โครงการส่งเสริมครอบครัวเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก

สภาพปัญหาเด็กก่อนวัยเรียน เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงด ....... นโยบายสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ .
วัตถุประสงค์ ............ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อเด็กเริ่มไปโรงเรียน


โรงเรียนสัมมาชีวศิลป

โครงการส่งเสริมครอบครัวเพื่อพัฒนาเด็กเล็ก

นโยบายและเหตุผล

ครอบครัวเป็นสถาบันพื้นฐานแรกที่สุดของมนุษย์ ที่ประกอบด้วยวิถีชีวิตของสมาชิกของครอบครัวทุกคน วิถีชีวิตนี้รวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และจริยธรรม ซึ่งมีผลต่อคุณภาพของ สังคม ครอบครัว ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีผลกระทบต่อกันและกันต่างมีกระบวนการวิวัฒนาการ และ การเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีการหยุดนิ่ง ซึ่งจะมีผลต่อพฤติกรรมของบุคคล โดยเฉพาะเด็กๆ
คำว่า “ครอบครัว “ ซึ่งนอกจากมีพ่อแม่ลูกแล้วอาจมีปู่ย่าตายายและญาติ อาศัยร่วมอยู่ด้วย ปัจจุบันได้ ประสบความยากลำบากกับการให้การเลี้ยงดูเด็ก เนื่องจากสังคมเมืองที่มีพื้นที่ในบ้านพักอาศัยที่จำกัด, ไม่มี ปู่ย่าตายาย และญาติ และพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแล


สภาพปัญหาเด็กก่อนวัยเรียน เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดู
1. ในกรณีที่ทั้งบิดาและมารดาต้องทำงาน ทำให้เด็กขาด ผู้ดูแล เด็กอาจถูกทอดทิ้ง นอกจากนั้น บริการรับดูแลเด็กเล็กยังมีไม่เพียงพอ รัฐยังไม่ได้สนับสนุนทั่วถึงและจริงจัง และมีปัญหามาก ในเรื่องขาดผู้ดูแล เด็กที่มีคุณภาพ
2. เนื่องด้วยความกดดันทางเศรษฐกิจครอบครัว ทำให้บิดามารดาไม่มีเวลาดูแลบุตร เด็กจึงถูกปล่อยปละละเลยอันจะทำให้เกิดปัญหาในระดับครอบครัวและสังคมตามมา
3. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้บิดามารดาส่วนหนึ่ง ส่งเสริมให้ บุตร มีค่านิยมทางวัตถุและบริโภคนิยม และเข้าใจผิดคิดว่าสามารถใช้ วัตถุและเงินทดแทนความรัก ความเอาใจใส่ แก่บุตรได้ โดยการว่าจ้างผู้ดูแลที่ไม่มีความรู้หรือตามใจอย่างผิดๆ
4. บิดาและมารดาขาดความเข้าใจในการเป็นพ่อแม่ที่มี คุณภาพและไม่สามารถเอื้ออำนวยต่อ การพัฒนาของเด็กตามวัย ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ทางอารมณ์จนถึงการทำร้าย ทารุณลูกด้วย
5. ครอบครัวยังอบรมเลี้ยงดูลูกโดยใช้วิธีการดั้งเดิม เช่น ลูกไม่มีสิทธิ์มีเสียง ในการแสดงความ คิดเห็นเป็นต้น ซึ่งขัดต่อการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในปัจจุบันเกี่ยวกับการพัฒนาคน พัฒนาสังคม ตลอดจนวิถี ชีวิต และ ความสัมพันธ์ของสมาชิกสังคม ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่และชีวิตของเขา รวมทั้งพฤติกรรมที่อยู่บนพื้นฐานสิทธิมนุษยชน
6. สตรีในครอบครัวส่วนใหญ่ต้องรับภาระการเลี้ยงดูเด็ก ทำงานบ้าน ปรนนิบัติคนในครอบครัว และภาระทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น และไม่มีเวลาพัฒนาตนเอง โดยไม่ได้รับความช่วยเหลือ จากผู้เป็นสามี ในการเลี้ยงดูลูก ทำให้เด็กมีปัญหาต้องการความเอาใจใส่และความรัก หรือมีอารมณ์ก้าวร้าว

สัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ จึงมีนโยบายให้โรงเรียนสัมมาชีวศิลป ได้เปิดการศึกษาปฐมวัย ( อนุบาล ) และแผนกดูแลเด็กเล็กขึ้น ตามแผนการพัฒนาสถาบันครอบครัวของ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่ให้ความสนับสนุนและส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนได้รับบริการการเตรียมความพร้อมในรูปแบบ ต่าง ๆ เช่น ศูนย์พัฒนาเด็ก สถานรับ เลี้ยงเด็กในที่ทำงานและในสถานประกอบการโดยดำเนินการร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และ ครอบ ครัว เพื่อช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวจากการขาดผู้ดูแลหรือส่งเสริมการพัฒนาเด็ก ซึ่งนับเป็นสิ่งที่จำเป็นและเพื่อเป็นการเริ่มต้นและปูพื้นฐานแก่เด็กในวัยเยาว์ ซึ่ง สัมมาชีวศิลปฯได้กำหนดวัตถุประสงค์การศึกษาปฐมวัยและการดูแลเด็กเล็กดังหัวข้อต่อไปนี้
- ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง เวลาที่อยู่บ้านคุณแม่อาจจะดูแลประคบประหงม ลูกชนิดไข่ในหิน หรือไม่ก็มีพี่เลี้ยงวิ่งตามดูแลแบบตัวต่อตัว ลูกไม่จำเป็นต้องช่วยตัวเองมากนัก แต่ที่โรงเรียนจะไม่เป็นอย่างนั้น ถ้าลูกได้รับการฝึกให้รู้จักดูแลตัวเองเป็นตั้งแต่เนิ่น จะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวในโรงเรียนได้เร็ว เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสลูกช่วยตัวเองในสิ่งที่สมควรปล่อยให้ลูกทำได้ เช่น การสวมเสื้อผ้า การกินอาหาร การใช้ห้องน้ำ การเล่นการทำกิจกรรมกับเด็กในวัยเดียวกัน ฯลฯ

- ฝึกทักษะทางการสื่อสาร การสื่อสารในที่นี้หมายถึง การฟัง การพูด ซึ่งลูกจำเป็นต้องใช้มากเมื่อเข้าสู่สังคมโรงเรียน เพื่อสื่อความต้องการของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ เพราะถ้าลูกสามารถบอกถึงความต้องการ ความรู้สึกของตัวเองได้เหมาะสมกับวัย จากผู้ดูแล คุณครูและคนอื่นๆ ที่โรงเรียนสามารถตอบสนอง เด็กๆ ให้มีความสุขกับการเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวด้วยตนเอง และถ้าลูกสามารถฟังและรับรู้ได้ดี ลูกก็จะเข้าใจและเรียนรู้ได้รู้เรื่อง เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนสืบเนื่องกันไป เด็กๆจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าให้พวกเขารู้สึกว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องของความสุข สนุกสนาน และอยากเรียนรู้อย่างไม่จบไม่สิ้น และนี้คือเป้าหมายปฏิรูปการศึกษาตลอดชีวิต
- เรียนรู้ที่จะรอคอย เวลาที่ลูกไปโรงเรียน ลูกต้องอยู่กับเพื่อนๆ วัยเดียวกัน มีพัฒนาการและความรู้สึกที่ใกล้เคียงกัน ทั้งยังยึดตัวเองเป็นใหญ่เหมือนๆ กัน ในขณะที่ผู้ดูแลไม่ได้มีจำนวนเท่ากับเด็ก ของเล่นก็ไม่ได้มีเท่าจำนวนคน กินอาหารก็อาจจะต้องมีระเบียบ เพราฉะนั้นลูกต้องรู้จักรอคอย รู้จักอดทน รู้จักแบ่งผู้ดูแลให้เพื่อนคนอื่นบ้าง ไม่ใช่ต้องกอดเอาไว้คนเดียว ฯลฯ ฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการรอคอยแบบสั้นๆ จะเป็นบทบาทเป็นผู้รอที่ดีให้ลูกเห็นก่อน จะช่วยให้ลูกเข้าใจพ่อแม่ในการต้องรอคอยได้ดีขึ้น
- ยอมรับการพลัดพราก เด็กถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมเลย อาจจะมีปัญหามากในช่วงเริ่มไปเข้าระบบของโรงเรียนได้ เพราะลูกวัยนี้กลัวถูกทิ้ง กลัวการแยกจาก ตั้งแต่ลูกยังอยู่บ้าน เวลาคุณพ่อคุณแม่จะออกไปทำงานไม่ควรใช้วิธีหลอก แล้วหนีลูกไปเพราะกลัวลูกร้องตาม แต่ควรบอกลูกตรงๆ ว่า "แม่ไปทำงานนะลูก ตอนเย็นจะกลับมาหาลูกจ้ะ" ทั้งลูกและแม่อาจจะน้ำตาท่วมไปบ้าง แต่ถ้าคุณแม่ทำสม่ำเสมอ ไม่มัวอาลัยอาวรณ์แล้วตอนเย็นก็กลับมาตามคำพูด ลูกจะค่อยๆ รับรู้และเคยชินในที่สุด อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ อย่าขู่ว่าจะทิ้งลูก ไม่ว่าลูกจะเกเรหรืองอแง เพราะจะทำให้ลูกกลัวการถูกทิ้งจริงๆ และไม่ควรออกไปไหนด้วยวิธีหนีลูก ทำทุกอย่างให้ปกติให้ลูกได้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ต้องทำ เมื่อเสร็จหน้าที่แล้วจะกลับ เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียนลูกก็จะค่อยๆ เรียนรู้เองว่า ลูกก็มีหน้าที่ต้องไปโรงเรียน เย็นลงก็กลับมาพบกันพ่อแม่ลูกเหมือนเดิม ใช้เวลาและความสม่ำเสมอเป็นหลัก ลูกจะค่อยๆ เรียนรู้ไปเอง
- สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน เมื่อลูกรู้จักคำว่าโรงเรียน ช่วงปรับตัวเป็นช่วงสำคัญของลูก แกอาจจะร้องไห้งอแง อ้อนมากกว่าปกติ อย่าไปดุว่าหรือแสดงความหงุดหงิดหรือแม้กระทั้งแสดงความสงสาร อาลัยอาวรณ์ลูกมากจนเกินไป ยิ่งจะทำให้ลูกกลัวและหมดกำลังใจในการไปโรงเรียน ทางที่ดีควรมีท่าทีอบอุ่น เข้าอกเข้าใจ ปลอบใจและให้กำลังใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสเพื่อสร้างบรรยากาศ ชื่นชมลูกในวันที่แกร้องไห้น้อยลง พูดคุยถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องรักษาเวลาและรักษาคำพูดอย่างสม่ำเสมอ เช่น บอกว่าจะไปรับลูกกี่โมง ก็ต้องไปตามนั้น ไม่เช่นนั้นลูกที่กลัวการถูกทอดทิ้งอยู่แล้วจะยิ่งใจเสีย เกิดความลังเลกับคำสัญญาของเราในคราวต่อๆ ไป ส่งผลให้ไม่อยากไปโรงเรียนในที่สุด ข้อสำคัญอย่าขู่ลูกโดยใช้โรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษ เช่น "ดื้ออย่างนี้จะพาไปไว้ที่โรงเรียนให้ครูจัดการซะให้เข็ด" หรือ "ซนเหลือเกิน จะเอาไปโรงเรียนให้ครูจัดการซะที" คำพูดเหล่านี้จะปลูกฝังความกลัวโรงเรียนให้ลูก เรียกว่าไม่อยากไปตั้งแต่ยังไม่ได้ไปเลยทีเดียว เราควรช่วยให้ลูกมองเห็นโรงเรียนในด้านดี พูดคุยถึงความสนุกที่ลูกจะได้รับเมื่อไปโรงเรียน พูดถึงของเล่นสนุกๆและสื่อการเรียนอย่างที่บ้านไม่มี มีที่วิ่งเล่นกว้าง(กว่าที่บ้าน) มีที่เด็กเล่นร่วมกับเพื่อนๆ มีสื่อนิทานให้ดู มีเสื้อผ้าชุดใหม่และของใช้ใหม่ของหนูเอง อาจเล่าถึงความสนุกที่ลูกจะได้รับจากโรงเรียน เมื่อลูกเริ่มรู้สึกดี รู้สึกสนุก ความกังวลใจจะลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้ว
- ฝึกให้ลูกอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ การมีโอกาสพาลูกเดินทางออกนอกบ้าน ไปเล่นกับเพื่อนๆ ซึ่งลูกจะได้พบเห็นผู้คนมากมาย ได้ฝึกหัดการอยู่ร่วมกับคนอื่น พบกับกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่ เพื่อเตรียมตัวลูกก่อนเข้าไปสู่วินัยในโรงเรียน
ในการส่งเสริมพัฒนาการดังกล่าวนั้นจะเป็นเครื่องมือ สำคัญที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรคจินตนาการ ทักษะและความสมบูรณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่ผู้ดูแลไม่สนใจ หรือผู้ปกครองไม่สามารถสรรหาให้ได้เหมาะสม เพราะไม่มีเวลา และขาดความรู้การพัฒนาตามวัย ด้านการดูแลบุตรหลาน เด็กมากมายเหล่านี้จึงขาดโอกาส ที่จะได้รับการพัฒนาการไปในทางที่ดี และตรงข้าม กลับได้รับการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมตามยถากรรม เด็กเหล่านี้จึงต้องตกเป็นเด็กที่สร้างปัญหาแก่สังคม โดยที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจในที่สุด
สัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ และโรงเรียนฯ จึงมุ่งหมายจะพัฒนาเด็กให้พร้อมที่จะก้าวสู่โลกอันกว้างใหญ่ โดยคำนึงถึงการพัฒนาความพร้อมทั้ง 4 ด้าน คือ ร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ และมุ่งให้เด็กเรียนรู้วิธีการ มีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิสัมพันธ์ สามารถทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ภายใต้บรรยากาศของการให้เกียรติซึ่งกันและกัน โดยครูและผู้ดูแลจะต้องเข้าใจในความรู้สึก และเปิดใจกว้างต่อความคิดเห็นของเด็ก นอกจากนี้โรงเรียนฯ ยังได้ตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกฝังศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยเพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าและเกิดความรัก ภาคภูมิใจในความเป็นคนไทย อีกทั้งยังได้มีการเตรียมความพร้อมทางวิชาการเพื่อให้เด็กสามารถเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้นได้อย่างมีความสุข สิ่งสำคัญ คือ โรงเรียนฯ ได้ตระหนักถึงความร่วมมือระหว่างบ้านโรงเรียนและชุมชน ดังนั้น เด็กของโรงเรียนสัมมาชีวศิลปจึงเป็นทั้ง “คนดีมีศีลธรรม นำสู่ปัญญาทีเรียกว่าคนเก่งและมีความสุข”


วัตถุประสงค์ การจัดกิจกรรมและดูแลเด็กเล็ก
1. เป็นการช่วยผู้ปกครองดูแลเด็ก ช่วงอายุระหว่าง 2 – 3 ปี โดยการจัดผู้เลี้ยงดูและดูแลความปลอดภัย
2. เป็นการพัฒนาเด็กโดยองค์รวมทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา สังคม อารมณ์และจิตใจ ตามวัยด้วยกิจกรรม
3. เป็นการพัฒนาเด็กให้มีเจตคติที่ดีในการเรียน การคิดและการแก้ปัญหา
4. เป็นการพัฒนาเด็กโดยให้ครอบครัวและชุมชน สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมการดูแลในโรงเรียนด้วย
5. เป็นการให้ความช่วยเหลือเด็กที่ครอบครัวที่พ่อแม่แยกกันฉุกเฉิน หรือ แม่เป็นเยาวชน วัยรุ่นที่ขาดการมีวุฒิภาวะ ที่เหมาะสมในการเลี้ยงดูลูก และไม่มีรายได้ และมีปัญหาการเลี้ยงดูเด็กในระยะสั้นๆ

ค่าบริการต่อเดือน
1. เป็นค่าบุคลากรบริการเลี้ยงดู, สถานที่ห้องปรับอากาศ, เครื่องเล่นและเครื่องนอน, ค่าซักรีด
2. อาหารกลางวัน, นมเสริมพิเศษนอกเหนือจากนมที่ดื่มประจำตัว และอาหารว่างช่วงบ่าย
3. กรณีเด็กมีผู้ดูแลเป็นส่วนตัว ต้องการเข้าใช้บริการพื้นที่และกิจกรรมโรงเรียนฯ จะยกเว้นไม่เก็บตามข้อ 1 จ่ายเพียงข้อ 2
4. กรณีผู้ปกครองมีปัญหาการเลี้ยงดู และประสงค์ฝากเด็กไว้เป็นระยะเวลาสั้นๆ จะคิดอัตราเป็นรายวันก็ได้ ตามแต่จะตกลงกับทางโรงเรียนฯ เป็นรายๆไป
5. กรณีผู้ปกครองมีปัญหาการเลี้ยงดู ตามข้อ 5 ในวัตถุประสงค์ และผ่านการพิจารณาจากผู้จัดการโรงเรียนฯ ในฐานะเลขาธิการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ เห็นสมควรให้ความช่วยเหลือสงเคราะห์ อาจได้รับยกเว้นค่าบริการ หรือเก็บเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้

ปัญหาที่พบบ่อยเมื่อเด็กเริ่มไปโรงเรียน: [ ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.planpublishing.com ]
การที่เด็กมาโรงเรียนในระยะแรกนั้น เด็กต้องการเวลาในการปรับตัวอย่างมาก อันทีจริงเด็กๆ จะมีความรู้สึกหนึ่งคือ ต้องการมีเพื่อนเล่นในวัยเดียวกัน อยากมาเล่นเครื่องเล่น อยากมาสนุกกับกิจกรรมของคุณครูมาฟังนิทาน ร้องเพลง และระบายสี แต่อีกความรู้สึกหนึ่งที่รุนแรงกว่า คือ ยังติดความอบอุ่น ความใกล้ชิด คนที่รู้ใจ ความรู้สึกไม่มั่นคง
เหงา ว้าเหว่ ต้องอยู่กับคนที่ไม่คุ้นเคย อึดอัดต่อกติกาส่วนรวม เพราะคุ้นเคยกับการทำตัวตามสบายเมื่ออยู่บ้าน
ดังนั้นจึงเกิดปฏิกิริยาในระยะเริ่มต้น ซึ่งเรียกว่าระยะปรับตัว ลูกจะมีอาการอิดออดต่าง ๆ เมื่อลูกรักรู้ว่าการมาโรงเรียน ไม่ใช่การมาเที่ยวเล่นเสียแล้ว ลูกจะหาทางออกที่จะไม่ต้องมาโรงเรียนด้วยความไม่สบายใจของเด็ก ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ นานา เช่น ไม่ยอมลุกจากที่นอน ไม่ลืมตา ทำเป็นหลับ “ ยังง่วงอยู่เลย ” อ้างว่าปวดท้อง ปวดหัว “ไม่สบาย ไปโรงเรียนไม่ได้ ” อาละวาดโวยวาย ทำร้ายคุณพ่อคุณแม่, โมโห หงุดหงิด ขี้อ้อน ซึม น้ำตาลไหล

เพื่อแก้ปัญหาระยะวันแรกๆ ควรมีผู้ที่เด็กคุ้นเคย เข้าไปอยู่ร่วมกันด้วย เพื่อแนะนำการดูแลต่างๆ และเพื่อให้เด็กได้รู้จักคุ้นเคยกับเพื่อนๆ ผู้ดูแลทางโรงเรียนฯ และสถานที่ จะทำให้เด็กมั่นใจว่าจะไม่ถูกทอดทิ้งจากครอบครัว.

--------------------------------------------------------

โรงเรียนสัมมาชีวศิลป http://www.sammajivasil.net/
744 ซอยพญานาค ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทร: 02 2159002, 026111092, 026111650 โทรสาร 026111092


 

กลับหน้าแรก