การปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทย

รวบรวมเรียบเรียงโดย นายมนัส ศรีเพ็ญ
เลขาธิการสัมมาชีวศิลปมูลนิธิ

          อันเนื่องจากความแตกแยกและเกิดความไม่สงบสุขในหมู่ประชาชนคนไทย จนคณะทหารต้องใช้อำนาจยึดการปกครองประเทศ แต่งตั้ง สนช. สปช. คณะกรรมการปฏิรูป ฯลฯ ก็มุ่งจะให้เป็นโอกาสแก้ไขปัญหาในอดีต เพื่อความเจริญก้าวหน้าและสังคมเกิดความสงบสุข..
          มีการเสนอการปฏิรูปต่างๆขึ้นมามากมาย, การปฏิรูปการศึกษาก็กลายเป็นเรื่องวิพากษ์วิจารณ์ ว่าจะสำเร็จและถูกต้องได้ประการใด .... 

          จึงเป็นเรื่องน่าสนใจและขอนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาของประเทศ ซึ่งสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ ก็มีนโยบายต้องการปฏิรูปมานานกว่า ๖๐ ปี ก็ยังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ อันเนื่องมาจากกฎระเบียบของรัฐ, พรบ.การศึกษา, ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆนาๆ แต่ด้วยได้ชื่อว่า “ สัมมา ” ก็ต้องให้เป็นไปตามปัจจุบันที่ถูกต้องใช้พุทโธโลยีและหาแนวทางเพื่อทำให้เป็นการศึกษาที่สมบูรณ์ต่อไป.....  

"การศึกษาหมาหางด้วน"
พุทธทาสภิกขุ

" ธรรมะในฐานะสิ่งที่หายไปจากระบบการศึกษา "
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๒

"ขอพูดถึงนิทานเรื่องหมาหางด้วนซักนิดหนึ่งเถอะ ท่านที่มีอายุสูง ๕๐, ๖๐ ปี เคยเรียนหนังสือในโรงเรียนสมันโน้น ก็จะเคยอ่านหนังสือนิทานอีสปเรื่อง “หมาหางด้วน” เรื่องมันมีที่จะต้องขอเล่าซ้ำสำหรับท่านที่ไม่เคยได้ยินว่า สุนัขตัวหนึ่งมันไปติด "กับ" หางขาดกลายเป็นหมาหางด้วน แล้วมันก็หาทางออก...โดยเที่ยวบอกหมาด้วยกันว่า หางด้วนดีกว่า ชักชวนให้ตัดหาง มีหมาหลายตัวเห็นด้วย แล้วก็ยอมตัดหางเป็นหมาหางด้วนกันขึ้นมาเต็มไปหมด จนกว่าจะไปพบสุนัขอีกตัวหนึ่งไม่เห็นด้วย บอกว่าไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องหลอกลวง นี่นิทานเรื่องหมาหางด้วน

...ประเทศใหญ่ ๆ ที่มีอำนาจจัดการศึกษากัน มาถึงยุคที่วัตถุนิยมมันเจริญ...มาดึงเอาจิตใจของคนไปหลงไหลในทางวัตถุเสียหมด ชาติที่จัดการศึกษาที่พ่ายแพ้แก่อำนาจของวัตถุ เขี่ยธรรมะหรือศาสนาออกไปจากระบบการศึกษานี้เราเรียกว่า “กับ” คือ วัตถุนิยมงับเอาหางหมาตัวนั้นขาดไปแล้วเป็นหมาหางด้วน

ชาติที่จัดการศึกษาอย่างหมาหางด้วนมันก็ชักชวนให้ชาติอื่น ๆ ให้จัดการศึกษาอย่างหมาหางด้วน ชาติอื่น ๆ ก็พลอยหลงไหลในอำนาจของวัตถุนิยม....ประเทศเล็ก ๆ ทนไม่ไหวก็เอาอย่างตามอย่างจนถึงกับว่าการศึกษาทั้งโลกมันกลายเป็นระบบหมาหางด้วนไปทั้งนั้นคือ ไม่เอาธรรมะหรือศาสนามาฝากไว้กับระบบการศึกษาอีกต่อไป

เมื่อการศึกษามันไม่มีระบบธรรมะหรือศาสนาแล้วมันจะเป็นอย่างไร รู้จักกันแต่หนังสือหนังหาทำให้ฉลาดแล้วก็รู้จักอาชีพสุดเหวี่ยง ยิ่งประดิษฐ์ได้มากยิ่งทำให้เกิดผลกำไรได้มากมันก็ยิ่งหลงในรสอร่อยในวัตถุมาก โลกก็เกิดวิกฤตกาล คือว่า เรียนจบแล้วไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ( มนุษย์ที่สมบูรณ์ )  เรียนจบแล้วมีปริญญายาวเป็นหาง แต่ก็ไม่มีความเป็นสุภาพบุรุษ ไม่มีบุรุษที่ไว้ใจได้ ไม่มีบุรุษที่ปราศจากอันตราย ( เป็นคนฉลาดแต่แฉโก ) คือ ไม่มีศีลธรรม มีความเสื่อมเสียศีลธรรม เป็นโลกที่ไม่มีศีลธรรม เราจึงประสบวิกฤตกาล มีอาชญากรรมเต็มไปในทุกหัวระแหง ภายในประเทศก็มีอาชญากรรม ระหว่างประเทศก็มีอาชญากรรมคือ สงคราม

นี่คือความเลวร้ายที่เกิดมาจากระบบการศึกษาที่เป็นเหมือนหมาหางด้วน ระบบการศึกษาที่มีแต่ความรู้ทางหนังสือ รู้แต่อาชีพ ไม่มีธรรมะสำหรับให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้อง ที่นี้ก็มีปัญหาเหลืออยู่ในเวลานี้ เรามาช่วยกันต่อหางหมากันเถอะ ให้มีธรรมะและศาสนาอยู่ในระบบการศึกษาจะเรียกว่าต่อหางหมาก็ได้ จะเรียกว่าปลูกหางหมากันใหม่ก็ได้

 

             การศึกษาในปัจจุบันนี้ ทั้งโลกก็ว่าได้ มักมีแต่เพียงสองอย่าง คือ รู้หนังสือกับอาชีพ แล้วก็ ขมักเขม่นจัดกันอย่างดีที่สุด เร็วที่สุด ก้าวหน้าที่สุด มันก็ไม่มีผลอะไรมากไปกว่าสองอย่างนั้น มันก็ยังขาดการศึกษาที่ทำให้มีความเป็นมนุษย์ที่ถูกต้องอยู่นั่นเอง ดังนั้น อาตมาจึงเรียกการศึกษาชนิดนี้ว่า เป็นการศึกษาที่เป็นเหมือนกับหมาหางด้วน..."
             ครูก็ต้องทำหน้าที่ของครู โดยความมุ่งหมาย ก็คือ นำวิญญาณของมนุษย์ไปให้ถูกต้อง แต่ระบบการศึกษาส่วนที่จะนำวิญญาณของมนุษย์ไปให้ถูกต้องนี้มันยังขาดอยู่ มันมีแต่การศึกษาสองอย่าง คือ การศึกษาประเภทที่ทำให้คนรู้จักหนังสือ ความรู้พื้นฐานทำให้เฉลียวฉลาดเกี่ยวกับหนังสือ และอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ พวกเทคนิค หรือเทคโนโลยีที่จะรู้จักใช้เทคนิคนี้ แม้กฎหมายมันก็มีเทคนิค อะไร ๆ มันก็มีเทคนิค ที่เรียนกันในมหาวิทยาลัยทุกแขนง เสร็จแล้วมันเป็นเพียงเรื่องอาชีพ ให้มีโอกาสได้เปรียบในการที่จะประกอบอาชีพ ที่เรียกว่าปริญญา มันขาดอย่างที่สามคือ การศึกษาที่ทำให้เป็นมนุษย์กันอย่างถูกต้อง...
(
ที่มา : เว็บบอร์ดลานธรรมเสวนา)
          “ดูการศึกษาชั้นอนุบาล ดูการศึกษาชั้นประถม ดูการศึกษาชั้นมัธยม ดูการศึกษาชั้นวิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือถ้ามันจะมีอีกเป็นบรมมหาวิทยาลัยอะไรก็ตามใจ มันก็เป็นเรื่องให้ลุ่มหลง ในเรื่องกิน กาม เกียรติ ทั้งนั้น อย่างดีก็ให้สามารถในอาชีพ ก็ได้อาชีพแล้ว ได้เงินแล้ว ให้ทำอะไร? 
ให้ไปบูชาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องเกียรติ มันไม่มีอะไรมากไปกว่านี้”

           หลังจากที่ท่านได้วิจารณ์ระบบการศึกษาของโลกปัจจุบันแล้ว ท่านได้เสนอแนวทางการศึกษาที่ถูกต้อง อุดมการณ์ทางการศึกษาดังกล่าวอาจจะประมวลมาได้เป็นข้อๆ ดังนี้

        ๑. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องมีการพัฒนาจิตวิญญาณให้มีพลังสามารถควบคุมพลังทาง วัตถุ  ทางร่างกายได้ กล่าวคือ ชีวิตมนุษย์ต้องมีความสมดุลทั้งทางด้านความสามารถทางวัตถุ ทางวิชาชีพ และความมีปัญญาและคุณธรรม เปรียบเสมือนชีวิตที่เจริญก้าวหน้าและมีความสุขจะต้องเทียมด้วยควาย ๒ ตัว คือ ตัวรู้ และตัวแรง โดยมีตัวรู้นำตัวแรงไปในทางที่ถูกต้อง

       ๒. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายสัญชาติญาณอย่างสัตว์ที่แฝงอยู่ในตัวมนุษย์ ให้ได้  ท่านเห็นว่ามนุษย์เราเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณอย่างสัตว์ เต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว สติปัญญาของมนุษย์ก็เป็นไปเพื่อความเห็นแก่ตัว ดังนั้น ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ร้ายกาจมาก  “เพราะฉะนั้น การศึกษาของเราก็ควรมุ่งที่จะประหัตประหารสัญชาตญาณอย่างสัตว์นั้นให้สิ้นไป ให้มีการประพฤติกระทำอย่างมนุษย์ที่มีใจสูงเกิดขึ้นแทน

      ๓. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องให้มนุษย์ได้สิ่งที่ประเสริฐที่สุดที่มนุษย์ควรได้ รับ นั่นก็คือ การสามารถควบคุมกิเลสตัณหาและพลังทางวัตถุได้ ท่านเห็นว่าตามอุดมคติของพุทธศาสนานิยมอุดมคติ คือ นิยมสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงว่าสิ่งนั้นมันจะกินได้หรือซื้ออะไรกินได้ หรือจะเป็นลาภสักการะหรือไม่ แม้เป็นนามธรรมแต่ก็ส่งผลทางจิตใจ “จิตใจสำคัญกว่าร่างกาย คือนำร่างกายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายของอุดมคติ

      ๔. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีจิตใจรักความเป็นธรรม   มีความสำนึกที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องและเพื่อธรรมะ“การศึกษานั้นเพื่อธรรม เพื่อบรมธรรม เพื่อธรรมาธิปไตย ให้ธรรมะครองโลก ฉะนั้น การศึกษานี้ไม่ใช่เพื่อความรอด หรือความเอาตัวรอดเป็นยอดดี

     ๕. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำลายความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ซึ่งจะเป็นไปได้โดยวางแนวจริยศึกษา ให้สามารถน้อมนำผู้ศึกษาให้ควบคุมตนเองให้ได้ “จริยศึกษาต้องรีบทำลายความเห็นแก่ตัว อันนี้มันเป็นเมฆหมอกที่เข้ามากลบเกลื่อนหรือปิดบังตัวจริยศึกษา”

     ๖. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องส่งเสริมให้ผู้ศึกษา มีปัญญาหยั่งรู้สามารถเข้าใจโลกและตนเองอย่างถูกต้อง จนสามารถพ้นทุกข์ได้ ท่านอธิบายว่า ปัญญาที่เป็นคุณสมบัติของจิตเดิมแท้ เรียกว่าโพธิ (ธาตุรู้ปัญญานี้ทำให้เกิดศีลธรรมของจิต ทำให้จิตมีระเบียบและอยู่ในสภาวะปกติเพื่อให้บุคคลมีชีวิตอยู่ได้อย่างสงบสุข การศึกษาตามแนวนี้จึงต้องเน้นพุทธิศึกษาในแง่ที่ส่งเสริมปัญญาอย่างแท้จริง กล่าวคือ ทำให้ผู้ศึกษามีความรู้เรื่องที่สำคัญที่สุดของชีวิต

     ๗. การศึกษาที่ถูกต้องจะต้องทำให้ผู้ศึกษามีความสำนึกในหน้าที่ ถ้าทวงสิทธิ์ก็ทวงเพื่อจะทำหน้าที่ ไม่ใช่ทวงเพื่อต้องการเรียกร้องจะเอานั้นเอานี่ และหน้าที่ก็จะต้องเป็นความถูกต้อง บริสุทธิ์ ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว  และการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องอาศัยครูในอุดมคติ ผู้ที่อุทิศตนเพื่อให้การศึกษาและสร้างเสริมคุณธรรมแก่ผู้เรียน ในหัวใจของครูอุดมคตินั้น จะต้องมีปัญญากับเมตตาเต็มแน่นอยู่ในหัวใจ ปัญญาคือวิชาความรู้ ความสามารถในหน้าที่ที่จะส่องสว่างให้กับศิษย์ นี้เรียกว่าปัญญาอย่างหนึ่ง เมตตาคือความรัก ความเอ็นดู กรุณาต่อศิษย์ของตนเหมือนว่าเป็นลูกของตน”

        เมื่อตั้งอุดมการณ์ทางการศึกษาให้ถูกต้องเหมาะสมแล้ว ลำดับต่อไปก็ต้องดำเนินการสอนหรือระบบการศึกษาที่ถูกต้อง ตามทัศนะของท่านพุทธทาส เช่น

         ๑. ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้อง จะต้องจัดให้มีพุทธิศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา ในความหมายที่แท้จริง พุทธิศึกษาจะต้องสอนความรู้เรื่องของชีวิตว่าเกิดมาทำไมโดยตรง จริยศึกษาจะต้องเน้นที่ความมีระเบียบวินัยของนักเรียน ของความเป็นมนุษย์สมบูรณ์  เช่น มีความมัธยัสถ์ มีหิริโอตตัปปะ เป็นต้น พลศึกษาต้องพัฒนากำลังทางจิตเพื่อให้บังคับกำลังกายให้เดินไปถูกทาง กำลังทางจิตในพระพุทธศาสนาคือสมาธิ สมาธิในพระพุทธศาสนาจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบ ๓ อย่าง คือ

๑) จิตสะอาด (pure หรือ clean) ได้แก่จิตที่ไม่เจือด้วยกิเลสและเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง 

๒) จิตมั่นคงที่สุดหรือตั้งมั่นดี (Steady หรือ firm)

๓) จิตที่ว่องไวในหน้าที่ของมันอย่างที่สุด (Activeness) ส่วนหัตถศึกษาตามลักษณะที่ถูกต้อง จะต้องอาศัยพุทธิศึกษา จริยศึกษาและพลศึกษา ตามแนวดังกล่าวมาเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญทางฝีมือและความสามารถในอาชีพอย่างแท้จริง

         ๒. ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องศึกษาให้เห็นความทุกข์ เหตุของทุกข์ และความดับทุกข์ ไม่ใช่ศึกษาแต่ภาคทฤษฎี แต่ต้องให้ผู้ศึกษาลงมือปฏิบัติให้เห็นจริงตามประสบการณ์  จะต้องเน้นการฝึกฝน การปฏิบัติมากกว่าภาคทฤษฎี ต้องเรียนชีวิต เรียนธรรมชาติ เรียนให้รู้จักตนเองเพื่อข่มกิเลสและสัญชาตญาณอย่างสัตว์ให้ได้ และพัฒนาคุณธรรมประจำใจให้งอกงามยิ่งขึ้น
        ๓.
 ลักษณะการศึกษาที่ถูกต้องจะต้องให้ผู้ศึกษารู้จักศาสตร์ของพุทธบริษัทให้ถูก ต้อง ศาสตร์ในที่นี้แปลว่าเครื่องตัด หมายถึงตัดสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความเจริญหรือตัดความโง่เขลา ซึ่งในที่สุดก็จะเหลือความจริง ความดี ความงาม ความถูกต้องและความยุติธรรม ทำให้บุคคลสามารถอยู่อย่างสันติสุข และอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างสงบสุขทั้งกลุ่ม 


ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้อีกว่า
        เขาจะไปเรียนเรื่องต่างๆ ได้ปริญญา มาไม่รู้กี่สิบปริญญาแต่ไม่มีเรื่องดับทุกข์เลย ในทางธรรมะไม่เรียกว่าวิชชา, ต่อเมื่อมันมีส่วนแห่งการดับทุกข์ได้ จึงจะเรียกว่าวิชชา

             ท่านทั้งหลายคงจะได้เคย ได้ยินคำว่า สัมมา สัมมา  เพราะมัน ค่อนข้างจะดื่นอยู่ แต่ภาษาแท้ๆ ภาษาเก่า แก่โบราณ โดยเฉพาะภาษาอินเดีย คำว่า สัมมา แปลกันว่า โดยชอบ หรือโดยถูกต้องนี้ คนแก่ๆ เก่าๆ แก่ๆ โง่ เง่าเงอะงะก็ยังเคยได้ยินคำว่าสัมมา ชอบคำว่า สัมมา บูชาคำว่า สัมมา สัมมา สัมมา นั่นแหละเป็นที่มาของคำว่า “สัมมัตตะ” สัมมัต สัมมา แปลว่า ถูกต้อง, ตะ หรือ ตะตา หรือ ตัตถะตา แปลว่า ความ สัมมัตตะ ก็แปลว่า ความถูกต้อง จะให้ ขยายความถูกต้องออกไปตามที่ท่านมีใช้ อยู่จริง มันเกิดเป็น สัมมา สัมมา สัมมา ขึ้นมา โดยสมบูรณ์แล้ว.....

สัมมา- ทิฏฐิ – ความคิดเห็นถูกต้อง
สัมมาสังกัป-
โป – ความปรารถนาถูกต้อง
สัมมาวาจา
– การพูดจาถูกต้อง
สัมมากัมมันโต
– การทำ การงานถูกต้อง
สัมมาอาชีโว
– เลี้ยงชีวิต ถูกต้อง
สัมมาวายาโม
– พากเพียรพยายาม ถูกต้อง
สัมมาสติ
– มีสติสัมปชัญญะถูกต้อง
สัมมาสมาธิ
– มีสมาธิอย่างถูกต้อง
สัมมาญาณะ – มีความรู้ถูกต้อง
สัมมาวิมุตติ
– วิมุตติ หลุดพ้นถูกต้อง…….

 

การศึกษาแบบองค์รวมสำหรับเยาวชนไทย

ผู้เขียน Mr. Knowledge 
ครั้ง โพสครั้งแรก 2007-03-20 แก้ไขล่าสุด 2007-04-03

              การศึกษาแบบองค์รวมสำหรับเยาวชนไทย ท่านพุทธทาสเคยกล่าวถึงการศึกษาโดยทั่วไปว่าเป็น "การศึกษาแบบหมาหางด้วน" เพราะเป็นการศึกษาที่ให้ความรู้และประสบการณ์เพื่อออกไปประกอบกาชีพหาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องเท่านั้น ไม่ได้สอนให้คนเลิก ลด ละ ความเห็นแก่ตัว มีแต่สอนให้คนกอบโกยและคดโกง เพื่อเอาประโยชน์เข้าตัวยิ่งเรียนมากรู้มาก ยิ่งเอาเปรียบคนอื่นมาก เห็นแก่ตัวมาก
     ในฐานะที่เป็นครู  มีหน้าที่ถ่ายทอดวิชาการให้ลูกศิษย์ลูกหาในสถาบันการศึกษาเป็นเวลานานพอสมควร ลองมานั่งนึกตรึกตรองถึงนัยยะที่ช่อนแฝงอยู่ในวาทะของท่านพุทธทาส ก็อดที่จะเห็นด้วยกับท่านไม่ได้ เพราะว่าเท่าที่รับรู้และสังเกตดู ครู - อาจารย์ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เพียงแค่ "สอนหนังสือ" ตามหลักสูตรที่แต่ละสถาบันการศึกษากำหนดไว้เท่านั้น ไม่ได้ "สอนคน" ให้รู้จักเสียสละ รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น และลดความเห็นแก่ตัวลง ยิ่งดูการวัดผลประเมินผลด้วยแล้วยิ่งไม่มีเรื่องคุณธรรม จริยธรรม หรือศีลธรรมเลย มีแต่เพียงการวัดผลประเมินความรู้ความเข้าใจในเชิงวิชาการเท่านั้น การศึกษาในสารบบของสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา จึงเป็นการให้การศึกษาแบบหมาหางด้วนอย่างที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้จริงๆ คือให้ความรู้ความเข้าใจเชิงวิชาการเพียงอย่างเดียว ละเลยเรื่องคุณธรรมจริยธรรมโดยสิ้นเชิง โดยปล่อยให้เป็นเรื่องเฉพาะตัว ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ไปโน้น จึงกลายเป็นว่าสถาบันการศึกษามีหน้าที่เพียงผลิตบัณฑิตเพื่อป้อนตลาดแรงงานเพียงสถานเดียว ไม่ได้มีส่วนสร้างคนดีมีคุณธรรมใหักับสังคมและประเทศชาติเท่าที่ควร โดยปรัชญาแท้จริงของการศึกษาแล้วจะต้องเน้นการศึกษาแบบองค์รวม (
HOLISTIC EDUCATION) ซึ่งประกอบด้วย
3 องค์ประกอบคือ มันสมอง(
HEAD) จิตใจ (HEART) และอวัยวะในการทำงาน( HANDS ) มันสมองมีไว้สำหรับวิชาการ จิตใจมีไว้สำหรับคุณธรรมจริยธรรม และอวัยวะในการทำงานมีไว้สำหรับประสบการณ์ภาคปฎิบัติ การศึกษาที่ดีที่ถูก ต้องเป็นตัวขับเคลื่อนพัฒนาทั้ง ๓ ส่วนนี้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ครบถ้วนในทุกด้าน มีทั้งไอคิว ( IQ-ความเก่งด้านวิชาการ) อีคิว ( EQ-ความเก่งด้านอารมณ์) และเอ็มคิว ( MQ-ความเก่งด้านศีลธรรม ) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของปริยัติศึกษา (การศึกษาเชิงทฤษฎี) และปฏิบัติศึกษา (การศึกษาเชิงปฏิบัติ) เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาศีล สมาธิ และปัญญา หรือไตรสิกขาในพระพุทธศาสนานั้นเอง ดังนั้นหากเป้าหมายของการศึกษาคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณลักษณะครบถ้วนทั้งภูมิความรู้ ภูมิธรรม ภูมิปัญญา และภูมิฐานแล้วไซร้ สถาบันการศึกษาทั้งหมดในประเทศไทยจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนามันทั้งสมอง จิตใจ และความสามารถทางด้านกายภาพของผู้เรียนทั้ง ๓ ด้าน ไปพร้อมๆ กันเพื่อหลีกหนีสภาพการศึกษาแบบ "หมาหางด้วน" อย่างที่ท่านพุทธทาสเคยตั้งข้องสังเกตเอาไว้ และเพื่อเป็นแหล่งผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพให้กับสังคมประเทศชาติสืบไป

                             -----------------------------------------------------

             นายศุภณัฏฐ์ ศศิวุฒิวัฒน์ จากโครงการสถาบันวิจัยการเรียนรู้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ สสค.   เปิดเผยว่า

ผลการสำรวจปี ๒๕๕๗   พบว่าครูใช้เวลาเพื่อทำงานที่ไม่ใช่การสอนถึง ๘๔ วันจาก ๒๐๐ วัน ในช่วงเปิดเทอมส่วนใหญ่เป็นภาระงานประเมิน กิจกรรมการแข่งขันวิชาการ และการอบรมจากภายนอก และการประเมินยังไม่ส่งเสริมครูให้ปรับปรุงพัฒนาการสอน การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนและวิทยฐานะของข้าราชการครูพิจารณาผลการเรียนของนักเรียนค่อนข้างน้อยและไม่มีการสังเกตการณ์สอนจริง ( เป็นทั้งโรงเรียนรัฐและเอกชน จากระบบการจัดการศึกษาหมาหางด้วน บังคับให้ครูต้องแข่งขันกันเป็นเลิศทางวิชาการ )

และจากข้อมูล ก.ค.ศ. ปี ๒๕๕๗  
แสดงให้เห็นปัญหาอัตราครูในโรงเรียน สพฐ.  โดยมีโรงเรียนขาดแคลนครู ๑.๑  หมื่นแห่ง และโรงเรียนที่มีครูเกิน ๑ หมื่นแห่ง ( แวดวงการศึกษาของประเทศยังคงมีระบบอุปถัมภ์อยู่ )  

 

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ควรเปลี่ยนระบบบริหารการจัดการทั้งหมด ตอนนี้การศึกษาสอนให้เด็กเรียนต่อไปเรื่อยๆ โดยอยู่ในโจทย์ เรียนไม่ต้องเก่งแต่ต้องมีงานทำ……
กล่าวอีกว่า การศึกษาที่ดีไม่ใช่แค่การเรียนต่อหรือมีงานทำ แต่ต้องศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข…….  

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้สัมภาษณ์พิเศษโพสต์ทูเดย์ ว่า นโยบายการศึกษาของรัฐบาลชุดนี้ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

        ประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์ คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้นำ “ค่านิยมคนไทย 12 ประการ” ไปปลูกฝังเด็กไทย จนกระทรวงศึกษาธิการได้ปรับหลักสูตรเพิ่มหน้าที่พลเมือง รวมถึงให้มีการท่องอาขยานประจำชั้น กระทั่งมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ “หยุด 12 ค่านิยมล้างสมอง” สมเกียรติ มองว่านี่คือปัญหาเกี่ยวกับทัศนคติของรัฐบาล
       กล่าวคือรัฐบาลทหารเคยชินกับการใช้อำนาจสะท้อนผ่านเรื่องค่านิยม
12 ประการ แบบไม่เปิดกว้างให้มีการวิจารณ์สวนทางกับการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ ที่ต้องคิดให้เยอะท่องให้น้อย เน้นวิพากษ์วิจารณ์ ตรงนี้จะเป็นด้านที่ทำให้การศึกษาถอยหลัง………..

        ข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวของประธาน ทีดีอาร์ไอ  แม้แต่กรรมมาธิการปฏิรูปการศึกษาบางคนต่างออกมาขานรับนี้เป็นการศึกษาหมาหางด้วนรุ่นใหม่ล่าสุด ที่อดีตผู้บริหารไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทบวงกรมใดๆ ของประเทศไทย มักจะใช้อีโก้ในความรู้ความเข้าใจของตัวเป็นใหญ่ในการบริหารปกครองประชาชน  ซึ่งเคยมีข้อวิจารณ์จากองค์การพัฒนาแห่งองค์การสหประชาชาติ ด้วยจะให้งบประมาณพัฒนารายได้ของประชาชนในชนบท จึงขอให้รัฐบาลได้ไปค้นหาอาชีพเพื่อส่งเสริมทดลอง...  รัฐบาลก็ส่งเรื่องไปทุกหน่วยงานของรัฐว่าควรส่งเสริมอาชีพนำร่องอย่างไรดี ผลก็คือ กรมปศุสัตว์เสนอ  ให้เลี้ยงสัตว์,   กรมประมงเสนอ  ให้เลี้ยงปลา, กรมการค้าเสนอ ให้ค้าขายและทำสหกรณ์, กรมวิชาการเกษตรเสนอ ให้ปลูกพืช ทำไร ทำสวน ฯลฯ
       รัฐบาลเองก็ไม่สามารถตอบได้ว่าตกลงจะให้ทำโครงการนำร่องแก่ประชาชนอย่างไร แต่กลับนำเอาข้อเสนอของแต่ละส่วนราชการเสนอไปยังองค์การพัฒนาเพื่อพิจารณาแทน  ........

       ตัวอย่างที่ผ่านมาในอดีต รัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกมะม่วงหิมพานต์ อ้างว่าปลูกง่าย ทนแล้ง, ไม่มีแมลงหรือโรคพืช อีกให้ราคาผลผลิตสูง โดยให้กู้เงินลงทุน บัจจุบันเกษตรกรเป็นหนี้สินเพราะล้มเหลวในผลผลิต และเกิดปัญหาพิษจากยาง ราคาไม่ได้ตามนโยบาย ทั้งหมดเกิดจากรัฐมิได้วิเคราะห์เกษตรกร ดังนี้ ๑ เกษตรกรไม่เคยมีความรู้การปลูกมาก่อน ๒ ไม่ปริโภค ๓ ไม่รู้เทคนิควิธีการเก็บผลทำให้ต้องรับพิษยาง มือเน่า, เมล็ดแตกราคาต่ำ (โรงเรียนมัธยมสัมมาชีวศิลปบางพระก็ปลูกไว้มากกว่า ๕๐ ต้นนานกว่า ๕๐ ปี ไม่เคยมีรายได้เป็นเรื่องเป็นราว ปล่อยตามธรรมชาติจนต้องตัดทิ้ง )
       องค์การสหประชาชาติจึงมีขอวิจารณ์ระบบการบริบริหารราชการไทยว่า ผู้บริหารปกครองประชาชน มิได้สนใจต่อปัญหาความยากจนและความรู้ ความต้องการของประชาชนปัจจุบันมีอย่างไรบ้าง กล่าวคือรัฐบาลไม่เคยมีการวิเคราะห์ สำรวจความต้องการของกลุ่มประชาชนในชนบทเลย นอกจากค้นหาวิธีการปกครองตามที่ตนถนัดเป็นสำคัญ....
          เช่นเดียวกับการจัดการศึกษาให้กับเยาวชน ผู้มีอำนาจบริหารการศึกษา ต่างก็ค้นหาวิชาให้กับเด็ก เพื่อการแข่งขันกันในทางวัตถุนิยม หรือแก้บัญหาเท่าที่เห็นอยู่แต่ละวัน ไม่เคยมีการวิเคราะห์ ตัวตนหรือสภาพสิ่งแวดล้อมในสังคม ที่มีผลต่อพฤติกรรมความเป็นอยู่ในปัจจุบันของเด็กและครอบครัว  ตลอดถึงจิตวิญญาณต่อความรู้สึกของผู้เรียน  เพื่อโน้มน้าวให้ผู้เรียน, เป็นผู้ไผ่รู้ ไผ่เรียน อันจะเกิดการยอมรับและปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์จำเป็นต้องจัดทั้งยุทธศาสตร์และยุทธวิธี อย่างไร ....
                 
             สรุปการศึกษาตัองสามารถพัฒนามนุษย์ได้ทุกมิติ
ต้องทำทั้ง 3 ด้าน

การศึกษาหาความรู้   ปริยัติสัทธรรม  ธรรมที่พึงศึกษา  วิชาองค์ความรู้ที่ต้องเรียนรู้ ตามลำดับวัย ดังที่เรียนกันอยู่ในปัจจุบัน สามารถจัดตัวบ่งชี้และประเมินผลได้ง่าย เช่น สอบ NT หรือ O-NET 

การลงมือปฏิบัคิ   ปฏิบัติสัทธรรม  ธรรมที่พึงปฏิบัติ    เมื่อรู้แล้วต้องนำไปใช้ปฏิบัติได้ถูกต้อง,  ผู้เรียนสามารถบรรยาย, อธิบาย, สาธิต ได้อย่างถูกต้องในเรื่องที่ได้เรียนรู้ในข้อที่ ๑ 

  การรู้จักปรับเปลี่ยนให้ถูกต้องตามเป็นจริงได้   ปฏิเวธสัทธรรม  ผลที่พึงบรรลุ  คือมีผลสัมฤทธิ์ จะต้องใช้ระยะเวลา ไม่สามารถเขียนตัวบ่งชี้เพื่อใช้เป็นข้อสำหรับประเมินได้ ด้วยผลสัมฤทธิ์อาจเกิดจากวิธีการที่ไม่เหมือนกันแล้วแต่วิธีดำเนินการ, การแก้ปัญหา ในแต่ละสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างก็ได้ 

     การจัดการศึกษาต้องพัฒนาครบวงจรและเริ่มต้นให้ถูกต้อง ดังคำที่กล่าวกันว่าใส่เสื้อต้องเริ่มกลัดกระดุมให้ถูกต้อง คือ

       ๑ การพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนรู้ใหม่ เริ่มที่นักเรียนอนุบาล ถึง มัธยมศึกษา กำหนดขั้นตอนให้เป็นยุทธวิธี นำไปปฎิบัติ, ประเมินผล    
     ๒ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เพื่อเรียนรู้นำไปประกอบอาชีพหลังจากผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้ว ( ผิดหวังไม่ฆ่าตัวตาย ) เป็นการจัดการศึกษาระดับ วิทยาลัย, มหาวิทยาลัย ฯลฯ 

          ความจริงในอดีตและปัจจุบันการศึกษาไทย กลุ่มผู้มีอำนาจเป็นผู้บริหาร นักวิขาการ แม้แต่ประชาชนทุกระดับต่างก็ผ่านการเรียนรู้แบบหมาหางด้วน จนเป็นภูมิปัญญาที่นำมายกย่องสรรค์เสริญ, แบ่งชนชั้นผู้จบการศึกษากันอยู่ในสังคมปัจจุบัน แล้วจะปฏิรูปการศึกษาที่ถูกต้องได้จริงหรือ...................... 

---------------------------------------------------------

ความมุ่งหมายในการก่อตั้งสัมมา ชีวศิลป มูลนิธิฯ
http://www.sammajivasil.net/news1.htm

แนวทางจัดการศึกษาและแก้ปัญหาเยาวชน
ตามจุดมุ่งหมายของสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ

http://www.sammajivasil.net/news14.htm

เด็กไทยพันธ์ใหม่ ยิ่งเรียน ยิ่งโง่ ?
http://www.sammajivasil.net/news26.htm


กลับเว็ปสัมมาชีวศิลปมูลนิธิฯ