เทคนิคการทำงานร่วมกันตามหลักวิชาพุทธศาสตร์
พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงพระกรุณาพระราชทานพระบรมราโชวาทให้แก่ผู้ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีหนึ่ง ณ ศาลาดุสิตาลัยเป็นการเตือนสติ เป็นการชี้แนะถึงเทคนิคการทำงานร่วมกัน โดยได้รับสั่งเป็นประโยคสั้นๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งกว้างขวางว่า "รู้ รัก สามัคคี" หากจะหยิบยกนำเอาประโยคสั้นๆ ดังกล่าวมาพิจารณาวิเคราะห์ขยายความออกไปในเชิงรัฐศาสตร์ น่าจะได้ใจความว่า

. "รู้" คือ ปัญญา มีความรู้ความเข้าใจในงานที่จะต้องทำ

. "รัก" คือ การมีความรัก ความพอใจในงานที่จะต้องทำนั้น

. "สามัคคี" คือ การร่วมกันทำงานด้วยความจริงใจ อย่างพร้อมเพรียง กัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง อิจฉาริษยากัน ไม่แบ่งพรรคแบ่งพวก ทำงานนั้น เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมอย่างแท้จริง ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อเข้าพกเข้าห่อของตน หรือ ญาติมิตรพรรคพวกของตน  อย่างไรก็ตาม หากได้นำความหมายของคำทั้งสามดังกล่าวข้างต้นมาศึกษาวิเคราะห์ในเชิงพุทธศาสตร์ ซึ่งอยู่บนรากฐานของความเป็นจริง ที่สามารถยืนยันความถูกต้องได้ด้วยเหตุ และผล ทุกกาลเวลา ดังคำศัพท์บาลีที่ว่า "อะกาลิโก เอหิปัสสิกโก" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในบทสวดมนต์สรรเสริญพระธรรมคุณคือ "สวากขตา ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิกโก โอปะนะยิโก....." จะได้เนื้อหาสาระเป็นรายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้

คำว่า "ปัญญา" ซึ่งตรงกับคำว่า "รู้" นั้นเป็นคุณสมบัติประจำตัวอย่างหนึ่งของมนุษย์ จัดเป็นนามธรรมมีสมองซึ่งเป็นรูปธรรมเป็นฐานกำเนิด การทำงานของสมองที่กระตุ้นให้จิตเกิดปัญญา หรือมีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่ผ่านทวาร หรือ อายาตนะทั้งหกเข้ามา ผู้ที่มีอวัยวะส่วนสมองไม่สมบูรณ์เนื่องจากมีการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ไม่สอดคล้องกับอายุวัยเท่าที่ควร จึงถูกเรียกว่า เป็นคนปัญญาอ่อน หรือ ผู้ที่มีอวัยวะส่วนสมองเสื่อมสภาพไปตามอายุวัย จะมีอาการหลงๆ ลืมๆ สติปัญญาไม่แตกฉานเช่นแต่ก่อน ทางการแพทย์เรียกว่า เป็นโรคความจำเสื่อม หรือ "อัลไซเมอร์" ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค ท่านได้จำแนกลักษณะของปัญญาไว้ ๓ ระดับ หรือที่ เรียกว่า "ปัญญา ๓" ดังต่อไปนี้

. สัญญา รู้จัก เป็นความรู้ผิวเผิน คือ รู้แต่เพียงสิ่งที่มากระทบ สิ่งที่มาได้ประสบทางอายาตนะว่า เป็นอะไรอันหนึ่ง แต่ไม่รู้ชัดว่า เป็นอะไรแน่ เป็นวิวัฒนาการทางสมองในชั้นต้นๆ ของมนุษย์ในวัยทารกที่เพิ่งจะรู้ความ มีอายุระหว่าง ๓ เดือน ถึง ๓ ปี เมื่อเห็นธนบัตร อย่างดีจะรู้เพียงว่า เป็นวัตถุสิ่งหนึ่งที่มีรูปลักษณะแบน สี่เหลี่ยมเท่านั้น แต่ไม่รู้ว่า เป็นเงินตราที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้

. วิญญาณ รู้แจ้ง คือ รู้ได้ดีกว่าข้อแรก เป็นวิวัฒนาการทางสมองของมนุษย์ในขั้นต่อมาซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไปจนถึง ๑๕ ปี เป็นปัญญาที่เกิดมาจากการได้รับการอบรม สั่งสอนของบิดามารดา หรือ โดยการศึกษาจากโรงเรียนในระดับต้นๆ เป็นความรู้ระดับชาวบ้าน ทั่วไป เมื่อเห็นธนบัตร ก็พอจะรู้ความว่า เป็นเงินตราที่จะนำมาจับจ่ายใช้สอยได้ แต่ไม่สามารถจะจำแนกแยกแยะได้ว่า เป็นธนบัตรดี หรือธนบัตรปลอม

. ปัญญา รู้ทั่ว คือ รู้ได้อย่างละเอียดว่า สิ่งนั้นๆ เป็นอะไร มีแหล่งกำเนิดมาอย่างไร ใครเป็นคนทำ ใครเป็นเจ้าของ เป็นวิวัฒนาการทางสมองของมนุษย์สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการศึกษาและประสบการณ์ของชีวิตที่เพิ่มขึ้นในวัยอายุที่ผ่านมา เมื่อเห็นธนบัตร จะรู้ได้ทันทีว่า เป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ เป็นเงินตราสกุลใด บ่อเกิดของปัญญาของมนุษย์มี ๓ อย่าง คือ

. มาจากการฟังที่เรียกว่า "สุตมยปัญญา" เป็นปัญญาที่เกิดจากการเล่าเรียน หรือถ่ายทอดกันมา

. มาจากการคิดพิจารณาหาเหตุผลด้วยตนเอง ที่เรียกว่า "จินตามยปัญญา" . มาจากการสร้างขึ้นมา ทำให้เจริญพัฒนาขึ้นมาที่เรียกว่า "ภาวนามยปัญญา" เป็นปัญญาที่เกิดจากการใช้สมองในการทำกิจกรรมต่างๆ คือ การฟัง ซักถาม สอบค้น การสนทนา การถกเถียง อภิปราย การสังเกตดู เฝ้าดู ดูอย่างพินิจ การพิจารณาโดยแยบคาย การชั่งเหตุผล การไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ สอบสวน ทดลอง เป็นต้น

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับเรื่องวิธีการสร้างปัญญา ไว้ดังนี้

"การเรียนรู้ทุกอย่างนั้น จะต้องเรียนความรู้ของผู้อื่นก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อรู้แล้วจึงมาพิจารณาด้วยเหตุผลให้เห็นเด่นชัดละเอียดลงไปอีกชั้นหนึ่ง ให้ถึงเนื้อหาสาระ จึงจะอ้างอิงเป็นหลักฐานได้ ไม่ใช่เป็นความรู้อย่างเลื่อนลอย แต่แม้ถึงขั้นที่สองแล้ว ก็ยังถือว่า นำมาใช้ให้ได้ผลจริงๆ ไม่ได้ ยังจำเป็นจะต้องนำความรู้นั้นมาปฏิบัติฝึกฝนอีก เพื่อให้ผลประจักษ์แจ้ง และเกิดความคล่องแคล่วชำนิชำนาญขึ้นพร้อมกันไปด้วย จึงจะนำไปใช้ปฏิบัติงานให้เกิดผลได้ไม่ขัดข้อง"

คำว่า "รู้ หรือ ปัญญา" นี้ จึงเป็นแกนนำที่ทำให้บรรลุประโยชน์แก่ตนโดยเฉพาะ เน้นการพึ่งตนเองได้ในทุกระดับ เพื่อไม่ต้องเป็นภาระของผู้อื่น หรือ ถ่วงหมู่คณะ และเพื่อพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งส่วนรวม
                               ส่วนคำว่า
"รัก" คือ การมีความรัก ความพอใจในงานที่จะต้องทำ นั้น
ตรงกับคำพระที่ว่า "ฉันทะ" ซึ่งเป็นองค์ธรรมหนึ่งของ "อิทธิบาท ๔ " ซึ่งเป็นคุณธรรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ มีองค์ประกอบ ๔ ประการ คือ

. ฉันทะ คือ มีความต้องการ มีใจรัก มีความพอใจในงานที่จะต้องทำ มีใจปรารถนาอยากให้งานที่จะทำ หรือกำลังทำ ประสบความสำเร็จบังเกิดเป็นรูปธรรมให้ได้

. วิริยะ คือ มีความพากเพียรขยันขันแข็ง มีความตั้งใจจริงที่จะทำงานที่รักนั้นให้สำเร็จ ไม่ท้อถอย เบื่อหน่าย เมื่อมีปัญหาอุปสรรค

. จิตตะ คือ มีความตั้งใจจริง มีจิตฝักใฝ่จดจ่อหมั่นเฝ้าสังเกตเรื่องราวข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ตนรักอยู่อย่างใกล้ชิดทุกระยะ

. วิมังสา คือ รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรอง เฝ้าตรวจตรา ตรวจสอบงานที่ตนกระทำด้วยเหตุด้วยผล เมื่อใดก็ตาม เมื่อมีความรักความพอใจในงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำก็ดี โดยความริเริ่มของตนเองก็ดี ความพากเพียร คือ วิริยะ ความตั้งใจจริง มีจิตใจฝักใฝ่จดจ่อ คือ จิตตะ และการทุ่มเทความรู้สติปัญญาเพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จ คือ วิมังสา ย่อมเกิดขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

คำว่า "รัก" ตามพระบรมราโชวาทนั้น มิได้จำกัดอยู่เพียงนี้ ยังมีความหมายขยายความออกไปเพิ่มเติม รวมไปถึง ความรักแบบพรหม คือ ความรักที่มีความเมตตา กรุณา เป็นพื้นฐาน นำไปสู่ความปรารถนาที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลสนับสนุนให้บุคคลอื่นบรรลุประโยชน์ หรือเข้าถึงจุดหมายของชีวิตของเขาในระดับต่างๆ ประคับประคองให้เขาสามารถพึ่งตนเองได้

สำหรับความว่า "สามัคคี" นั้น เป็นองค์ธรรมสำคัญที่จำเป็นต้องมีอยู่ในหมู่คณะบุคคล เป็นแกนนำที่ทำให้บรรลุประโยชน์ทั้งให้แก่ตน ให้แก่บุคคลอื่น และให้แก่หมู่คณะ แก่สังคม หรือแก่ชุมชนอันเป็นส่วนรวมได้ทั้งสามประการในคราวเดียวกัน เป็นพฤติกรรมที่เกื้อกูล พึงประสงค์ ที่สังคมพึงต้องการโดยทั่วไป  ตามหลักพระพุทธศาสนา ท่านได้แสดงให้เห็นถึงผลที่จะได้รับจากสามัคคีธรรม ไว้มีสาระสำคัญว่า เมื่อความสามัคคีเกิดขึ้นในหมู่คณะ ชุมชนใด ย่อมจะเกิดความรัก มีแต่ความสุขความบันเทิง ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก แก่งแย่งแข่งดี ร่วมกันช่วยเหลือทำงานเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างพร้อมเพรียงกัน ดังนั้น

สามัคคีสมานฉันท์ที่สังคมต้องการ ????

พระบรมราโชวาทด้วยประโยคสั้นว่า "รู้ รัก สามัคคี" เมื่อได้นำมาอธิบายขยายความตามหลักวิชาพุทธศาสตร์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว จะเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้งพระทัยที่จะอบรมสั่งสอนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้จักเข้าใจใน "เทคนิคการทำงานร่วมกัน" นั่นเอง ผมไม่มีโอกาสได้เข้ารับการฝึกอบรมในหัวข้อวิชาเรื่องนี้มาก่อน จึงไม่ทราบว่า หัวข้อวิชานี้จะมีรายละเอียดสาระสำคัญผิดแผกแตกต่าง หรือ เพิ่มเติมมากกว่าที่ได้กล่าวไว้ในบทความนี้มากน้อยเพียงใด ถ้ายังไม่มี ผู้ที่กำลังศึกษาในหัวข้อวิชานี้จะนำเอาสาระสำคัญที่ได้กล่าวไว้ในบทความ นี้ไปผสมผสานเพื่อให้บังเกิดประโยชน์กว้างขวางยิ่งขึ้น ก็คงไม่ผิดกติกา และผมจะไม่สงวนลิขสิทธิ์แต่อย่างใด

*********************

เรียบเรียง ณ วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒