ยุ่งเหยิง เรื่องทรัพย์สิน             คนฝังดิน ปกปิด เพราะคิดขาม

พม่าปล้น ค้นขุด ทั่วเขตคาม                                   ถูกลวนลาม ไม่เลือกที่ มั่งมีจน

พอสิ้นศึก นึกถึง ที่ซ่อนทรัพย์                                  พาย้อนกลับ คืนบ้าน ทำการค้น

เที่ยวขุดหา แหล่งฝัง อย่างอลวน                                      เป็นของตน หรือไม่ มิใยดี

          ๏ ตามกฎหมาย ลักษณะ ทรัพย์แผ่นดิน                   ใครทำกิน ตรงไหน จ่ายค่าที่

พระวิชิต ณรงค์ จากธนบุรี                                     ทำหน้าที่ เก็บภาคหลวง ทวงส่งคลัง

การฉ้อฉล กลโกง จงใจผิด                                     ทุจริต ต่อหน้าที่ ไม่หยุดยั้ง

ประชาชน คนกรุงเก่า เขาชิงชัง                                       กระเทือนยัง องค์สมเด็จ ธนบุรี

 

 

          ๏ เกิดโลภมาก สมัครมิตร คิดก่อการ             รัฐประหาร กันให้ยุ่ง ในกรุงศรี

ไฟเผาจวน บ้านผู้ว่า ของธานี                                 หัวหน้ามี คือขุนสระ ร่วมก่อการ

กับขุนแก้ว น้องชาย พระยาสรรค์                           รวมตัวกัน วุ่นวาย ไฟเผาผลาญ

อินทร์อภัย ใจไม่ดี โดดหนีทัน                                 เมียอาสัญ วอดวาย ในกองเพลิง

ตากสินส่ง พระยาสรรค์ ไปสืบเสาะ                         เลยพอเหมาะ มักใหญ่  เพราะใจเหริง

พวกเหล่าร้าย หลอกขุนสรรค์ สำราญเริง                ไม่มีเชิง เหลาะแหละ แต่อยากรวย

พระยาสรรค์ มีนิสสัย ที่เรรวน                                 ใครชักชวน ไปไหน ก็เอาด้วย

ทำไม่รู้ เป็นไม่ชี้ แกล้งงงงวย                                  กลับไปช่วย ร่วมกบฏ สลดใจ

          ๏ พวกกบฏ เข้ากรุงธน ปืนกลรัว                             ตกในรั้ว ราชวัง สนั่นไหว

คนแตกตื่น จนทั่วกรุง เกิดยุ่งใจ                              อื้ออึงไป ไม่เป็นสรรพ อดหลับนอน

คว้าพระแสง เสด็จออก ตำหนักเย็น                         ด้วยความเป็น นักรบ แต่เก่าก่อน

สั่งปืนป้อม ประสิทธิ์ชัย ให้ตัดรอน                          ห่วงอาวรณ์ ศึกใหญ่ ในกลางเมือง

รู้พระองค์ ทรงสูญเสีย อยู่เบี้ยล่าง                           ควรปล่อยวาง อำนาจ อาจสิ้นเรื่อง

เพื่อแผ่นดิน ถิ่นกำเนิด เกิดรุ่งเรือง                          สมควรเปลื้อง ราชกิจ ที่ผิดใจ

          ๏ แรมสิบสอง เดือนสี่ ปีฉลู                            พอเช้าตรู่ ยอมแพ้ ไม่แก้ไข

นิมนต์ พระสังฆราช ให้ออกไป                               ตัดพระทัย ยินยอม เจรจา

พระเจ้าตาก สละองค์ ทรงผนวช                                      ยังถูกตรวจ ตราคุม อย่างแน่นหนา

อุโบสถ วัดแจ้ง แหล่งศรัทธา                                   ใต้ร่มผ้า กาสาวพัสตร์ สลัดใจ

พระโอรส องค์พระเยาว์ เฝ้าใกล้ชิด                        คนสนิท ราชการ ชั้นผู้ใหญ่

เจ้าลักษณ์ราม ตามอยู่ คู่พระทัย                                       จองจำไว้ พิจารณา อาญามี

พระยาสรรค์ สำเร็จธน เพื่อรอท่า                            เจ้าพระยา กษัตริย์ศึก สุรสีห์

จากเขมร กลับมา ว่าคดี                                          ธนบุรี ขาดกษัตริย์ วิบัติพลัน

          ๏ พวกนักโทษ ปลดเปลื้อง พันธนา                ออกมาฆ่า ฝ่ายโจทก์ จนอาสัญ

ฆ่ากันตาย ไม่วายเว้น แต่ละวัน                               ต่างชวนกัน จับโจทก์ ลงโทษแทน

พระยาสรรค์ เข้าสำเร็จ ธนบุรี                                ฟังดนตรี ชมละคอน สุขใจแสน

เหมือนอยู่บน สรวงสวรรค์ ชั้นเมืองแมน                 อยากเป็นแทน องค์กษัตริย์ ตัดสินใจ

เดิมจะรอ เจ้าพระยา กษัตริย์ศึก                              กลับมานึก เปลี่ยนแปลง ความคิดใหม่

ชวนอนุรักษ์ สงคราม ยุย่ามใจ                               ที่ล่ามไว้ ปลดปล่อย คอยปราบปราม

          ๏ กรมขุน อนุรักษ์ สงครามคิด                      ขอเป็นมิตร พระยาสรรค์ ปราบเสี้ยนหนาม

สุริยอภัย ทัพหน้าถึง ซึ่งเขตคาม                             เห็นเพลิงลาม เกือบถึงเรือน อยู่พอดี

อนุรักษ์ สงคราม จุดเพลิงเผา                                 ลมตะเภา ช่วยพัดพา มาเร็วรี่

ใกล้ถึงจวน สุริยอภัย ไปทุกที                                 ก่อนอัคคีย์ จะทำลาย ให้เป็นจุล

สุริยะ ตั้งจิต อธิษฐาน                                             ขอปราบมาร เหล่าร้าย มลายสูญ

ขอให้ไฟ หยุดเผา เป็นเถ้าจุล                                 ให้ลมหมุน เปลี่ยนทิศ บิดเบือนไฟ

พอสิ้นเสียง ภาวนา น่าประหลาด                                      ลมโบกพัด สบัดทิศ คิดสงสัย

ทั้งบ้านปูน สวนมังคุด สุดปลอดภัย                          เพลิงลุกไหม้ ค่ายกบฏ ลดพลัง

สุริยะ อภัย เกิดใจสู้                                                ปราบศัตรู สู้รบ ตลบหลัง

มีพรรคพวก ร่วมด้วย ช่วยอีกทาง                           ข้ามจากฝั่ง เจ้าพระยา มาต่อกร

พระยาจ่า พระยาราม ก็ข้ามมา                               ภรรยา สุรสีห์ มิ่งสมร

เจ้าศิริรจนา สั่งกองมอญ                                        ช่วยรานรอน กอบกู้กรุง ธนบุรี

          ๏ ฝ่ายกบฎ ล้มตาย มลายสูญ                        กรมขุน อนุรักษ์ สงครามหนี

ไปไม่พ้น โดนจับ รับเสียที                                                คนภักดี กลับใจ อีกหลายคน

มีขุนแก้ว น้องขุนสรรค์ หันช่วยรบ                          แต่ไม่พบ ขุนสระ ผละล่องหน

ในที่สุด ฝ่ายกบฏ ในกรุงธน                                   ยอมจำนน สิ้นฤทธิ์ คิดเกรงกลัว

          ๏ เข้าวัดแจ้ง ให้อำลา สิกขาบท                    แล้วกำหนด จองจำ เจ้าอยู่หัว

ให้จำขัง กลุ่มขุนสรรค์ ที่พันพัว                              รอนำตัว ขึ้นศาล ฐานอาญา

          ๏ เจ้าพระยา มหา กษัตริย์ศึก                        จิตสำนึก หนักแน่น เป็นหนักหนา

ยุติธรรม ต้องสถิตย์ พิจารณา                                 องค์ราชา พึงใช้กฎ มณเฑียรบาล

เสด็จถึง ธนบุรี มีดำรัส                                            สั่งให้จัด คณะลูกขุน ชี้มูลฐาน

สอบสวนความ  ตามประเด็น เป็นทางการ                โดยยึดมั่น ความศักดิ์สิทธิ์ คิดปราณี

          ๏ สุริย อภัย กราบทูลเรื่อง                             ศึกกลางเมือง อุบัติมา เสื่อมราศี

เหตุเกิดจาก องค์ตากสิน ธนบุรี                               เป็นคดี โทษประหาร สถานเดียว

          ๏ พระเจ้าตาก ให้การ ฐานความผิด              ด้วยความคิด ตามครรลอง ไม่แลเหลียว

ชาติกษัตริย์ ตรัสความจริง แต่สิ่งเดียว                             ไม่แก้เกี้ยว ไม่เกรงกลัว ไม่กลัวตาย

          ๏ ห่วงประเทศ เหตุการณ์ พลันตรองตรึก      กษัตริย์ศึก ถอนพระทัย ใจสลาย

ส่ายพระพักตร์ จากบัลลังก์ หันหลังไป                    เพียงเหลือไว้ ราชวงศ์ ธนบุรี

          ๏ พระวิญญาณ อิทธิฤทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์กล้า                   คุ้มประชา ชาวไทย ให้สุขี

ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวาย สดุดี                                 มิ่งโมฬี มหาราช กษัตริย์ไทย

 

           ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้า

พลตรีวิเชียร ชูปรีชา

ผู้ประพันธ์