กลวิธีสอนจริยธรรมและธรรมะ
อาจารย์สมทรง ปุญญฤทธิ์

การเรียนการสอนจริยธรรมและธรรมะ จะประสบผลสำเร็จได้นั้น ครูผู้สอนจะต้องสอนให้ " เข้าถึงวิญญาณ " ของนักเรียน กล่าวคือต้องปลุกความสำนึก ความมีสติรู้จักผิดชอบชั่วดีของเขา ให้เขาเกิดความรู้สึก " วาบในใจ " ขึ้นมาให้ได้และสิ่งนั้นแหละจะเป็นแรงบันดาลใจให้เขาสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาหันมาสู่การปฎิบัติธรรมด้วยการไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนด้วยความสมัครใจของเขาเอง มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น และนี่คือการบรรลุถึงจุดหมายของการสอนศีลธรรมตามที่ทุกคนหวังไว้ การสอนให้ถึงวิญญาณนั้น ผู้เป็นครูมิใช่จะเปิดตำราแล้วก็ว่าเรื่อยไปตามตำรานั้น เพราะผลสุดท้ายเด็กจะได้แต่ " การเรียนเพื่อรู้ " แต่ไม่คิดที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ถามอะไรๆ ก็รู้ ตอบได้ทั้งนั้น สอบครั้งใดก็ได้คะแนนดีเป็นที่พอใจ รู้ว่าความกตัญญูเป็นสิ่งดี รู้ว่าคนเราควรขยันหมั่นเพียร ประหยัด ซื่อสัตย์สุจริต แต่ในทางปฎิบัติแล้วแทบจะเรียกว่าสวนทางกัน แล้วจะมีประโยชน์อะไรที่ได้เพียงแค่รู้ แต่ไม่ปฎิบัติ ผู้เป็นครูจึงต้องมีอุบายวิธีที่จะสอนให้เขาเกิดการกระทบในใจ จนสามารถขับไล่ความมืดบอดของชีวิต ออกไปจากจิตวิญญาณของเขาให้ได้ การสอนนั้นจึงจะมีคุณค่าสมกับคำที่กล่าวว่า " ครูคือผู้ยกระดับวิญญาณของมนุษย์ " อย่างแท้จริง ดังนั้นก่อนจะสอนอะไรให้เขา ไม่ว่าจะเป็นการไหว้พระสวดมนต์ แผ่เมตตา ฝึกมารยาท ทำสมาธิ ภาวนา หรือ ฯลฯ ครูจะต้องชี้แจงให้นักเรียนทราบเสียก่อนว่า สิ่งนั้นคืออะไร ทำไปทำไม ทำอย่างไร ทำแล้วจะได้อะไร จากนั้นจึงให้นักเรียน ลงมือปฎิบัติจริง ให้เขาได้ตรวจสอบการปฎิบัตินั้นๆ ด้วยตัวของเขาเอง มิฉะนั้นจะกลายเป็นความงมงาย สักว่าทำตามๆ กันไปนอกจากนี้ครูควรมีการสรุปและประเมินผลการปฎิบัติเป็นครั้งคราวเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนพยายามควบคุมกายวาจาใจให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป หมั่นเตือนเขาเสมอว่า " ธรรมะใดๆ ก็ไร้ค่า ถ้าไม่ทำ " ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า ครูต้องก้าวหน้าทางจิตใจก่อน เมื่อมีต้นทุนอยู่ในกระเป๋ามากพอ ก็จะสามารถแจกจ่าย หรือชี้นำเด็กได้มิใช่เดินไปพร้อมเด็ก หรือเดินตามหลังเด็ก เพราะถ้าเด็กสิ้นศรัทธาในตัวครูแล้วการสอนศีลธรรมจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่เริ่มสอนทีเดียวในฐานะที่ครูทั้งหลายเป็นประดุจดวงประทีปส่องทางให้ศิษย์ เป็นผู้ที่สังคมยกย่องว่าเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ที่บิดามารดาของนักเรียนไว้วางใจให้อบรมบุตรธิดาของเขาเราจะต้องตระหนักในเรื่องนี้โดยแจ่มชัด แล้วศึกษาและปฎิบัติธรรมให้จริงจัง และเมื่อเจริญในธรรมปฎิบัติ การสอนศีลธรรมก็จะเป็นเรื่องง่ายมีปิติปราโมทย์อย่างสูงสุดเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงใจ สามารถนำตัวเองและลูกศิษย์ให้อยู่เย็น - เป็นสุขได้ตลอดไป

***************************