พระพุทธศาสนา  คือ

 

คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แม้จะมีปริยายมากเพียงไร  และจะเป็นชั้นต่ำ  ชั้นกลาง  ชั้นสูง  อย่างไร  ก็เพื่อให้บุคคลผู้ฟังได้รู้ได้เข้าใจ, นี้เป็นหลักอันหนึ่งและคำสั่งสอนนั้น  ก็ประกอบด้วยเหตุด้วยผล ซึ่งเป็นไปที่บุคคลหรือมีที่บุคคล อันบุคคลจะพึงพิจารณาตรวจดูตนสอบกับคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร  โดยเหตุและผลอย่างหนึ่ง,  และเมื่อได้ปฏิบัติตามก็จะได้ประสบผล คือพ้นจากส่วนที่ชั่ว บรรลุถึงส่วนที่ดี ที่เป็นข้อมุ่งหมาย  ทั้งทางโลกทั้งทางธรรม  อีกอย่างหนึ่ง.

           พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นต้นเดิม  เป็นผู้บัญญัติพระพุทธศาสนานั้น  เมื่อแรกเป็นผู้ครอบครองฆราวาสสมบัติ  ( สมบัติของผู้อยู่ครองเรือน )  ยังบริบูรณ์ด้วยยินดียินร้ายเหมือนคนสามัญอื่น  แต่พระองค์เป็นผู้มีพระสติรอบคอบ  และพระปัญญาลึกซึ้งกว่าชนสามัญอื่น ๆ,  ถึงมีพระชนมายุยังอยู่ในปฐมวัย  ( วัยที่ต้น คือกำลังหนุ่ม )  แลครอบครองฆราวาสสมบัติ ซึ่งเป็นอย่างเลิศอย่างยอด  คือ  สถานที่อยู่ของใช้สอย  อาหาร  ปริจาริกานารี  ( นางบำเรอ )  และคนรับใช้  แต่ล้วนได้เลือกคัดจัดสรร  เป็นอย่างดีในเวลานั้น และมากมายมิใช่น้อย,  พระชายา ( เมีย )  และพระโอรส ( ลูกชาย )  ก็มีลักษณะและคุณสมบัติอันงามเลิศ  แต่ฆราวาสสมบัติถึงปานนั้น  ไม่ทำให้พระองค์เพลิดเพลินอยู่เสมอได้  พระองค์ทรงเห็นการที่เป็นอยู่เช่นนั้น  เป็นโทษทุกข์  เพราะต้องทำการวนเวียนซ้ำ ๆ ซาก ๆ  อันไม่รู้จักจบไม่มีที่สุด  ซึ่งผู้ใช้ปัญญาพิจารณาโดยรอบคอบจะเห็นว่าน่าเบื่อ  จนกว่าความตายจะมาพรากไปเสีย  และไม่สามารถจะป้องกันทุกข์ต่าง ๆ อันจะเกิดมีขึ้น ณ ระหว่าง ๆ ตลอดถึงความตายอันเป็นเหตุที่น่ากลัวใหญ่ได้  ทรงหมายมั่นในพระหฤทัยว่า  คงจะได้ประสบการณ์ที่ไม่ต้องเป็นเช่นนั้นได้และเพราะความเบื่อหน่ายหนักขึ้นเป็นเหตุ จึงได้ทรงละฆราวาสสมบัตินั้น ออกทรงบรรพชาแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่  ซึ่งจะทำให้พระองค์ไม่ต้องวนเวียนซ้ำซาก  และไม่ต้องประสบทุกข์อื่น ๆ  ตลอดจนถึงความตายได้  ซึ่งเรียกว่า  " มหาภิเนษกรมณ์ "  หรือ  " มหาภินิษกรมณ์; "  ทรงอุตสาหะศึกษาทดลองและพิจารณา  ด้วยความเพียรอันแรงกล้า  และพระปัญญาอันสุขุมลึกซึ้ง  ไม่มีผู้อื่นเสมอเหมือน  อยู่ถึง ๖ ปี  ก็ได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ  ( ปัญญาอันตรัสรู้พร้อมโดยชอบไม่มีอื่นยิ่งกว่า )  ทรงทราบประจักษ์ชัดธรรมดาของสิ่งทั้งปวงหมด  โดยไม่วิปริตแปรผันกลับคืนคลาย, ไม่ทรงถือมั่นยินดียินร้ายในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง,  มีพระหฤทัยเบิกบานบริสุทธิ์; แต่เป็นผู้ประกอบด้วยพระเมตตากรุณาต่อสัตว์มีชีวิตเป็นอย่างยิ่ง  ไม่มีผู้อื่นเสมอ  จึงได้ทรงแสดงธรรมสั่งสอนหมู่สัตว์  เพื่อพ้นจากทุกข์ได้ประสบสุข  ตามควรแก่ความปฏิบัติและความสามารถ.

           คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น  เรียกว่า  " พระธรรม " จำแนกออกไปเป็น ๓ คือ :

           ส่วนที่ควรเล่าเรียนศึกษา  ด้วยฟังและอ่านดูในหนังสือแล้วและไตรตรองตามให้เข้าใจ  เรียกว่า  " ปริยัตติธรรม "  ๑.

           การปฏิบัติดัดกายวาจาและจิต  ตามปริยัติธรรม ( เมื่อได้เล่าเรียนศึกษาและไตร่ตรองให้เข้าใจแล้ว )  เรียกว่า  " ปฏิปัตติธรรม " ๑.

           การรู้แจ้งแทงตลอดด้วยปัญญา  ( เมื่อได้ปฏิบัติถูกต้องและถึงที่แล้ว )  ไม่กลับเสื่อมถอยคืนคลาย  เรียกว่า  " ปฏิเวธธรรม " ๑.

           ปริยัตติธรรม  ประกาศข้อปฏิบัติเป็น ๓ คือ  ศีล  สมาธิ  ปัญญา.

           การป้องกันความชั่วร้ายเสียหาย  ซึ่งจะเกิดมีทางกายวาจาตลอดถึงใจ  ด้วยได้ทำตามไม่ล่วงละเมิดสิกขาบทบัญญัติของศาสนาและกฎหมายบ้านเมือง  ตลอดถึง

ธรรมเนียมประเพณีของชาติตระกูล  อันเป็นเหตุให้เกิดโทษทุกข์อย่างร้ายแรง  และการบำเพ็ญความดี  ด้วยได้ประพฤติตามทางที่นิยมนับถือกัน  ตามศาสนาและตาม

ธรรมเนียมประเพณีของชาติตระกูล  อันเป็นเหตุให้เกิดความเจริญ  เรียกว่า  " ศีล " มีประโยชน์ที่ป้องกันทุกข์.

           การทรมานฝึกหัดใจ  ให้ตั้งมั่นแน่แน่วอยู่ในอารมณ์  ( ที่ยึดหน่วง )  ที่ชอบอันเดียว ไม่ให้ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ เรียกว่า  " สมาธิ "  มีประโยชน์ที่ทำใจให้เป็นสุข.

           การรู้ยิ่งเห็นจริงสิ่งทั้งปวงตามธรรมดา ละการถือมั่นยินดียินร้ายได้ขาด  ไม่แปรผันกลับคืนคลายเรียกว่า  " ปัญญา "  มีประโยชน์ที่ทำใจให้ผ่องใสบริสุทธิ์  ไม่

ขุ่นมัวเศร้าหมอง  เฉย ๆ อยู่ซึ่งเป็นสุขอย่างสูง.

          หมู่คนได้ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วเชื่อนับถือ  ได้ชื่อว่า  " สาวก " ครั้นเชื่อนับถือและปฏิบัติตาม จนถึงได้บรรลุคุณพิเศษอย่างใดอย่างหนึ่ง  เรียกว่า

" พระอริยสงฆ์. "

           พระสงฆ์สาวกได้ฟังจำทรงและปฏิบัติพระธรรมแล้ว,  มีเมตตากรุณา  ได้นำพระธรรมคำสั่งสอนนั้นมาประกาศแสดงแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ไม่เห็น  ให้รู้ให้เห็นตาม

สืบ ๆ กันมา,  พระธรรมคำสั่งสอนจึงได้แพร่หลายปรากฏอยู่จนทุกวันนี้.

           พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรียกว่า  ศาสนธรรม  ธรรมคำสั่งสอน, คำสั่งสอนก็ประกาศแสดงสัจจธรรม  ธรรมที่เป็นตัวจริง,  ธรรมที่เป็นตัวจริงที่พระ-

พุทธเจ้าแสดง  โดยตรงแสดงที่คน  ไม่ได้แสดงนอกจากคนออกไป,  แต่ที่มีแสดงเกี่ยวกับโลกภายนอกบ้าง  ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าเกี่ยวกับคนอย่างไร  แต่โดยตรงแสดงที่คน.  ในส่วนรวม  พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติหรือกำหนดโทษ,  ใครเรียน  ใครจำ  ใครพิจารณา  ใครปฏิบัติ  ก็ได้รับประโยชน์ตามสมควรแก่กิจการที่ได้ทำ,  ถ้าใครไม่ทำ  ก็ไม่ได้รับประโยชน์เอง  เป็นอันลงโทษอยู่ในตัว.  แต่เมื่อมีผู้บวชมากขึ้น,  ผู้บวชในชั้นต้นนั้น  พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงกำหนดอายุ  เพราะฉะนั้น  ผู้บวช  บวชอายุน้อย ๆ ก็มี  และบวชไม่ใช่ด้วยศรัทธาความเชื่อ  ความเลื่อมใสก็มี,  เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็เกิดมีผู้บวชซึ่งเรียกว่า  บรรพชิต  ( ในชั้นต้นมีแต่ภิกขุเท่านั้น )  ประพฤติไม่ดีไม่ชอบ,  พวกภิกษุด้วยกันบ้าง  พวกชาวบ้านบ้าง  ได้รู้เข้าก็ติเตียนโพนทนากันไป  จนความทราบถึงพระพุทธเจ้า.  พระพุทธเจ้าก็ทรงสอบสวน  เมื่อทรงทราบความแน่นอนแล้วก็บัญญัติพระวินัย. บัญญัติ  หมายความว่าแต่งตั้งขึ้นด้วยกำหนดโทษแรงบ้าง  หย่อนลงมาบ้าง,  อย่างแรงก็ให้ต้องปาราชิก  ขาดจากความเป็นภิกษุ หย่อนลงมาก็อาบัติถุลลัจจัย  ปาจิตตีย์  ปาฏิเทสนียะทุกกฏ  ทุพภาษิต.  เพราะฉะนั้น  จึงมีพระวินัยขึ้นในพระพุทธศาสนาอีกส่วนหนึ่ง.พระธรรมเป็นคำสั่งสอนที่ชี้แจงแสดงสัจจธรรม  คือ  ธรรมที่เป็นจริงสำหรับให้ผู้ศึกษาได้รู้.

           ศัพท์ว่า  ศึกษา  นี้  ทางพระบาลีหรือทางพระศาสนาใช้ครองมาตั้งแต่เรียนจำเช่นอย่างนั่งฟังกันอยู่เช่นนี้  ก็เรียกว่าศึกษา  ท่องบ่นก็ศึกษา  พิจารณาเนื้อความก็ศึกษา  ปฏิบัติก็ศึกษา,  เพราะฉะนั้นคำว่าศึกษา  หรือภาษาบาลีว่า  สิกขา  ใช้ครอบมาตั้งแต่ต้น.  ส่วนไทยเราเอามาใช้  เช่น กระทรวงศึกษาธิการ หรือกรมศึกษาธิการเป็นจำเพาะแต่เรียนเท่านั้น  ไม่สู้ตรงกันนัก,  เพราะฉะนั้น  การศึกษาธรรมก็เพื่อให้รู้จักว่าธรรมเป็นอย่างไร  แล้วก็ปฏิบัติธรรมไปเป็น  ปฏิบัติธรรม  จนได้บรรลุถึงผลซึ่งเรียกว่า  ปฏิเวธธรรม.

           ส่วนพระวินัยเป็นพระบัญญัติ  คือ ข้อที่พระพุทธเจ้าแต่งตั้งขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับบรรพชิต  ผู้บวชนั้นเอง;  เพราะฉะนั้น  จึงมีการลงโทษกันตามหนักและเบา,  รวมเข้าก็เป็น  ธรรม ๑  วินัย ๑,
          พระพุทธศาสนาจึงแยกเป็นสอง  คือพระธรรมสำหรับศึกษาปฏิบัติฝึกหัดจิตอย่างหนึ่ง
,  วินัยสำหรับปฏิบัติกายวาจาให้เรียบร้อยสม่ำเสมอเหมือน ๆ  กันอีกอย่างหนึ่ง.

           ครั้งพุทธกาล  พระพุทธศาสนาแยกออกไปเป็น ๒ คือธรรมกับวินัยเท่านั้น ยังไม่มีศัพท์ว่า  ไตรปิฎก  หรือ  ติปิฎก; ภาษาบาลีว่า  ติปิฎก  หรือ  เตปิฎก,  ติ หรือ  เต  แปลว่า ๓,  เอา  ติ  หรือ เต เป็น  ไตร  จึงเรียกว่าไตรปิฎก  แปลว่าปิฎกสาม;  ปิฎก  หรือ  ปิฎกะ แปลว่า  ตะกร้าหรือกระจาด,  ไตรปิฎก ก็คือตะกร้าสามใบ.  แต่ว่าความมุ่งหมายขอท่านไม่ใช่เช่นนั้น  มุ่งหมายถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า  ซึ่งเรียกว่าพระพุทธศาสนา  แยกออกเป็น ๓ , ที่แยกออกเป็น ๓ ก็ปรากฏในตอนที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว.  เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว  พระสงฆ์รวมกันเข้าประชุมกันทำสังคายนา.  เรื่อสังคายนาเป็นอย่างไรไว้รู้กันทีหลัง  หรือจะอ่านดูในสังคีติก็ได้.  ที่ว่าแยกออกเป็น ๓ เรียกว่าไตรปิฎกนั้น  เพราะท่านแยกพระธรรมออกเป็น ๒ คือ  ส่วนที่มีเรื่องราว  เช่นครั้งนั้นพระพุทธเจ้าประทับที่นั่น  ทรงแสดงธรรมชื่อนั้น  แก่บุคคลนั้น  หรือ พวกนั้น  เหมือนดังแสดงธรรมจักกัปปวันตสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์  ที่อิสิปตนมฤคทายวัน  เช่นนี้เรียกว่าพระสูตรหรือสุตตันตะ  ส่วนที่เป็นพระสูตร.  ส่วนที่ไม่กล่าวถึงบุคคลไม่กล่าวถึงเรื่องราวกล่าวแค่ธรรมล้วน ๆ เช่น  ท่านแสดงไว้ว่า  กุศลธรรม  ธรรมที่เป็นกุศลส่วนดี  อกุศลธรรม  ธรรมที่เป็นอกุศลส่วนชั่วอัพยากตธรรม  ธรรมที่ท่านไม่ยืนยันว่าดีหรือชั่ว,  ท่านไม่พูดถึงคน  พูดแต่ธรรมเท่านั้น เช่นนี้เรียกว่า  อภิธรรมแปลว่าธรรมอย่างยิ่ง  หรือ  ปรมัตถ หมายความว่ามีเนื้อความเป็นอย่างยิ่ง ไม่กล่าวถึงบุคคลและเรื่องราวอะไรต่างๆ อีกส่วนหนึ่ง,  จึงเป็น ๓ ปิฎก  คือ  พระวินัย ๑  พระสูตร ๑  พระอภิธรรมหรือพระปรมัตถอีก ๑.  แต่เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑-๒  ที่มีในวินัยปิฎก ไม่ได้กล่าวแยกเป็น ๓, น่าจะแยกเป็น ๓ หลังจากสังคายนาครั้งที่ ๒ แล้ว เดี๋ยวนี้เรียกว่า ไตรปิฎก เป็นพื้น.

           รวมความว่าแต่ครั้งพุทธกาล  ( พุทธกาลหมายถึงเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ )  พระพุทธศาสนาแยกเพียง ๒ คือพระธรรม ๑  พระวินัย ๑  ดังกล่าวมาแล้ว  ปรากฏในพระพุทธภาษิตที่ตรัสแก่พระภิกษุที่พระอานนท์เป็นต้น ความว่า  " โดยกาลล่วงไปแห่งเรา  ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้ว  บัญญัติแล้ว  เป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย, "  แต่เมื่อพระสาวกทำสังคายนา  เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว  จึงแยกออกเป็น ๓ ด้วยแยกพระธรรมออกเป็น ๒ คือพระสูตร  หรือ สุตตันตะ ๑, 
พระอภิธรรมหรือพรปรมัตถ อีก ๑.

           พึงสังเกตว่า ศาสนาอื่น ๆ  ที่ปรากฏเช่นศาสนาคริสต์ เมื่อพระเยซูตายหรือขึ้นสวรรค์ก็ตาม  ไปแล้ว  ก็มีหัวหน้าเป็นผู้แทนสืบมาจนถึงบัดนี้.  ในศาสนาอิสลามเมื่อพระมะหะหมัดตายไปแล้วก็มีผู้แทนสืบมาซึ่งเรียกว่า  " กาหลิบ "  แต่ทางพระพุทธศาสนา  แม้มีพระสาวกที่เป็นผู้ใหญ่ เช่นพระมหากัสสป  พระอานนท์  พระอนุรุทธเป็นต้น  พระพุทธเจ้าก็ไม่ทรงมอบให้ใครเป็นผู้แทนพระองค์,  แต่ให้ธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดง  ทรงบัญญัติเป็นศาสดาแทนพระองค์.  ถ้าพิจารณาก็จะเห็นได้ว่า  ถ้าให้บุคคลเป็นผู้แทนแล้วก็คงมีผู้แทนต่อ ๆ กันมาโดยลำดับ.  ผู้แทนในชั้นต้นถึงจะเป็นคนดี  เช่นในทางพระพุทธศาสนา  พระมหากัสสป  เป็นพระอรหันต์  มีความมักน้อยสันโดษ  แต่ว่าท่านก็คงอยู่ได้ชั่วคราวและคงต้องนิพพานไป,  ก็คงมีผู้แทนต่อ ๆ มา.  ถ้าผู้แทนเป็นคนชั่ว  ก็จะนำหมู่บรรพชิตไปในทางชั่ว  ถ้าผู้แทนเป็นคนดี  ก็จะนำหมู่บรรพชิตไปในทางดี  เป็นการไม่แน่,แต่ถ้าให้ธรรมและวินัยเป็นผู้แทนแล้วแน่กว่า. 
            เพราะอะไร
?  เพราะธรรมวินัยคงยืนเป็นหลักอยู่ในพระพุทธศาสนา,  แม้จะมีผู้เรียนพิจารณาเนื้อความแยกกันไปหรือแตกต่างกันไป  นั่นก็เป็นความเห็นของบุคคล,  แต่หลักพระพุทธศาสนาซึ่งแยกเป็นธรรม ๑ วินัย ๑  หรือต่อมาแยกเป็นไตรปิฎก  ยังคงเป็นหลักอยู่.

           ในประเทศต่าง ๆ  ที่ถือพระพุทธศาสนา  แม้มีหัวหน้าของบรรพชิต  ก็เป็นไปในทางปกครอง  อย่างประชุมชนหมู่หนึ่ง ๆ ก็ต้องมีหัวหน้าในทางปกครอง.หัวหน้าจะบัญชาการให้ผิดไปจากหลักพระธรรม หลักพระวินัยไม่ได้  ถ้าบัญชาการผิดไป,  เขาไม่เชื่อเขาไม่ฟัง  ก็มีอำนาจที่จะไปบังคับได้โดยธรรม.  หลักแห่งการสืบมาของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนี้.

           ว่าถึงเรื่อง  อภิธรรม  ที่แยกออกจากพระธรรม  เป็นส่วนหนึ่ง,  มีเรื่องเล่าไว้ในนิทานธรรมบทว่า  พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา  ที่สวรรค์ขั้นดาวดึงส์,  เทวดามาฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่เทวดาบนชั้นดาวดึงส์  แสดงแต่จำพวกอภิธรรม  หรือปรมัตถ  ไม่แสดงเรื่องพระสูตร,  และไม่ใช่แสดงเรื่องพระสูตร,  และไม่ใช่แสดงในเมืองมนุษย์  แต่แสดงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์.     

        นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาบางท่านพิจารณาเห็นว่า  พระอภิธรรม หรือ พระปรมัตถ  เดิมก็อยู่ในพระสูตรนั้นที่รวมเรียกว่า  ธัมม  หรือ  ธรรม,  แต่ว่าท่านเก็บเอาแต่ธรรมล้วน ๆ  ไม่กล่าวถึงเรื่องราวออกมาไว้เป็นพวกหนึ่งต่างหาก, ไม่ใช่ขึ้นไปแสดงบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นแต่ท่านผู้รู้ครั้งก่อน  เมื่อพระพุทธเจ้านิพพานแล้ว  เก็บข้อธรรมในพระสูตรแยกออกมาไว้เสียพวกหนึ่งไม่กล่าวถึงเรื่องราว  เรียกว่าอภิธรรม หรืออปรมัตถ.  แต่จะแน่นอนอย่างไรก็แล้วแต่จะพิจารณาเห็นความจริง.  ในอภิธรรมแสดงว่า  กุสลา ธมฺมา  ธรรมที่เป็นส่วนดี  อกุสลาธมฺมา  ธรรมที่เป็นส่วนไม่ดี  อพฺยากตาธมฺมา  ธรรมที่เป็นอัพยากตะ  ท่านไม่ยืนยันว่าเป็นดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่คนไม่ใช่ที่อื่น,  ถ้าไม่มีคนอื่นแล้วก็ไม่มีธรรมที่เป็นกุศลไม่มีธรรมที่เป็นอกุศล  ถ้าจะมี  ก็แต่ธรรมที่เป็นอัพยากตะคือธรรมดา.  แต่เพราะมีคน  คนทำดี การทำดีเป็นกุศล,  คนทำชั่ว  การทำชั่วเป็นอกุศล.  เพราะฉะนั้นธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงโดยตรงก็ทรงแสดงที่บุคคลไม่ได้ทรงแสดงที่อื่น  ตั้งแต่ต้นขึ้นไปจนถึงเบื้องบน  เบื้องสูง, พระนิพพานเป็นธรรมชั้นสูง  หรือวิชชาวิมุตติก็ทรงแสดงที่บุคคล  ไม่ใช่แสดงที่อื่นนอกจากบุคคล  เพราะฉะนั้น  ธรรมกับคนจึงเนื่องกัน.  ถ้าไม่มีคนในโลกนี้ทั้งหมด, ธรรมที่เป็นกุศลก็ไม่มี  ธรรมที่เป็นอกุศล ก็ไม่มี.  แต่เพราะมีคน  จึงมีธรรมที่เป็นกุศล  และธรรมที่เป็นอกุศล.

           ทีนี้ว่าถึงธรรมรวมทั้งหมด,  เมื่อพิจารณาแยกออกไปจะได้ ๓ ประการคือธรรมที่เป็นส่วนเหตุ  จะเป็นส่วนเหตุที่ดีก็ตาม จะเป็นส่วนเหตุที่ชั่วก็ตาม  นั่นเป็นส่วนเหตุส่วนหนึ่ง.  ธรรมที่เป็นส่วนผลจะเป็นผลที่ดีก็ตาม  จะเป็นผลที่ชั่วก็ตามก็คงเป็นผลอีกส่วนหนึ่ง.  ธรรมที่เป็นอุปการะ  คืออุดหนุนเหตุ  อุดหนุนทั้งให้ทำดีทั้งให้ทำชั่ว นี่อีกส่วนหนึ่ง.  เหมือนดังคนจะทำดี  แม้ในทางโลก  เช่นเล่าเรียนศึกษาความรู้  หรือในทางพระพุทธศาสนาเล่าเรียนพระธรรมวินัย  และปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ  ซึ่งเป็นส่วนให้สำเร็จได้  ก็ต้องมีอุปการธรรม  คือ  ฉันทะ  ความพอใจ วิริยะ ความบากบั่น  จิตตะ  ความส่งใจ วิมังสาพิจารณาสอบสวนเลือกเฟ้น เพื่อให้กิจการดำเนินไปด้วยดี,  เพราะฉะนั้น  ฉันทะ  วิริยะ  จิตตะ  วิมังสา  จึงเป็นอุปการะ.  แต่ถ้าทำชั่ว  เช่น ฆ่าสัตว์  ลักทรัพย์  ปล้นสดมภ์  อะไรต่าง ๆ  อันเป็นกรรมที่ชั่ว  จะสำเร็จได้ก็ด้วยอุปการะเหมือนกัน  คือต้องพอใจจะทำชั่ว  ต้องมีความบากบั่นในการทำชั่ว  ต้องส่งใจไปในการทำชั่ว  ต้องพิจารณาหาทางทำชั่วให้สำเร็จ, การทำชั่วจึงจะสำเร็จไปได้.

         ฉันทะ ความพอใจ   วิริยะ ความบากบั่น จิตตะ ความส่งใจ  วิมังสา ความเลือกเฟ้นแต่ลำพังตัวธรรมเหล่านี้ไม่บอกว่าดี  ไม่บอกว่าชั่ว,  เช่นนี้แหละได้ชื่อว่าอัพยากตะธรรมที่ไม่ยืนยันว่าดีหรือชั่วอย่าง ๑. เพราะเอาไปใช้ทางดี  ก็อุดหนุนให้สำเร็จ

การดี  เอาไปใช้ทางชั่ว  ก็อุดหนุนให้สำเร็จการชั่ว  นึกดูตรวจดูเรา  เราคงเคยทำดีมา  เช่นเล่าเรียนศึกษาทำกิจการงานที่ดี,  และคงเคยทำชั่วมา  มากก็ตาม  น้อยก็ตาม.  ที่เราทำดีสำเร็จมาได้เพราะอะไรก็เพราะอุปการธรรม  ธรรมที่อุดหนุน,  และที่เราทำชั่ว  สำเร็จเพราะอะไรเพราะอุปการธรรมเหมือนกัน.

           คำสอนของพระพุทธเจ้ารวมลงก็มีอาการเป็น ๓ คือ :  สอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้  คือรู้เรื่องราวอย่างหนึ่ง  ได้ในภาษาบาลีว่า

 " อภิฺาย โข  โส  ภควา  ธมฺมํ  เทเสสิโน  อนภิฺาย  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเพื่อรู้  ไม่ทรงแสดงธรรมเพื่อไม่รู้. "   รู้ในที่นี้หมายถึงเข้าใจ  ไม่ใช่รู้แต่เพียงฟังได้ความเท่านั้น. อีกข้อหนึ่งทรงแสดงธรรมมีเหตุมีผล ไม่ไร้เหตุไม่ไร้ผล  ได้ในภาษาบาลีว่า   " สนิทานํ  ธมฺมํเทเสสิ  โน  อนิทานํ  ทรงแสดงธรรมพร้อมทั้งเหตุ  หมายความว่ามีเหตุมีผล  ไม่ทรงแสดงธรรมไร้เหตุ  คือไม่มีเหตุไม่มีผล, "  เช่นบางศาสนาว่าทำอย่างนี้ ๆ ตายแล้วไปสวรรค์  หรือทำอย่างนั้น ๆ จะไปนรก, รู้ไม่ได้ว่าจะไปนรกหรือสวรรค์จริงหรือไม่เพราะว่าไม่แสดงเหตุที่อาจตรองตามให้เห็นจริงได้  เช่นนี้เรียกว่าไม่มีเหตุไม่มีผล, พระพุทธเจ้าไม่ทรงสอนเช่นนั้น  ทรงสอนมีเหตุมีผล  ว่าเหตุอย่างนี้  ผลอย่างนี้.

             อีกข้อหนึ่ง  ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ได้ภาษาบาลีว่า  " สปฺปาฏิหาริยํ ธมฺมํ เทเสสิโน อปฺปาฏิหาริยํ  ทรงแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์  ไม่ทรงแสดงธรรมไม่มีปาฏิหาริย์, "  ปาฏิหาริย์ในที่นี้หมายถึงผลที่ได้ประสบเพราะได้ปฏิบัติเหตุ  เมื่อปฏิบัติเหตุอย่างใด  ก็ประสบผลอย่างนั้น,  ไม่ใช่หมายถึงชาติหน้าเท่านั้น  หมายถึงชาตินี้เองด้วย.  นี้เรียกว่าปาฏิหาริย์.  รวมเป็นอาการ ๓.  ( โอ.  ๑/๑๒-๒๐ ).

           อันพระพุทธศาสนา  คือ  คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น  แม้จะมีปริยายมากเพียงไร  และจะเป็นชั้นต่ำ  ชั้นกลาง  ชั้นสูง  อย่างไร  ก็เพื่อให้บุคคลผู้ฟัง

ได้รู้ได้เข้าใจ, นี้เป็นหลักอันหนึ่ง;  และคำสั่งสอนนั้นก็ประกอบด้วยเหตุ  ด้วยผล, ซึ่งเป็นไปที่บุคคลหรือมีที่บุคคล  อันบุคคลจะพึงพิจารณา  ตรวจดูตนสอบกับคำ

สั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ให้รู้ว่าเป็นอย่างไร  โดยเหตุและผล  อย่างหนึ่ง; และเมื่อได้ปฏิบัติตามไปก็จะได้ประสบผล  คือ  พ้นจากส่วนที่ชั่ว  บรรลุถึงส่วนที่ดี

ที่เป็นข้อมุ่งหมาย  ทั้งทางโลกทั้งทางธรรมอีกอย่างหนึ่ง;  เพราะความเป็นเช่นนั้น เป็นไปเพื่อความอยู่ด้วยกัน  ด้วยความสงบสุข  อันเป็นข้อประสงค์ของทุก ๆ คน

ที่เกิดมา.  แม้เช่นนั้นแต่ถ้าบุคคลไม่สนใจ คือ  ไม่ระลึกถึงด้วยสติฉวยเข้ามาสู่จิตหรือ ใจ  และไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามเป็นจริงตามเหตุและผล,  บุคคลก็ไม่รู้จัก

ธรรม ไม่รู้จักอัตถะ  คือเนื้อความของธรรม. เมื่อเป็นเช่นนี้  ก็ไม่อาจจะประพฤติดีประพฤติชอบ  เพื่อผลที่ดีได้  บุคคลโดยมาก  แม้แสดงตนว่าเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา  ก็ไม่ปรากฏว่าได้รู้จักพระพุทธศาสนาโดยถูกต้อง  เป็นแต่ถือ ๆ ตามกันไป,  ผิดอย่างไร  ถูกอย่างไร  ก็ไม่รู้.  แต่ส่วนตนเองอยากจะประพฤติอย่างไรก็ประพฤติอย่างนั้นตามความชอบใจ  อันมีโลภะ  โทสะ  โมหะ  เป็นผู้นำ, เมื่อบุคคลประพฤติปฏิบัติกาย  วาจา  ด้วยความตั้งใจเป็นไปตามความชอบใจของตนอันมีโลภะ  โทสะ  โมหะ  เป็นผู้นำเช่นนี้แล้ว, คนที่ไม่พิจารณาโดยรอบคอบ  ก็จะแสดงว่าตนเองนั่นแหละประพฤติดีประพฤติชอบถูกต้องแล้ว.  แต่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งประพฤติไม่ตรงกันก็จะคัดค้าน,  และถ้ามีอีกฝ่ายหนึ่งคัดค้าน  เป็นอันรู้ไม่ได้แน่ว่าประพฤติปฏิบัติอย่างไรถูกหรือผิด,  ทางพระพุทธศาสนา  พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ทรงแสดงแต่ธรรมที่เป็นส่วนเหตุแต่ทรงแสดงส่วนผลด้วย  ก็เพื่อให้บุคคลพิจารณาดูเหตุที่ตนปฏิบัติ  กับผลที่ได้ประสบว่าเป็นไปอย่างไร.  ถ้าจับหลักนี้เป็นใหญ่แล้วบุคคลถึงจะมีความคิดเห็นเข้าแก่ตัว และปฏิบัติตามชอบใจด้วยอำนาจโลภะ  โทสะ โมหะ,  แต่เมื่อพิจารณาดูผลที่เกิดขึ้นที่ได้ประสบก็จะเห็นได้ว่าผลที่ได้ประสบนั้น  ถ้าเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนกระวกระวายเพื่อทุกข์ทั้งส่วนตังเองด้วย  ทั้งส่วนผู้อื่นด้วยก็พึงสันนิษฐานว่าเป็นเพราะเหตุชั่ว,  แต่เมื่อเห็นว่าผลที่ได้ประสบนั้นเป็นไปเพื่อความสงบ  เพื่อความสุข  ก็พึงสันนิษฐานได้ว่าเป็นเพราะเหตุที่ประพฤติปฏิบัติมานั้นดีชอบถูกต้อง.  แต่ถึงเช่นนั้น  ก็ยังเป็นไปตามภูมิตามชั้น.  ถ้าบุคคลได้ปฏิบัติเหตุและพิจารณาดูผลสอบกันอยู่เสมอแล้ว  การปฏิบัติจะเป็นไปได้ด้วยดี,  แต่ว่าเพราะอำนาจโลภะ  โทสะ  โมหะเกิดขึ้นครอบงำใจของบุคคล  และชักนำให้ประพฤติปฏิบัติผิดไป, บุคคลย่อมมีความเห็นเข้าแก่ตัว ก็ย่อมอ้างว่าการปฏิบัติของตนเช่นนี้ถูกดีชอบแล้ว  แต่ไม่พิจารณาเหตุผล. 

( วชิร.  ๑๖๕-๑๖๖ ).