การจัดการศึกษาที่ให้ผู้เรียนสำคัญที่สุด

เขียนและเรียบเรียงโดย นายมนัส  ศรีเพ็ญ

กรรมการเลขาธิการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ

 

จากที่ได้สืบค้นข้อความจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารการศึกษา จากหลายๆท่าน จึงได้นำมาสรุปและเสริมความเห็นส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา และศาสตราจารย์ นายแพทย์ประเวศ วะสี ได้บรรยายไว้ว่า  “ หัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ ”   หัวใจของการปฏิรูปการเรียนรู้ คือ การปฏิรูปจากการยึดวิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นยึดจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ หรือผู้เรียนเป็นตัวตั้ง หรือที่เรียกว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุด ที่กล่าวว่า ผู้เรียนสำคัญที่สุดไม่ได้แปลว่าครูจะต้องลดบทบาทหรือลดความสำคัญลง ตรงกันข้าม ครูกลับมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น  อีกทั้งจะทำให้การสอนมีพลังและศักดิ์ศรีในการแก้ปัญหามนุษย์  สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคตหากครูพัฒนาตนเองและเข้าถึงความเป็นมนุษย์

           สังคมทุกวันนี้เชื่อมโยง ซับซ้อน เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มนุษย์ไม่สามารถเผชิญกับความซับซ้อนและความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้ จึงเกิดสภาวะวิกฤต เช่น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ด้วยติดอยู่บนความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยเกินฐานะ ความเครียด  ความรุนแรง ปัญหายาเสพติด ปัญหาโรคเอดส์  ความประมาททางอุบัติเหตุ ฆ่าตัวตาย  ความขัดแย้ง  อาชญากรรม การทำลายสิ่งแวดล้อม และอื่น ๆ  จึงไม่สามารถจัดระบบชีวิตและสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขได้อย่างที่พบอยู่ในปัจจุบันมาจากการศึกษาทั้งสิ้น 

   การเรียนโดยการท่องหนังสือหรือเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่สามารถทำให้มนุษย์เผชิญและแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะโลกแห่งวิชากับโลกแห่งความจริงต่างกัน การเรียนโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้งทำให้แยกตัวออกจากความเป็นจริงของชีวิตและสังคมที่ซับซ้อน และเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

             สถานการณ์จริงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรๆ มนุษย์ก็อยู่ในความเปลี่ยนแปลงนั้น เรียนรู้ในความเปลี่ยนแปลงนั้น ให้รู้พอ รู้ทัน รู้เผชิญ และรู้การจัดระบบชีวิตและสังคมให้อยู่ในดุลยภาพในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้

             การเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นตัวตั้งหรือยึดผู้เรียนสำคัญที่สุด หมายถึงการเรียนรู้ในสถานการณ์จริงของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จึงต้องเอาผู้เรียนแต่ละคนเป็นตัวตั้ง ครูจัดให้นักเรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ กิจกรรม และการปฏิบัติลงมือทำงานด้วยตนเอง  อันนำไปสู่การพัฒนาผู้เรียนครบทุกด้าน ทั้งทางกาย ทางจิตหรืออารมณ์ ทางสังคม และทางสติปัญญา ซึ่งรวมถึงพัฒนาการทางจิตวิญญาณด้วย มนุษย์ต่างจากสัตว์ที่มีพัฒนาการทางจิตวิญญาณ (Spiritual development) ความเป็นมนุษย์อยู่ที่พัฒนาการทางจิตวิญญาณ วิกฤตการณ์ของมนุษย์เกิดจากการทอดทิ้งมิติทางจิตวิญญาณ เหลือแต่มิติทางวัตถุจึงพากันวิกฤตทั้งโลก การศึกษาสมัยใหม่ที่จะพามนุษย์รอดจากวิกฤตการณ์ต้องไปให้ถึงพัฒนาการทางจิตวิญญาณ เพราะจิตวิญญาณอยู่ในชีวิตมนุษย์ การเรียนที่เอาชีวิตเป็นตัวตั้งจะทำให้ค้นพบมิติทางจิตวิญญาณ คือต้องคำนึงถึงให้ผู้เรียนได้ เข้าใจตนเอง เห็นใจผู้อื่น มีคุณธรรม จริยธรรม (จิตใจ MQ=Moral Quotient ) เป็นผู้สามารถควบคุมอารมณ์ ไม่เครียด ร่าเริง ( อารมณ์ EQ= Emotional Quotient ) รู้จักปรับตัวให้อยู่ในสังคมมีมนุษยสัมพันธุ์ดี ( สังคม DQ= Develmental Quotien) เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ มีไหวพริบ เฉลียวฉลาด ( สติปัญญา IQ=Intelligence Quotient )

    ปัจจุบันการศึกษาทั่วโลกเป็นส่วนใหญ่แยกว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อีกอย่างหนึ่งโดยการศึกษาเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ตามหลักทางพุทธศาสนาถือว่า “ ชีวิตคือการศึกษาและการศึกษาคือชีวิต” ชีวิตและการศึกษาอยู่ที่เดียวกัน การปฏิรูปการเรียนรู้คือ การย้ายการศึกษาให้มาอยู่ที่เดียวกับชีวิต ที่ว่าผู้เรียนสำคัญที่สุดนั้น หมายถึงชีวิตของผู้เรียน คือชีวิตของผู้เรียนคือการศึกษาหรือชีวิตคือการเรียนรู้

    ในการเรียนการสอนแบบเอาชีวิตเป็นตัวตั้งนี้ ควรจะเปลี่ยนบทบาทจากการต้องท่องบ่นเนื้อหาวิชามาถ่ายทอดให้นักเรียนฟัง ครูเป็นผู้ให้ความรักความสนใจในชีวิตของนักเรียนแต่ละคน จัดประสบการณ์การเรียนรู้อันหลากหลายและเหมาะสมกับผู้เรียน ร่วมเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนใน สถานการณ์จริง รู้ศักยภาพที่แตกต่างกันของนักเรียนแต่ละคนและส่งเสริมให้นักเรียนได้นำศักยภาพนั้นมาใช้ ข้อนี้นักเรียนอาจไม่รู้ตัวเองแต่ครูรู้ นักเรียนที่ได้รับการส่งเสริมศักยภาพตามความถนัดของตนจะมีความสุขอย่างยิ่ง และรักครูอย่างยิ่ง นักเรียนแต่ละคนจะมีครูอันหลากหลาย เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนบ้าน พระสงฆ์  ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปิน ผู้ประกอบอาชีพต่างๆ  ครูในสถานการณ์จริงจะไม่โดดเดี่ยว แต่มีเพื่อนครูหลากหลายจำนวนมาก ครูจะมีความสนุกในการเรียนการสอนแบบนี้ และเก่งวันเก่งคืน รวมทั้งเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดใหม่ ประสบอิสรภาพและมิตรภาพอันไพศาล เพราะการเรียนการสอนแบบนี้เป็นกระบวนการอันละเอียดของความเป็นมนุษย์ ซึ่งรวมเอาประชาธิปไตยและธรรมะเข้ามาในกระบวนการนี้ด้วย ชีวิตของครูจึงเปลี่ยนไป นำไปสู่ความสุขและความสร้างสรรค์อย่างยิ่ง

     มหัศจรรย์แห่งสมอง

           " สิ่งที่เด็กต้องการสำหรับการพัฒนาสติปัญญาและความฉลาด คือ สิ่งแวดล้อมหรือการเลี้ยงดูที่ถูกต้องเหมาะสม ผู้เลี้ยงดูเด็กควรมีความรู้ในการเลี้ยงดูเด็ก ให้โอกาสเด็กได้เรียนรู้ สิ่งต่าง ๆ เพื่อเก็บข้อมูลเข้าไปสร้างเป็นโครงสร้างความรู้ในสมอง แต่สิ่งสำคัญก็คือจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย "
              จากการวิจัยพบว่า การทำงานของสมองของคนเราทำงานตลอดเวลาไม่ว่าหลับหรือตื่น จะทำงานกันเป็นกลุ่ม คือ เซลล์ประสาทจะมารวมกันเป็นกลุ่มแล้วทำหน้าที่หนึ่งอย่าง เซลล์ประสาทเหล่านี้จะติดต่อถึงกัน ทำให้เกิดการทำงาน มีกระแสไฟฟ้าอยู่ตลอดเวลา ถ้าหากการทำงานและกระแสไฟฟ้านี้หยุดไป เซลล์ประสาทก็จะตาย และจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นใยประสาทของเซลล์ประสาทแต่ละเซลล์ที่ติดต่อถึงกันที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพลังงานกันก็จะตายไปด้วย

              นายแพทย์ พร พันธุ์โอสถ กล่าวว่าพระธรรมปิฎก ท่านพูดถึงการพัฒนาเด็ก  ถ้ามองย้อนกลับในอดีตเด็กจะเรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตจากพ่อแม่ ต่อมาพอเด็กโตขึ้น ก็ส่งเข้าไปอยู่กับหลวงตาที่วัด ก็ได้เรียนรู้วิถีชีวิต สังคมภายในวัด เป็นการต่อตำราอ่านหนังสือ แต่ด้านหลักเด็กได้เรียนรู้วิถีชีวิต ส่วนความรู้ในตำราเป็นเพียงส่วนย่อยส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตทั้งหมด 

          ปัจจุบันระบบการศึกษากลับดึงเอาการต่อตำรามาเป็นทั้งหมดของระบบโรงเรียนของเรา วิถีชีวิตขาดหายไป จึงเกิดปัญหาเรื่อง อารมณ์ วินัย พฤติกรรม เพราะเราไปจัดสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตไปอยู่ในตำรา เช่น ศีลธรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติ เราก็จับไปเป็นความรู้สำหรับท่อง หรือ วัฒนธรรมก็จับไปเป็นตำรา ทั้งๆที่ วัฒนธรรมเป็นวิถีชีวิต

          บทบาทของครูจะต้องเป็นกัลยาณมิตตา เป็นมิตรที่นำทาง มิตรที่ใกล้ชิด ในวัยเด็กจะเรียนแบบ  ครูจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีงามแก่เด็ก ครูจะต้องเป็นผู้มีวินัย วินัยคือความเคยชิน  โดยถ้าเราสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการที่เด็กจะสร้างวินัยขึ้นมา  ท่านว่า ศีลสัมปทา ไม่ใช่กฏ 1 2 3 ... มาบังคับ แต่อยู่ในวิถีชีวิต แล้วเขาปฏิบัติไปจนเป็นความเคยชิน เขาจะรักษาวินัยนี้ไว้ได้

             การเรียนรู้ของเด็กต้องมี ฉันทะ ความรู้สึกรัก ชอบการงานที่ทำ ซึ่งจะทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน ไม่ใช่การเอาความสนุกหรือรางวัลมาล่อ อันนั้นคือ  ตัณหา แต่ ฉันทะ จะก่อเกิดจากภายในตัวเด็ก จากการได้เห็นและปฏิบัติ คือให้เด็กเรียนโดยผ่านความรู้สึก ( feeling ) 

             อีกอย่างคือ อัตสัมปทา ความไม่ย่อท้อต่อการงาน ไม่ใช่ว่าเด็กยากเรียนก็ปล่อยเด็กตามใจ  อันไหนมีความจำเป็นต่อเด็ก ครูจะต้องจัดให้ ถ้าเด็กพอใจจะเรียนหรือไม่ชอบ ครูจะต้องหาวิถีทางช่วยให้เด็กฝ่าฟันอุปสรรคนั้นไปให้ได้  นี่คือ พลังเจตจำนง หรือ will

             สุดท้ายต้องมี โยนิโสมนสิการ การคิดอย่างแยบคาย รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ตรงกับเรื่องของการคิด ( thinking ) ที่โรงเรียนสอนนั้นเพียงให้รู้จักคิดอย่างเดียว   แต่จะต้องสอนให้คิดอย่างมีเหตุผล   หมายถึง ความรู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก กำหนดมองสิ่งทั้งหลายให้ได้คุณค่า คิดเป็น แก้ปัญหาได้ รู้จักคิดวิเคราะห์ สืบสาว ให้เข้าถึงความจริง ความรู้จักคิด หรือคิดเป็น มีความสำคัญอย่างไร เป็นเรื่องที่ย้ำเน้นกันมากอยู่แล้วในวงการการศึกษาสมัยปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำในที่นี้ แต่ข้อที่ควรพิจารณาอยู่ที่ว่า คิดเป็นนั้นคือคิดอย่างไร ความคิดเป็นที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการนั้น มีวิธีคิดหลายวิธี โดยเฉพาะที่สำคัญ คือ  คิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย,  คิดแบบแยกแยะองค์ประกอบ, คิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา , คิดแบบกระบวนการแก้ปัญหา , คิดแบบความสัมพันธ์เชิงหลักการและความมุ่งหมาย , คิดแบบเห็นคุณ - โทษ (ข้อดี ข้อเสีย ข้อเด่น ข้อด้อย) และทางออก , คิดแบบคุณค่าแท้ - คุณค่าเทียม , คิดแบบอุบายปลุกเร้าคุณธรรม , คิดแบบอยู่กับปัจจุบัน คิดแบบวิเคราะห์ทั่วตลอดและรอบด้านที่เรียกว่าวิภัชชวาท.

 

 พ่อแม่ลูกปลูกรัก :การเรียนรู้แบบจิตวิวัฒน์  โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน


       เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า "จิตใต้สำนึก" หรือ Subconscious กันแล้ว ในหลักวิชาการ จิตใต้สำนึกของมนุษย์นั้น เปรียบได้กับแหล่งเก็บสะสมข้อมูล บันทึกความทรงจำ ที่มีอิทธิพลต่อการทำงานที่อยู่เหนือการควบคุมของสมองและร่างกาย จิตใต้สำนึกเกิดขึ้นกับมนุษย์ ซึ่งอาจมีอยู่ก่อนหน้าที่ชีวิตจะกำเนิดขึ้นมา หรืออาจเกิดขึ้นมาพร้อม กับการก่อกำเนิดชีวิตก็ยังไม่สามารถบ่งชี้ชัดได้ แล้วคำว่า "จิตวิวัฒน์" คืออะไร ?

       จิตวิวัฒน์คือการเรียนรู้ที่พัฒนามาจากจิตใต้สำนึก
       ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ค้นพบว่า มารดาสามารถสื่อสารกับทารกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่มารดาพยายามสื่อสารกับลูกน้อยในครรภ์ เพื่อปลูกฝังให้ลูกมีพฤติกรรมไปในทิศทางที่ตนเองต้องการก็คือ มารดากำลังปลูกฝัง "จิตใต้สำนึก" ให้กับลูก
       จิตใต้สำนึก จะเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ได้ดีในช่วงวัยเด็กโดยเฉพาะตั้งแต่วัย 1 - 7 ปี เพราะเด็กในวัยนี้จิตใจยังขาวสะอาด   
       สิ่งใดก็ตามที่เด็กรับไปในช่วงวัยเริ่มต้นชีวิตมักจะฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก เช่น เด็กที่เคยจมน้ำจะกลายเป็นคนกลัวน้ำ แม้ว่าจะลืมเลือนวันเวลาและเหตุการณ์ในครั้งนั้นไปแล้วก็ตาม แต่ภายในจิตสำนึกยังมีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ และข้อมูลเหล่านั้นจะมีอิทธิพลต่อระบบประสาท ความรู้สึกและอารมณ์เวลาที่พบเห็นน้ำ
   
       การปลูกฝัง "จิตใต้สำนึกที่ดี" ให้กับเด็กเล็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลอย่างมากต่อแนวทางการดำเนินชีวิตของเด็กในอนาคต   
       กระบวนการเรียนรู้ผ่านจิตใต้สำนึกน่าสนใจตรงที่ว่าเป็นการเรียนรู้ที่ไม่ได้ยัดเยียดหรือใส่อะไรใหม่เข้าไปในตัวเด็ก หากแต่เป็นการเปิดใจของเด็กให้มีโอกาสได้ซึมซับรับเอา "ความดี ความงาม ความจริง" ที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติด้วยตัวเอง
       "ความดี ความงาม ความจริง" จากธรรมชาติที่เด็กมีโอกาสได้สัมผัสเรียนรู้นั้นจะนำไปสู่การพัฒนาจิตใต้สำนึกของเด็กให้เติบโตไปพร้อมกับร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา   
    ปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อการเรียนรู้แบบจิตวิวัฒน์ของเด็กมีองค์ประกอบ
3 ส่วน คือ คุณครู – สิ่งแวดล้อม - แนวทางการศึกษา
    
       จิตใต้สำนึกของเด็กจะเติบโตและวิวัฒนาการเป็น "จิตวิวัฒน์" ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องเริ่มจากผู้ถ่ายทอดซึ่งเป็นปัจจัยแรก คือ คุณครู ( คือผู้แนะนำสั่งสอนเช่นพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้บุคลทั่วไป ) เมื่อใดก็ตามที่คุณครูตระหนักรู้ถึงความงดงามและคุณค่าของธรรมชาติที่ส่งผลต่อจิตใจได้อย่างเข้าใจถึงแก่นแท้แล้ว คุณครูก็จะสามารถถ่ายทอดสุนทรียภาพได้อย่างมีชีวิตชีวา ถ่ายทอดออกมาจากจิตวิญญาณของความเป็นคุณครูสู่จิตวิญญาณของเด็ก อาจโดยผ่านบทเพลง บทกลอน นิทาน กิจกรรมเข้าจังหวะต่าง ๆ เป็นต้น      
       ปัจจัยที่สองคือสิ่งแวดล้อม เพราะจิตใจเด็กไม่อาจซึมซับความเป็น "ธรรมชาติ" ได้จากการมองเห็นรูปภาพในกระดาษ  การเรียนรู้ธรรมชาติ จึงต้องให้ได้เข้าไปสัมผัส หรือเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติที่แท้จริง แม้แต่ได้เข้าไปร่วมงานวัฒนธรรมประเพณี  เป็นสิ่งสำคัญในการที่จะเชื่อมโยงและผูกพันเด็กและธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน     
       ปัจจัยสุดท้ายคือแนวทางการศึกษาของโรงเรียน การเรียนรู้ผ่านจิตใต้สำนึกต้องมุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาด้านจิตใจ
       แนวทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ผ่านจิตใต้สำนึก เช่น แนวทางการศึกษาแบบ "วอลดอร์ฟ" ของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ นักคิดและครูแนวจิตวิญญาณที่มุ่งเน้น การสร้างสรรค์ ความเที่ยงตรงทางศีลธรรม และการเติบโตของภูมิปัญญา ซึ่งปัจจุบันก็มีโรงเรียนหลายแห่งที่นำแนวทางการศึกษานี้มาใช้อยู่ในประเทศไทย เช่นโรงเรียนปัญโญทัย, อนุบาลบ้านรัก, อนุบาลแสนสนุกไตรทักษะ, โรงเรียนรุ่งอรุณ ฯลฯ      
       กิจกรรมการเรียนการสอน จะเน้นส่งเสริมให้เด็กได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าและได้สัมผัสกับธรรมชาติด้วยจิตวิญญาณ โดยให้เด็กได้เกิดความพร้อมทั้งทางด้านสมอง (Head) ความรู้สึก (Heart) และลงมือกระทำ (Hand)      
       ยกตัวอย่างกิจกรรมที่ให้เด็กมีส่วนร่วมก็จะส่งเสริมให้เด็กใช้วัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้พลาสติกหรือวัสดุที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ถ้าทำสวนผัก ก็จะให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้การปลูกพืช ฝึกสังเกตเห็นการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด รวมถึงเรียนรู้กระบวนการของสิ่งมีชีวิตประเภทพืชที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และให้เข้าใจถึงประโยชน์ของพืชแต่ละชนิดด้วย  แน่นอนว่าเป้าหมายปลายทางของการเรียนรู้แบบจิตวิวัฒน์ก็คือความสุข    
         จากการได้มีโอกาสได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กได้เต็มอัตรา ใช้ความเป็นเด็กได้อย่างอิสระตามธรรมชาติ เด็กจะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตชีวาและมีสุขภาพจิตดีด้วยจิตใต้สำนึกที่มี "ความดี ความงาม และความจริง" เป็นรากฐานของชีวิต และเป็นรากฐานของการพัฒนาจิตใจ   แต่ทั้งสิ้นทั้งปวงจิตใต้สำนึกที่ดีก็ต้องเริ่มจากครอบครัวที่ดีและเข้าถึงก่อน

แนวทางจัดการศึกษาและแก้ปัญหาเยาวชน

หลักการและเหตุผลการศึกษา
            การจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ( Child Centre )  กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ โดยจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของบุคคล ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความสุขบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียงและยั่งยืนจากจุดหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เป็น คนดี คนเก่ง และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข บนพื้นฐานของความเป็นไทย

การจัดการศึกษาวิชาสามัญในปัจจุบัน

            หลักสูตรการเรียนในอดีตแม้แต่ในปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังยึดติดกับการสอนด้านวิชาการตามเนื้อหาที่นักวิชาการหรือผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้เขียนและบังคับให้นักเรียนต้องเรียนตามที่กำหนดไว้จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เนื่องจากโรงเรียนได้แปลความประสงค์กลุ่มสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่มออกมาเป็นตัวเนื้อหาทางวิชาการมากมายเป็นตำราและแบบฝึกหัด  ให้ครูนำไปสอนนักเรียนในห้องเรียน จนครูและนักเรียนต่างก็เกิดความเครียดไม่ต่างกันเนื่องจากครูก็ต้องสอนให้หมดทุกเนื้อหาและนักเรียนก็ต้องผ่านการเรียนรู้ให้เป็นไปตามจุดประสงค์ที่โรงเรียนหรือครูเป็นผู้กำหนดบังคับไว้  นี้คือปัญหาใหญ่ที่ไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ( Child Centre )
         และปัจจุบันโรงเรียนหลายๆแห่งกลับนำเอาเทคนิคการจูงใจและวิธีการกระตุ้นแรงสร้างสรรค์ จากกิจกรรมโครงงาน
หรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เป็นปรัชญาการพัฒนาไปเป็นการสอนเสริมพิเศษที่ทำบ้าง ไม่ทำบางโดยกำหนดเป็นเพียงวิชาส่งเสริมการเรียนรู้เท่านั้นทั้งๆ นี้คือการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญเบื้องต้นเพื่อให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง ค้นพบความสามารถ ตามความพร้อมและความถนัดของตนเองเพื่อการพัฒนาให้เต็มศักยภาพ รู้จักบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม ระเบียบวินัย เห็นคุณค่าในการประกอบสัมมาชีพ การบำเพ็ญประโยชน์ให้ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข  เช่น จะต้องนำคำสอนในพระพุทธศาสนา เรื่องสิกขาหรือการศึกษานั้นมี ๓ ด้าน คือ ฝึกฝนพัฒนาในด้านการแสดงออกทางกายและวาจา (อธิศีล) ฝึกฝนพัฒนาในด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต (อธิจิต) และฝึกฝนพัฒนาในด้านปัญญา (อธิปัญญา) จึงเรียกว่า ไตรสิกขา หรือการศึกษา ๓ ด้าน หรือ ๓ ส่วนดังตัวอย่างการเรียนรู้ด้วยกิจกรรมต่างๆ ต่อไปนี้

1. กิจกรรมทางพุทธศาสนา, ศีลธรรม, จริยธรรมและวัฒนธรรมประจำชาติ   เป็น กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอารมณ์ทางความคิดและการแสดงออก ให้ผู้เรียนสามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเอง การสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดี มุ่งสร้างเสริมเจตคติ คุณค่าชีวิต ความซื่อสัตย์สุจริต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์   รู้จักและเข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างเหมาะสมตาม ความแตกต่างระหว่างบุคคล  การมีความเชื่อถือ แนวความคิด ความเข้าใจ ทัศนคติ และค่านิยมที่ดีงามถูกต้อง สอดคล้องกับหลักความจริงแห่งความเป็นไปตามเหตุปัจจัย เสริมสร้างทักษะชีวิต สร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่อย่างถูกต้อง มีคุณค่า เกื้อกูล เป็นประโยชน์ อย่างน้อยไม่ เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นและดำรงชีวิตที่ดีงาม   จุดหมายของชีวิตที่ดีงามนั้น ถ้าพูดตามหลักพุทธธรรมก็คือ ความดับทุกข์ หรือ ภาวะไร้ปัญหา คือการแก้ปัญหาได้ หรือการที่เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ไม่เกิดเป็นปัญหาขึ้นแก่ชีวิต ตลอดจนชีวิตนั้นเองไม่เกิดเป็นปัญหา เพราะปฏิบัติ ต่อมันอย่างถูกต้อง และเพราะแก้ไขให้ปัญหาหมดไปได้ ซึ่งอาจจะเรียกว่า ความหลุดพ้นหรืออิสรภาพ เพราะปลอดพ้น ปราศจากการบีบคั้น กดดันจำกัด ขัดข้อง บางทีก็เรียกว่าสันติและความสุขที่มั่นคงยืนนาน   ตัวอย่าง เช่น กิจกรรมเข้าวัดฟังธรรม ร่วมงานทางวัฒนธรรมประเพณีในโอกาสต่างๆ
2.
กิจกรรมพัฒนาร่างกาย  ซึ่งเป็นเสมือนการให้ผู้เรียนได้ลงแข่งขันสู่ จุดหมาย อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยตนเอง โดยทำให้คนนั้นก้าวไปในวิถีชีวิตที่ดีงามสู่จุดหมายมากยิ่งขึ้นๆ เป็นกิจกรรมที่พัฒนาให้ผู้เรียนเป็นผู้รู้แพ้ ยินดีต่อชัยชนะ จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม โดยมุ่งเน้นปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ความซื่อสัตย์สุจริต อุตสาหะ  อดทน เคารพกฎกติกาของสังคม มีความ เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี เช่น กิจกรรมลูกเสือ–เนตรนารีและพลศึกษา กิจกรรมผู้บำเพ็ญประโยชน์หรืออนุกาชาด
3. กิจกรรมพัฒนาความรู้ทางปัญญา   การรู้จักคิด รู้จักพิจารณา รู้จักสำเหนียก กำหนดมองสิ่งทั้งหลายให้ได้คุณค่า คิดเป็น รู้จักคิดวิเคราะห์สืบสาวให้เข้าถึงความจริงแห่งความรู้โดยหลัก อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น ตามวัยและช่วงชั้น  เช่น กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาวิชาการ, กิจกรรมสาร เสียง สื่อภาษา,  รักษ์ภาษาพัฒนาความเป็นไทย,  ติดปีกสำนวนไทย, หมอภาษา,  โครงงานทางชีววิทยา วิทยาศาสตร์ เกษตรกรรม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม  ศีลปะและฝึกการฝีมือ การสืบค้นความรู้จากตำราในห้องสมุดและสื่อเทคโนโลยีการศึกษาทางมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ ฯลฯ 
4. กิจกรรมตามความถนัดและความสนใจของผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนความสามารถพิเศษไปสู่ความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่น นักกีฬา นักดนตรี  นักออกแบบ นักแสดงและพิธีกร เป็นต้น
       กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเบื้องต้นดังกล่าวจะต้องใช้ครูผู้ชำนาญและเป็นผู้นำ  กิจกรรมที่จัดอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอน ประกอบด้วยรูปแบบกระบวนการ วิธีการที่หลากหลาย มีการวิเคราะห์ สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์ได้ ตามจุดประสงค์ให้ผู้เรียนได้ประสบการณ์จากการปฏิบัติได้จริง   มีความหมายและมีคุณค่าในการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม มุ่งสร้างเสริมเจตคติ คุณค่าชีวิต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง สร้างจิตสำนึกในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
      ตัวเด็กเองต้องรู้จักเลือกคบหากัลยาณมิตร คือรู้จักเลือกคบคนดี รู้จักเลือกหาแหล่งความรู้ที่ดี และรู้จักถือเอาแบบอย่างที่ดี หรือรู้จักเลือกบุคคลที่จะนิยมเป็นแบบอย่างในความประพฤติ เช่น รู้จักใช้ห้องสมุด รู้จักเลือกอ่านหนังสือ รู้จักเลือกดูรายการบันเทิงต่างๆ
      โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบในสังคมสิ่งแวดล้อม จะต้องทำหน้าที่จัดหา จัดสรร และทำตัวให้เป็นกัลยาณมิตร แก่เด็กหรือผู้เรียน เช่น ผู้ปกครอง พ่อแม่ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี  ครูอาจารย์ประพฤติตนทำหน้าที่เป็นครูอาจารย์ที่ดี สื่อมวลชนเสนอข่าวสารข้อมูลที่ดีงามเป็นประโยชน์ จัดทำรายการที่มีคุณค่า ทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนที่ดี ผู้บริหารโรงเรียน จัดสรรสภาพแวดล้อมให้เรียบร้อยดีงาม เอื้ออำนวยบริการข่าวสาร ข้อมูลและแหล่งความรู้ เช่น ห้องสมุดที่รวบรวมเนื้อหาความรู้เหมาะสม จูงใจให้ยากรู้ ยากอ่านในแต่ละกลุ่มเป้าหมายเป็นต้น หากคนเหล่านี้ทั้งหมดคอยช่วยชี้แนะให้เด็กและเยาวชน รู้จักเลือก หาแหล่งความรู้ และถือเอาแบบอย่างที่ดี 
      ถึงเวลาแล้วที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาสู่ความสนใจและการปฏิบัติจริง เพื่อให้กระบวนการการศึกษาและการดำเนินชีวิตที่ดีงาม เป็นระบบที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะจะต้องถือเป็นจุดเริ่มต้นทางเดินของการศึกษา ที่จะสร้างเสริมให้เด็กนักเรียนอนุบาล,ประถมและมัธยม  เป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนใน ไตรสิขา

                เรื่องการจัดการศึกษาดังกล่าว ตรงกับคำกล่าวของคุณหลวงปริญญาโยควิบูลย์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสัมมาชีวศิลป ในเรื่องการศึกษาที่สมบูรณ์ นั่นก็คือท่านใช้ ไตรสิขา ( ศีลสิกขา,จิตตสิกขา,ปัญญาสิกขา ) คือ ศีลสมาธิปัญญา เพื่อกระตุ้นพลังความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กเรียนรู้ ครูจะเป็นผู้นำกิจกรรมและเป็นเพื่อนคู่คิด เป็นผู้วิเคราะห์ประเมินความพัฒนาของเด็กแต่ละคน โดยไม่ต้องบังคับสอนบทเรียนทางวิชาการที่ครูมักจะกล่าวว่าสอนไม่ทันหรือให้นักเรียนท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง  จากความจริงที่ว่า เด็กสามารถเรียนรู้ ได้ด้วยตนเองถ้าเด็กมีความพร้อมที่ถูกต้องทาง กาย วาจา จิตใจ และปัญญา อยู่ในระเบียบอันดีงามแล้ว   เด็กก็จะเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน จากห้องสมุด,จากแหล่งความรู้ ที่โรงเรียนจัดไว้ อันจะเป็นความรู้ที่ยั่งยืนและมีความสุข และนำมาซึ่งปรัชญาโรงเรียนที่ว่า ศีลธรรม ปัญญา อาชีพ  คือจะต้องพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ ต้องเริ่มที่ศีลธรรมก่อนอื่นเพื่อควบคุมความประพฤติ  ฝึกให้รู้จักตัวเองที่ถูกต้องมีความนึกคิดที่ดีงาม ต่อด้วยพัฒนาปัญญาคือให้ความรู้ โดยเสริมสร้างพลังแรงจูงใจให้เด็กเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่สร้างสรรค์ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง ตามด้วยการดำรงชีพแสวงหารายได้ที่ถูกต้องสอดคล้องกับเหตุปัจจัยสิ่งแวดล้อม  ให้อยู่ร่วมกับสังคมที่มีระเบียบวินัย รู้จักคิดวิเคราะห์สืบเข้าถึงความไม่ประมาทและตื่นตัวทุกเวลา

        สิ่งที่โรงเรียนสัมมาชีวศิลปจะสามารถทำตามกลักการดังกล่าวให้สำเร็จได้ต้องมาจากปัจจัยตามลำดับความสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

        1 ผู้บริหาร มีความรอบรู้ในหลักการและมุ่งมั่นสนับสนุนส่งเสริมพัฒนาบุคลากร, ระบบบริหารและงบประมาณ อย่างเป็นเอกภาพโดยยึดหลักธรรมมาธิปไตยในการดำเนินการตามปรัชญาดังกล่าว

                2. ครูและบุคลากร ต้องมีพฤติกรรมที่เป็นผู้นำ ทำตัวอย่าง ด้านศีลธรรม จริยธรรม มีความรู้ทางพระพุทธศาสนา, อนุรักษ์วัฒนธรรมไทย มุ่งศึกษาหาความรู้ทางกิจกรรมใหม่ๆ ดำเนินชีวิตตามควรแก่อัตตภาพมีความสมัครสมานสามัคคี ไม่เอาเปรียบเบียดเบียนกันอย่างชัดเจน  คงไม่มีผู้ใดไปสั่งการให้ครูและบุคลากรปฏิบัติเรื่องดังกล่าวได้หากเขาไม่นำออกมาด้วยตัวของเขาเองตามปรัชญามนุษย์ที่สมบูรณ์ดังกล่าว

      จึงเชื่อว่าหากสิ่งที่กล่าวมานี้จะเป็นจริงได้เพื่อการพัฒนาเยาวชนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์,  เยาวชนที่ผ่านการอบรมจากโรงเรียนสัมมาชีวศิลปจะได้รับความรัก ความเมตตากรุณาจากบุคลากรดังกล่าว จะมีแรงจูงใจต่อการพัฒนาตนเองและมีภูมิคุ้มกันที่สามารถวิเคราะห์ปฏิบัติตนให้อยู่อย่างเป็นสุขได้ในกระแสสังคมที่มีปัญหาในปัจจุบันได้
                                         --------------------------------------------

 


Waldorf Education  การศึกษาวอลดอร์ฟ

ความเป็นมาหลักสูตร Waldorf School ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นการจัดการศึกษาที่พัฒนาปัญญาและแก้ปัญหาเยาวชนได้อย่างดี โดยให้เด็กเป็นสำคัญ ( Childe Centre ) จากนักการศึกษาชาวเยอรมัน เมื่อ ปี 1991หรือ2462 ต่อมาปี 1928 หรือ 2471 เป็นที่นิยมยอมรับหลักการนำไปเปิด โรงเรียนวอลดอร์ฟ ในกว่า 40 ประเทศ มีถึง 2,000 โรงเรียน   ได้เปิดทำการสอนแนวใหม่ด้วยกิจกรรมและดนตรี เป็นต้น มุ่งการพัฒนาด้านสมอง, ร่างกายและจิตวิญญาณ. 

 Waldorf Education ได้ยึดหลักว่า "Education is not the filling of a pail, but the lighting of a fire"
William Butler Yeats 
       Our children will inherit a rapidly changing and surprising world. The best preparation we can give them is to provide a multi-dimensional schooling that develops the full range of their human potential.

เด็กๆของเราจะมีพัฒนาสืบทอดได้รวดเร็วและโลกจะประลาดใจ เนื่องจากเขาจะเตรียมการการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยโรงเรียนเพียงจัดมิติการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพื่อช่วยกระตุ้นแรงจูงใจ เป็นพลังของความสามารถอย่างเต็มที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ถูกต้องของเขาทั้งหลาย นี่คือการจัดการศึกษาแบบ Waldorf.

   เราจะสนับสนุนส่งเสริมอย่างเต็มที่เพื่ออนาคตของเด็กๆ ในวันข้างหน้าด้วยตัวของเขาเอง กลายเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน อย่างไม่หยุดยั้ง ประสบความสำเร็จทั้ง จิตวิญญาณและปัญญา ได้ด้วยตัวของเขาเองอย่างมีความสุข ตามจุดประสงค์ต่อไปนี้

·        เด็กจะเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ บนจินตนาการและความสนใจที่หลากหลาย

·        เด็กจะเป็นผู้มีศีลธรรมเข้าถึงทางอารมณ์ เกิดขึ้นด้วยตัวของเขาเองและเป็นสุข

·        เด็กจะกระปรี้กระเปร่า อดทนและพากเพียร อุตสาห์ที่จะต่อสู่ได้ยืนนานไม่ท้อถอยต่อการพัฒนาตนเอง

·        จะเป็นผู้มีคุณธรรม ตามแนวทางศาสนา เคารพคุณค่าของผู้อื่น รู้คุณค่าความรับผิดชอบสำหรับสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามธรรมชาติ ในการงานและสังคมเพื่อนแปลกหน้า เคารพในสิทธิมนุษยชน

·        เป็นเยาวชนที่สมบูรณ์   เป็นผู้เห็นคุณค่าของตัวเองที่จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดี เป็นผู้นำในวันข้างหน้า จากการศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเอง

Warren Bennis และ Robert Thomas กล่าวว่าความสำคัญอยู่ที่การเสริมสร้าแรงจูงใจ ให้เป็นเยาวชนที่เข้มแข้ง เป็นผู้นำยืนหยัดด้วยตนเอง และยืดหยุ่นได้ เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ปรับปรุงพัฒนา นั่นคือประตูชัยของการจัดการศึกษาแบบ Waldorf.

โรงเรียนจะไม่สนับสนุนให้มีความเป็นอยู่ที่ฟุ่มเฟือยอ่อนแอ ด้านสุขภาพ ร่างกายใน การดำเนินชีวิตที่เปรียบเหมือนการวิงแข่งในสนาม จะต้องไม่มีความคิดท้อถอยหรือหาทางเอาชนะโดยวิธีที่จะเอาเปรียบ ก่อนที่จะได้ลงแข่งขันด้วยตนเอง เขาจะได้เรียนรู้และหาประสบการณ์ในการเป็นผู้พ่ายแพ้หรือชัยชนะด้วยตัวเอง  แต่จะสนับสนุนให้ออกกำลังกายส่งเสริมสุขภาพ ครูจะต้องบันทึกสุขภาพเป็นรายตัวว่าเป็นอย่างไร เช่น ร่างกายอ่อนแอ เส้นประสาทไม่แข้งแรง มีความเชื่องช้า เกียจคร้าน เหล่านี้โรงเรียนจะต้องมีการพัฒนากระตุ้นให้เป็นนักผจญภัย บนกิจกรรมการทำงานต่างๆ

ปัญโญทัย

ปัญโญทัยเป็นหนึ่งในเครือข่ายโรงเรียนวอลดอร์ฟนับพันแห่งจาก 50 ประเทศทั่วโลก  ยืนอยู่บนรากฐานประสบการณ์นานกว่า 80 ปีที่ได้รับการพิสูจน์และประจักษ์ในนานาประเทศมาแล้ว  เป็นสถานศึกษาซึ่งยึดมั่นในหลักการของรูดอล์ฟ สไตเนอร์  โดยปรับให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและเยาวชนไทย  มุ่งหมายให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างทั่วด้านและสมดุล  มุ่งพัฒนาทั้งกาย ใจ และปัญญา  เพื่อให้เด็กเติบใหญ่ขึ้นมาโดยพรั่งพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่ดีที่สุดของความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว

สำหรับโรงเรียนวอลดอร์ฟแล้วความสำเร็จของการศึกษาไม่อาจวัดได้เพียงจากการดูว่านักเรียนรู้และทำอะไรได้บ้าง  แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าก็คือเขาเหล่านั้นเติบใหญ่ไปเป็นมนุษย์เช่นไร  จุดมุ่งหมายของการศึกษาแนววอลดอร์ฟอยู่ที่การตระเตรียมนักเรียนให้พร้อมสรรพสำหรับชีวิตในภายภาคหน้าของเขา  ให้เขาพร้อมที่จะเผชิญกับการทดสอบใดก็ตามที่ปูลาดคอยท่าอยู่บนเส้นทางชีวิตเบื้องหน้า  ให้เขาพร้อมที่จะใช้ชีวิตอย่างมีความหมาย  ปลุกศักยภาพซึ่งแฝงเร้นอยู่ในตัวเด็กแต่ละคนให้ฉายโชนออกมา  มิใช่เพียงแค่ตระเตรียมเด็กนักเรียนเพื่อการสอบเข้า  หรือนำข้อมูลความรู้จากภายนอกใส่เข้าไปในเด็กเพื่อการผลิตซ้ำ 

การเรียนรู้ในช่วงวัยเยาว์ควรเสริมสร้างความมีชีวิตชีวาให้แก่การคิดของเด็กจนเขาสามารถเรียนรู้จากชีวิตได้ต่อไปอีกนานหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว  ในทัศนะของวอลดอร์ฟ สิ่งนี้สามารถสัมฤทธิ์ผลได้ก็โดยผ่านบูรณาการอย่างสมบูรณ์ในการพัฒนาความสามารถทางสติปัญญา ศิลปะ และจริยธรรมในการเรียนทุกด้าน

หลักสูตรของวอลดอร์ฟกำหนดขึ้นโดยมีเด็กอยู่ในใจ สะท้อนพัฒนาการระดับลึกของเด็กแต่ละวัยในแต่ละชั้น ประสบการณ์การเรียนจึงสัมพันธ์กับพัฒนาการที่เด็กกำลังก้าวผ่าน  สำนึกแห่งความพิศวงและการมีส่วนร่วมในโลกรอบตัวอย่างสุดจิตสุดใจ  เป็นทั้งคุณสมบัติพิเศษของเด็กปฐมวัยและจุดมุ่งหมายของการศึกษาก่อนวัยเรียน เด็กปฐมวัยตกอยู่ใต้อิทธิพลของสิ่งแวดล้อมโดยสมบูรณ์  เด็กจะซึมซับโลกเข้าไปโดยผ่านประสาทสัมผัส  และตอบสนองด้วยการเลียนแบบ  ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นความรัก ความเกลียด ความโกรธ ความสุข ความฉลาด หรือความโง่เขลา  ล้วนสื่อถึงเด็กโดยผ่านน้ำเสียง สัมผัส อากัปกิริยา ความสว่าง ความมืด สีสัน ความกลมกลืน และความขัดเขิน  สิ่งเหล่านี้จะถูกดูดซับเข้าไปในร่างกายและจิตใจซึ่งยังคงพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง  และสามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการไปจนตลอดชีวิต

เด็กเล็กอยู่ในโลกแห่งความพิศวงและการเลียนแบบ  เด็กจะทำในสิ่งที่เห็นผู้อื่นทำ  จะเปิดใจรับอิทธิพลจากทุกอย่างที่แวดล้อม  โลกของเด็กอนุบาลวอลดอร์ฟจึงเป็นโลกแห่งความกลมกลืน ความงดงาม และความอบอุ่น  สภาพแวดล้อมในการเล่นได้รับการสร้างขึ้นด้วยความพิถีพิถันเป็นพิเศษให้มีความงดงาม ผ่อนคลาย ไม่เร่งร้อน  เปิดโอกาสให้เด็กได้เลียนแบบอย่างมีความหมายและเล่นอย่างสร้างสรรค์  ครูเองก็พยายามปรับเจตคติ ความรู้สึก และอากัปกิริยาให้คู่ควรแก่การเลียนแบบของเด็ก  เพื่อปลุกประสาทสัมผัสของเด็กให้พัฒนาไปในสภาพแวดล้อมซึ่งมีต้นแบบเป็นมนุษย์คนอื่นหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ครูที่อยู่เบื้องหน้าเขา ที่พูดกับเขา ร้องเพลงกับเขา และทำกิจกรรมที่มีความหมายอยู่รอบ ๆ เขา ยิ่งเด็กเล็กเลียนแบบอย่างแข็งขันเพียงไร  การเรียนรู้ในภายภาคหน้าก็จะเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาเพียงนั้น  การสร้างธรรมชาติและชีวิตขึ้นมาใหม่  ทั้งในสถานการณ์จริงและที่จินตนาการขึ้น  จะเป็นการดึงเด็กไปสู่หนทางสายต่าง ๆ ของชีวิตได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ  ท่ามกลางบรรยากาศแห่งปฏิสัมพันธ์อย่างมีเป้าหมายระหว่างมนุษย์นี่แหละ ที่เด็กจะพัฒนาความสัมพันธ์อันล้ำลึกที่สุดและความกระตือรือร้นอย่างมากที่สุดต่อวิริยภาพอันสร้างสรรค์ของมนุษย์ขึ้นมา

ท่ามกลางบรรยากาศที่ชวนอุ่นใจ ใกล้ชิด งดงาม และเปี่ยมไปด้วยความหมายนี้  เด็กจะเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองและโลก  ศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในตัวเด็กจะฉายโชนออกมา โดยผ่านความกระตือรือร้นในการทำงานพื้นฐานของชีวิตและงานศิลปะนานาชนิด  ภายใต้การชี้นำอันอบอุ่นของครูผู้สรรค์สร้างความสมดุลขึ้นมาระหว่างกิจกรรมที่เป็นการแสดงออกอย่างคึกคัก เช่น ทำอาหาร เล่นตุ๊กตา แต่งตัวเป็นพระราชาหรือนายพราน ร้องเพลง ท่องกลอน ปั้นขี้ผึ้ง สร้างบ้าน ไปสำรวจป่าและลำธาร  กับกิจกรรมอันสงบเยือกเย็นซึ่งเป็นการซึมซับรับเข้า เช่น ฟังนิทาน ดูละครหุ่น วาดรูป ระบายสี  กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเป็นจังหวะจะโคนซึ่งเสริมสร้างและหล่อเลี้ยงจิตใจเด็ก  ความงาม ตรรกะ และวัตถุประสงค์ของสิ่งที่เห็นจะนำความเป็นระเบียบและความกลมกลืนมาสู่เด็ก  การมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวอย่างเต็มที่คือวิธีที่ดีที่สุดในการตระเตรียมเด็กสำหรับเผชิญชีวิตในกาลข้างหน้า

การศึกษาแนววอลดอร์ฟในระดับนี้จะวางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับการเจริญงอกงามทางสติปัญญาในระยะต่อไปของชีวิต  โรงเรียนวอลดอร์ฟจะหลีกเลี่ยงการสอนวิชาการในช่วงระยะนี้  การเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัยจะไม่เป็นการเรียนด้านพุทธิปัญญา  แต่จะเป็นประสบการณ์ด้านภาษาและวัฒนธรรมอันอุดมสมบูรณ์  ประสบการณ์ที่มอบให้เด็กในระยะนี้นอกจากจะกระตุ้นการพัฒนาของจินตนาการแล้ว  ยังปูพื้นฐานสำหรับการคิดอย่างสร้างสรรค์เปี่ยมไปด้วยญาณทัศน์ในภายหลังอีกด้วย

แม้ปรัชญาจะลึกล้ำ ทฤษฎีจะเลิศหรู ปณิธานจะสูงส่ง หรือหลักสูตรจะก้าวหน้าสักเพียงใด  สัมฤทธิผลไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากการทุ่มเทอุทิศจิตใจของบุคลากร  หากผู้ปฏิบัติงานขาดการพัฒนาปรับเปลี่ยนตนเอง  ปัญโญทัยสามารถสร้างมิติใหม่ในการพัฒนาให้การศึกษาเด็กขึ้นได้  ก็เพราะผู้ร่วมงานทุกคนต่างเพียรพยายามอย่างมีจิตสำนึกและไม่หยุดยั้งในอันที่จะพัฒนาหล่อหลอมตนเอง  เพื่อแปรหลักการสู่การปฏิบัติ แปรอุดมคติสู่ความเป็นจริง

ปัญโญทัยดำเนินงานโดยคณะผู้สอนซึ่งผ่านกระบวนการอบรมในปรัชญาและมรรควิธีของวอลดอร์ฟ  ตลอดจนธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละวัยมาแล้ว  อย่างไรก็ตาม การศึกษาและพัฒนาตนเองของครูก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง  เพื่อให้สามารถนำหลักการที่เรียนรู้มาปรับใช้ในห้องเรียนได้อย่างสอดคล้องกับภูมิหลัง ความสามารถ และบุคลิกลักษณะของนักเรียน  ครูผู้สอนต่างเข้ามาด้วยสำนึกที่ต้องการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า  ประสงค์จะทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตและสังคม  ปรารถนาจะร่วมสานฝันกับปัญโญทัย  ทุกคนเข้ามาเนื่องจากเห็นว่างานที่นี่คือการบ่มเพาะหล่อหลอมความเป็นมนุษย์ในตัวเด็กและตัวเราเอง

ลำพังการทุ่มเทของคณะครูยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้โรงเรียนมั่นคงได้  พลังหนุนเนื่องจากกลุ่มผู้ปกครองคือส่วนสำคัญที่ช่วยค้ำจุนโรงเรียนไว้  ปัญโญทัยเปิดรับผู้ปกครองที่มีความคิดเปิดกว้างซึ่งมิได้ต้องการเพียงแค่หาโรงเรียนให้ลูก  มิได้ตั้งเป้าหมายเพียงแค่การสอบผ่าน/สอบเข้า  หากมุ่งหวังให้ลูกมีความพร้อมในการเผชิญชีวิตด้วยตนเองในอนาคต  ผู้ปกครองผู้แสวงหาหนทางที่ลูกจะไม่ต้องสละชีวิตช่วงวัยเด็กไปกับการแบกรับสิ่งที่แปลกปลอมต่อการเรียนรู้ของเขา

ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตระหนักดีถึงการอุทิศตนของครู  และมองเห็นผลที่ครูหว่านไว้ได้ในตัวลูก  สุขภาพกายและใจที่ดีของเด็ก  ตลอดจนศักยภาพที่คลี่คลายขยายไปตามลำดับ  ทำให้ผู้ปกครองตระหนักว่าสิ่งที่บุตรหลานได้รับนั้นหาได้มีเพียงวิชาความรู้  หรือความสนุกสนานในการเรียน  หากยังหยั่งรากลึกลงไปถึงการบ่มเพาะหล่อหลอมจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์ในตัวเด็กอีกด้วย

ไม่เพียงคุณภาพการเรียนการสอนเท่านั้นที่ส่งผลต่อเด็ก ๆ ในโรงเรียน  บรรยากาศแห่งการร่วมแรงร่วมใจในหมู่ครูและผู้ปกครองก็ส่งผลต่อเด็ก ๆ เช่นเดียวกัน  สายใยแห่งการเกื้อกูลซึ่งทุกคนในชุมชนปัญโญทัยถักทอสานกันขึ้นนี้  ช่วยนำปัญโญทัยก้าวรุดหน้าต่อไป  จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ซึ่งคนเพียงไม่กี่คนเริ่มขึ้นมา  จึงเติบใหญ่งอกงามขึ้นอย่างมั่นคง  เพื่อสร้างสรรค์ลูกหลานของเราให้เป็นพลังแห่งอนาคต

              ------------------------------------------------